ถอดบทเรียน “Voucher ทิพย์” “ดารุมะ” บุฟเฟต์ตุ๋นเงินร้อยล้าน
ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อ สำหรับมูลค่าความเสียหายที่สูงมากกว่า 100 ล้านบาท สำหรับกรณีร้านดัง “ดารุมะ ซูชิ (Daruma Sushi)” ที่หลอกขาย “เวาเชอร์ทิพย์(Voucher ทิพย์) บุฟเฟต์แซลมอน ราคาถูก 199 บาท ก่อนพบว่าโดนเท ทุกสาขาปิดกิจการเงียบ แถมเจ้าของชิ่งหนีไปต่างประเทศ และกลายเป็นคดีที่ได้รับความสนใจจากประชาชนคนไทยอย่างกว้างขวาง กระทั่งถึงกับต้อง “ถอดบทเรียน” กันเลยทีเดียว เพราะนี่ไม่ใช่ “ครั้งแรก” ที่เกิดเหตุทำนองนี้
แน่นอน คำถามสำคัญก็คือ ทำไมถึงต้อง “เท” ทำไมถึงต้อง “หนี” และทำไมธุรกิจถึงไป “ไม่รอด”
“นายเมธา ชลิงสุข” หรือ “บอลนี่” เจ้าของ “ร้านดารุมะ ซูชิ” ซึ่งถูกจับกุมหลังเดินทางกลับจากประเทศสหรัฐอเมริกา โดยถูกตั้งข้อหาฉ้อโกงประชาชน และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ให้การกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าไม่มีเจตนาจะฉ้อโกง แต่เนื่องจากธุรกิจดารุมะซูชิ เจอวิกฤตขาดสภาพคล่อง จึงปิ๊งไอเดียผุดแคมเปญขายคูปองออนไลน์มาตั้งแต่ปี 2563 แต่ลดราคาลงมาต่ำสุด เมื่อเดือนมกราคมปี 2565 จึงตัดสินใจทำโปรโมชั่นเวาเชอร์ 199 บาท เพื่อนำเงินเข้าระบบให้ธุรกิจได้ไปต่อ โดยมีเงินเข้าบัญชีวันละ 1 ล้านบาท แต่สุดท้ายไปไม่รอด มีหนี้สินจำนวนมาก ทำให้ต้องหลบหนีไปสหรัฐอเมริกา ก่อนกลับมาชดใช้กรรมดำเนินคดีตามกระบวนการทางกฎหมายในประเทศไทย
ทั้งนี้ แม้ “นายเมธา” จะให้การเช่นนั้น แต่คำตอบของเขาไม่ชวนให้เชื่อเลยแม้แต่น้อย แถมสังคมยังฟันธงเปรี้ยงไปอีกด้วยว่า มีเจตนาฉ้อโกงตั้งแต่ต้นใช่หรือไม่ เพราะพิจารณาราคาวัตถุดิบ อย่าง “แซลมอน” การทำโปรโมชั่นในราคา 199 บาทต่อหัว แต่จำหน่ายขั้นต่ำจำนวน 6 ใบขึ้นไป บวกลบคูณหารอย่างไรก็ขาดทุน
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า บริษัท ดารุมะ ซูชิ จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2559 ดำเนินธุรกิจการบริการด้านอาหารในภัตตาคาร ร้านอาหาร มีนายเมธา ชลิงสุข เป็นกรรมการบริษัท ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท
ดารุมะ ซูชิ มีสาขาทั้ง 27 แห่ง มีทั้งการลงทุนเองและระบบแฟรนไชส์ (ค่าลิขสิทธิ์แฟรนไชส์ของร้านดารุมะ ซูชิ อยู่ที่ 2.5 ล้านบาท อายุสัญญา 5 ปี) โดย นายเมธา ชลิงสุข เป็นเจ้าของเพียง 7 สาขา อีก 20 สาขาเป็นร้านแฟรนไชส์
ข้อมูลงบการเงินย้อนหลัง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2562,2563 และ 2564 ทางบริษัทมีกำไร ตั้งแต่ 1-1.7 ล้านบาท จากรายได้รวมปีละ 39-45 ล้านบาท ปี 2562 รายได้ 39,004,873 บาท รายจ่ายรวม 37,527,541 บาท กำไร 1,004,376 บาท, ปี 2563 รายได้ 43,762,122 บาท รายจ่ายรวม 41,214,509 บาท กำไร 1,778,984 บาท และปี 2564 รายได้ 45,621,832 บาท รายจ่ายรวม 42,237,324 บาท กำไร 1,256,609 บาท
ที่ต้องจับตาคือการขยายผลของตำรวจว่าจะสามารถติดตามความเสียหลายนับร้อยล้านบาทจากการขายเวาเชอร์ดารุมะได้หรือไม่ เพราะหลังถูกจับกุมพบว่า นายเมธามีเงินติดตัวแค่ 700,000 บาท และเงินในบัญชีอีกแค่ 100,000 บาทเท่านั้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังตรวจสอบเส้นทางการเงินว่ามีการยักย้ายถ่ายเทหรือไม่ และถ้าหากมี นายเมธาจะถูกดำเนินคดีในข้อหา “ซักฟอกเงิน” อีกหนึ่งกระทง
อย่างไรก็ตาม กรณีบุฟเฟต์แซลมอน “ดารุมะ” เป็นบทเรียนราคาแพงทั้งฝั่ง “ผู้บริโภค” และ “เจ้าของธุรกิจ” (ผู้ซื้อแฟรนไชส์)
พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคม.) เปิดเผยว่า สำหรับคดีของร้านดารุมะซูชินั้นมีผู้เสียหายจำนวนมากถึงหลายพันคน และมีความเสียหายหลักร้อยล้านบาท โดยแบ่งผู้เสียหายออกเป็น 3 ส่วน คือ ผู้เสียหายที่ซื้อคูปองไปใช้, ผู้เสียหายที่ซื้อคูปองไปขายต่อ และ ผู้เสียหายที่ซื้อแฟรนไชส์ โดยในส่วนผู้เสียหายที่ซื้อแฟรนไชส์ ตรวจสอบพบว่าเมื่อซื้อแฟรนไชส์ ทางผู้บริหารจะเป็นผู้ดำเนินการทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ หรือการตกแต่งร้าน ผู้ลงทุนเพียงแค่จ่ายเงินค่าแฟรนไชส์เท่านั้น โดยค่าแฟรนไชส์ประมาณ 2.5 ล้านบาท ซึ่งไม่มีส่วนในการบริหารงานแต่อย่างใด โดยจะได้รับเงินปันผล 10% ของยอดขาย
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบด้านความเชื่อมั่นต่อธุรกิจ ซึ่งต้องทำความเข้าใจว่าแฟรนไชส์ไม่ใช่แค่ลงทุนและรอรับเงินปันผล เพราะนั่นเป็น “แชร์ลูกโซ่” ไม่ใช่ธุรกิจ ดังนั้น กรณีดารุมะนับบทเรียนให้กับนักธุรกิจรุ่นใหม่ๆ ที่อยากมีกิจการเป็นของตัวเองในลักษณะธุรกิจแฟรนไชส์
ด้านสภาองค์กรผู้บริโภค ระบุว่ากรณีของดารุมะผู้บริโภคสามารถเรียกร้องตามสิทธิที่เป็นผู้เสียหาย โดยแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ หากซื้อกับร้านโดยตรงสามารถแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของร้าน แต่ถ้าซื้อคูปองกับกลุ่มผู้ค้าคนกลาง ผู้บริโภคอาจเรียกร้องกับผู้ค้าคนกลาง ดังนั้น หากผู้บริโภคซื้อขายกับคู่กรณีใดก็ต้องไปดำเนินการกับคู่กรณีนั้น
ขณะเดียวกันผู้ค้าคนกลางก็ต้องดำเนินการกับเจ้าของกิจการต่อไป เพราะเป็นผู้เสียหายเช่นกัน ทั้งนี้ ผู้บริโภคต้องพิจารณาและตระหนักถึงสินค้าที่จะซื้อเพื่อบริการให้มากขึ้น แม้ในบางธุรกิจอาจดำเนินการมาระยะหนึ่งจนสร้างความน่าเชื่อถือได้ แต่ในธุรกิจที่จัดโปรโมชั่นราคาถูก ซึ่งสวนทางกับราคาต้นทุนสินค้าจริง ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้แค่ช่วงระยะสั้น หากระยะยาวคงเป็นไปได้ยากกับสถานการณ์โลกที่ยังผันผวน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็นต่อบทความนี้