‘ไทย’ อันดับ 7 ตลาดค้าชาใหญ่สุดในโลก เปิด 5 โปรดักต์ ‘ชาเพื่อสุขภาพ’ มาแรง!

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยาภรณ์ เชื่อมชัยตระกูล หัวหน้าสถาบันชาและกาแฟ แห่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เล่าในหัวข้อ “กระแสสถานการณ์ชาโลกต่อการเปลี่ยนแปลงตลาดชาไทย” ภายในงานการประชุมเครือข่ายชา-กาแฟประเทศไทย 2566 เมื่อต้นเดือน ก.ค. ว่า “มีการประเมินว่าภายในปี 2566 ตลาดชาจะเพิ่มสูงขึ้น 6-7% และภายในปี 2568 วัฒนธรรมการทานชานอกบ้านจะสูงขึ้น 5% พร้อมคาดการณ์ด้วยว่าในปีเดียวกันจะมีปริมาณชา 7.4 พันล้านกิโลกรัม”

ทั้งนี้จากสถิติการประเมินยอดขายชาในปี 2565 พบว่า “8 ประเทศที่มีตลาดค้าชาใหญ่ที่สุดในโลก” ได้แก่ อันดับ 1 จีน ซึ่งเป็นผู้ส่งออกชารายใหญ่ที่สุดในโลก มีมูลค่า 99,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3.4 ล้านล้านบาท) รองลงมาอันดับ 2 อินเดีย 15,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (540,276 ล้านบาท) อันดับ 3 ญี่ปุ่น 14,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (498,981 ล้านบาท) อันดับ 4 สหรัฐ 13,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (461,127 ล้านบาท)

อันดับ 5 บราซิล 11,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (406,067 ล้านบาท) อันดับ 6 ตุรกี เป็นตลาดที่มีสัดส่วนผู้บริโภคชามากที่สุดในโลก มีมูลค่า 11,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (406,067 ล้านบาท) อันดับ 7 ไทย 5,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (196,151 ล้านบาท) และอันดับ 8 อินโดนีเซีย 4,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (144,532 ล้านบาท)  

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการบริโภคชาทั่วโลกขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.5% ต่อคนต่อปี โดย 10 เทรนด์น่าสนใจในอุตสาหกรรมชาตั้งแต่ปี 2564-2566 ได้แก่ 1.การดื่มชาพรีเมียมที่บ้าน (Premium Tea at Home) 2.ชาเพื่อสุขภาพ (Wellness Teas) 3.ชอปปิงชาผ่านช่องทางออนไลน์ (Online Shopping) 4.ชาแคปซูล (K-Cups) 5.ใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-Friendly Packaging) 6.โคลด์บรูว์ส (Cold Brews) 7.คนดื่มกาแฟเปลี่ยนมาดื่มชาแทน (Coffee Drinkers Switch to Tea) 8.คุณภาพและการคัดสรร (Quality and Selection) 9.ชุดทดลอง (Sample Packs) และ 10.ชอปปิงชาอย่างเข้าถึงท้องถิ่น (Shopping Locally)

“6 คอนเซ็ปต์ในอุตสาหกรรมชาปี 2566” คือ 1.มอบประสบการณ์หรือเป็นมากกว่าเครื่องดื่ม 2.เลือกบริโภคชาตามจุดประสงค์ เช่น การดูแลตัวเอง ประโยชน์เพื่อสุขภาพและจิตใจ มอบอารมณ์ (Mood) ตรงตามความต้องการเช่น มอบอารมณ์ผ่อนคลาย การหลับที่ดี การโฟกัสเรื่องงานหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และมอบพลังงานการตื่นตัว หลังผู้บริโภคเข้าใจตลาดมากขึ้น 3.พัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตชา เช่น ชาแบบแคปซูล ชาแบบโคลด์บรูว์ 4.การนำข้อมูลมาขับเคลื่อนธุรกิจชา 5.กระแสทางเลือกชาพร้อมดื่ม (Ready To Drink: RTD) และ 6.รสชาติแบบฟิวชัน (Fusion Flavors)

ด้านเทรนด์ “5 โปรดักต์ชามาแรงในปี 2566” ส่วนใหญ่จะเป็นชาจากสมุนไพรและผลไม้ ซึ่งมีประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพ ได้แก่ “คอมบูชา” (Kombucha) หรือ ชาหมัก ช่วยในการย่อยอาหารและปรับสมดุลลำไส้ “ชามะรุม” (Moringa Tea) ช่วยรักษาโรคเบาหวาน รักษาสมดุลของระดับน้ำตาล “ชาผู่เอ๋อร์” (Pu-erh Tea) ช่วยขับสารพิษในลำไส้ “ชาฮันนีบุช” (Honeybush Tea) มีแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ และ “ชาแบบสปาร์คกลิง” (Sparkling Tea) หรือชาอัดแก๊ส ดื่มแล้วสดชื่น เริ่มเข้ามาในตลาดเพื่อเจาะตลาดวัยรุ่นมากขึ้น

สำหรับสถานการณ์ตลาดชาในประเทศไทย พบว่าในปี 2563 ภาพรวม “ตลาดเครื่องดื่มในไทย” มีปริมาณการบริโภครวม 1.3 หมื่นล้านลิตร มูลค่าประมาณ 7.2 แสนล้านบาท แบ่งเป็นตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คิดเป็นสัดส่วน 79:21 ในเชิงปริมาณการบริโภค และ 36:64 ในเชิงมูลค่า

ทั้งนี้ เมื่อดูเฉพาะสัดส่วนของ “ตลาดชาพร้อมดื่มในไทย” คิดเป็น 6.4% ของตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ มูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยปี 2563 มีมูลค่า 11,279 ล้านบาท ปี 2564 มูลค่า 10,863 ล้านบาท และปี 2565 มูลค่า 13,229 ล้านบาท เติบโตถึง 22% ขณะที่สัดส่วนชาพร้อมดื่มแต่ละเซ็กเมนต์มีหลากหลาย นำโดยอันดับ 1 ชาทั่วไป (Regular Tea) 58% รองลงมาคือ ชาผลไม้+วุ้นมะพร้าว 13% เฮอร์เบิล ที 9% สปาร์คกลิง ที 6% ชาพรีเมียม 6% ชาหมัก 3% และอื่นๆ 5%

“ด้านแนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องดื่มปี 2565-2568 ประเมินว่าเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ (Functional Beverage) มาแรงต่อเนื่อง เห็นได้จากเทรนด์การบริโภคที่เริ่มมองหาเครื่องดื่มหวานน้อย รวมถึงการบริโภคชากาแฟแบบออร์แกนิกมากขึ้น”

 

 

ความคิดเห็น

บทความที่มีคนอ่านมากที่สุด

อย่ากลัว Distruption เพราะมันมากาคุณแน่ๆ

“พจน์ อานนท์” หนัง Content “ต่ำ” แต่คำโปรโมท “สูง”

กางเกงยีนส์ ‘แม็ค’ ปรับธุรกิจอย่างไร ให้มากกว่าเดนิม สร้างการโตนิวไฮรอบ 7 ปี

Heineken 0.0 เบยร์ไม่มีแอลกอฮอลล์ แกกกฏโฆษณา และฉีกภาพเบียร์ในตำนาน

ต่อไปนี้ ระบบการทำธุรกิจ จะโดน Distrub