สงครามร้านชานมไข่มุกพลิกสู่บลูโอเชี่ยน! ‘แบร์เฮาส์’ ผุด 109 สาขา ปี 71
แบร์เฮาส์ (BEARHOUSE) ร้านชานมไข่มุกสัญชาติไทยที่เกิดจากการปลุกปั้นโดย 2 ยูทูปเบอร์ดัง ที่มีผู้ติดตามกว่า 3.8 ล้านราย และเคยทำเงินหลักสิบล้านบาทต่อปีซึ่งเป็น “กำไร” เน้นๆ
ทว่า ความหลงใหลหรือ Passion ชอบทาน “ชานมไข่มุก” ตระเวนชิมแบรนด์อร่อยทั้งไทยและต่างประเทศ นำมาสู่การสร้างธุรกิจ และทำให้ทั้งคู่ “จริงจัง” กับบทบาทการเป็นผู้ประกอบการ “นักธุรกิจรุ่นใหม่” เต็มตัว
ปี 2566
“แบร์เฮาส์” เดินทางครบ 4 ปี มีร้านชานมไขมุกแล้ว 23 สาขา แต่เป้าหมายใหญ่ คือ
การพาแบรนด์ไทยโตแกร่งในประเทศ เพื่อเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
นำเงินขยายสู่ตลาดต่างแดนและเวทีโลกต่อไป
สำหรับ การเปิดร้านจะใช้งบลงทุนราว 3.5 ล้านบาทต่อสาขา โมเดลร้านมี 3 ขนาด ประกอบด้วย พื้นที่เล็กกว่า 50 ตารางเมตร(ตร.ม.) 50 ตร.ม.ขึ้นไป และ 80 ตร.ม.ไป ส่วนผลิตภัณฑ์ในร้านยังชูจุดขาย “ชานมไข่มุก” ที่ใช้วัตถุดิบชาในประเทศไทย แม้จะราคาสูงกว่าจากจีนเกือบ 50% แต่บริษัทต้องการรักษาคุณภาพ และอัตลักษณ์ของแบรนด์ ตอบโจทย์ผู้บริโภค
การเดินเกมเชิงรุก เพราะ “แบร์เฮาส์” เห็นโอกาสตลาดชานมไข่มุกโดยรวม “เปลี่ยนไป” จากเดิมเป็นทะเลแดงเดือด หรือ Red Ocean มีผู้เล่นมากมายที่ขับเคี่ยวกันในตลาดทุกเซ็กเมนต์ ทว่า วิกฤติโควิด-19 ระบาด กวาดผู้ประกอบการจำนวนมากให้หายไปจากตลาด บริบทที่เกิดขึ้นคือตลาดพลิกภาพสู่น่านน้ำสีครามหรือ Blue Ocean เหลือผู้เล่นแบรนด์ชั้นนำที่ผู้บริโภครู้จักดีราว 5 แบรนด์
“ย้อนไป 4-5 ปีก่อน ตลาดชานมไข่มุกถูกมองเป็น Red Ocean ผู้เล่นใหม่ไม่เข้ามา ส่วนคนรุ่นใหม่ที่อยากทำธุรกิจ ให้ความสนใจชาบู หมาล่าค้อนข้างมาก ร้านชานมไข่มุกเลยมีผู้เล่นน้อยมาก แต่ตลาดมีอัตราการเติบโต่อเนื่อง”
ตลาดชานมไข่มุกถูกประเมินขนาดใหญ่ถึง 2.5 หมื่นล้านบาท แต่จากการคร่ำหวอดในวงการ ทั้งคู่มองมูลค่าไม่เกิน 5,000 ล้านบาท จาก 3-4 ปีก่อน มูลค่าราว 3,000-4,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลให้ตลาดชานมเติบโต ส่วนหนึ่งพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เข้าร้านเครื่องดื่ม คาเฟ่ ไม่ได้ดื่มแค่เครื่องดื่มเมนูโปรด แต่ไปสัมผัส เสพบรรยากาศร้าน ปลดปล่อยไลฟ์สไตล์ของตนเองด้วย
เมื่อตลาดชานมยังเป็นขุมทรัพย์แห่งโอกาส “ปัทมพร” และ “อรรถกร” จึงวางแผนการเติบโตระยะยาว ด้วยการเดินหน้าเปิดร้านชานมไข่มุก “แบร์เฮาส์” ให้แตะ 109 สาขา ภายในปี 2571 เพื่อให้ครอบคลุมผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย สร้างรายได้ขั้นต่ำให้ทะลุ 500 ล้านบาท สานภารกิจการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อระดมทุนนำไปต่อยอดการเติบโต โดยเฉพาะนำร้านชานมไข่มุกสัญชาติไทยไปเปิดต่างประเทศ เคลื่อนตัวสู่การเป็นแบรนด์ระดับโลก
“อยากเห็นแบร์เฮาส์เป็นระดับโลก เป็นเป้าหมายตั้งแต่วันแรกที่ทำธุรกิจ เพื่อสร้างความสำเร็จให้ครั้งหนึ่งในชีวิต แต่การทำธุรกิจเราไม่ต้องการทัดเทียมหรือเบนช์มาร์กกับใคร เคยอยากเป็นเหมือนสตาร์บัคส์ แมคโดนัลด์ แต่พอเทียบกับแบรนด์อื่นแล้วเครียด เพราะทุกแบรนด์มีความยากลำบากหรือ Tough ในแบบของเขา”
สำหรับการโกอินเตอร์บริษัทศึกษาโมเดลธุรกิจของแบรนด์ชาขมไข่มุกชั้นนำในตลาด เช่น การร่วมทุนกับพันธมิตรในท้องถิ่น การขยายตลาดผ่านแฟรนไชส์ เป็นต้น ซึ่งการเริ่มไปต่างประเทศอยากเห็นภายในปี 2568
นอกจากร้านชานมไข่มุก “แบร์เฮาส์” บริษัทยังมองการแตกไลน์แบรนด์ใหม่ เพื่อสร้างพอร์ตโฟลิโอธุรกิจให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปี 2566 แบร์เฮาส์ สร้างแบรนด์ก้าวสู่ปีที่ 5 ยังเปิดตัวเครื่องดื่มเมนูใหม่กลุ่มชาผลไม้(Fruit Tea Series) ใน 2 หมวดสินค้าคือ ชาผลไม้นุ่มชีส และชาใสนุ่มชีส ชู 3 รสชาติ คือ ชาพีชลิ้นจี่นุ่มชีส ชาเนื้อส้มนุ่มชีส และชาเสาวรสมะม่วงนุ่มชีส มาตอบโจทย์ผู้บริโภค และเมนูดังกล่าวยังเกิดจากความตั้งใจนำเทรนด์ชาผลไม้ที่ฮิตในต่างประเทศ เช่น จีน มาบุกเบิกตลาดไทย แต่จังหวะตลาดและผู้บริโภคยังไม่ตอบรับเท่าที่ควร จึงนำมาสร้างกระแสอีกครั้ง
สำหรับแผนการรุกตลาดชานมไข่มุกตลอดปี 2566 บริษัทวางเป้าหมายรายได้เติบโต 50% จากปีก่อน แต่ความท้าทายคือกำลังซื้อผู้บริโภคที่เปราะบาง ส่งผลให้ตลาดระดับแมสเติบโต และบริษัทต้องปรับตัวอัดโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขายมากขึ้น
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็นต่อบทความนี้