ตั้งแต่ 2 ก.ค. PACE จะหลุดจากวงจรตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกบทเรียนหนึ่งของธุรกิจอสังหาฯ เมืองไทย

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศจะเพิกถอนหลักทรัพย์ PACE (บมจ. เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น) จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป

สาระสำคัญมาจาก PACE ขาดสภาพคล่องอย่างหนัก จากที่โครงการต่าง ๆ มีปัญหาขายได้ไม่ตามเป้าทำให้มีหนี้สินล้นพ้นตัว และถูกแขวนป้าย SP มายาวนานกว่า 5 ปี โดยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2563 แต่ไม่สามารถแก้ไขเรื่องการเงินได้

PACE มี สรพจน์ เตชะไกรศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PACE อดีตเจ้าของตึกมหานครที่โด่งดัง
สรพจน์ เริ่มก้าวมาสู่วงการอสังหาริมทรัพย์อย่างเต็มตัวตั้งแต่ปี 2546 ในวัยเพียง 26-27 ปี เป็นเด็กหนุ่มโพรไฟล์ดี ลูกชายของ สุเมธ เตชะไกรศรี เจ้าของธุรกิจด้านโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ กับยุพา เตชะไกรศรี กรรมการ บริษัท แอลพีเอ็น จำกัด (มหาชน)

สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาบัณฑิตสาขาบริหารธุรกิจ (โปรแกรม อินเตอร์เนชั่นแนล) เอกการเงิน โทการตลาด จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เคยเป็นนักวิเคราะห์ที่บริษัทคาเธย์ แอสเส็ท แมเนจเม้นท์ และนักวิเคราะห์วิจัยตลาดที่บริษัท เอ็นเอฟโอ (ประเทศไทย)

เขาเริ่มเปิดบริษัททำโครงการคอนโดมิเนียมโครงการแรกย่านสุขุมวิท ชื่อว่า “ไฟคัส เลน” จากนั้นก็สร้างตึก 25 ชั้น ในซอยศาลาแดง 1 ชื่อว่า “ศาลาแดง เรสซิเดนเซส” เน้นฟังก์ชันและดีไซน์ที่แตกต่าง โฟกัสไปยังกลุ่มคนเมืองรุ่นใหม่  ที่ต้องการความสะดวกและทันสมัย
2 โครงการแรกประสบความสำเร็จอย่างดีทำให้เขามั่นใจที่จะคิดการใหญ่

ในปี 2552 ชื่อของเขาเป็นที่รู้จักมากขึ้นเมื่อประกาศสร้าง โครงการ “มหานคร” มิกซ์ยูสระดับซูเปอร์ลักชัวรี ใจกลางเมืองในทำเลทองติดสถานีรถไฟฟ้าช่องนนทรี

ปี 2559 ตึก สูง 314 เมตร 77 ชั้น ก็โดดเด่นเป็นสง่า มีการเปิดตัวโครงการด้วยการจัดแสดงไลท์โชว์ ที่สวยงาม เรียกเสียงฮือฮาไปทั้งเมือง
มหานคร เป็นตึกสูงที่สุดในประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2559 – 2561 หลังจากนั้นอาคารแมกโนเลียส์ วอเตอร์ฟร้อนท์ เรสซิเดนเซส ซึ่งตั้งอยู่ในโครงการไอคอนสยาม ก็มาทำลายสถิติ

ในระหว่างการก่อสร้างอภิมหาโครงการนี้  PACE ก็ได้เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมสร้างโครงการอสังหาฯ ระดับไฮเอนด์อย่างต่อเนื่อง เช่น “นิมิต หลังสวน” โครงการ “มหาสมุทร” ที่หัวหิน และได้ซื้อกิจการทั้งหมดของ “ดีน แอนด์ เดลูก้า” แบรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มชั้นนำของโลก มูลค่า 140 ล้านดอลลาร์ หวังจะขยายสาขาและทำกำไรให้เหมือนสตาร์บัคส์

เป็นช่วงเวลาที่ทุกโครงการกำลังใช้เงิน ในขณะที่ระหว่างทางเขาเจอกับอุปสรรคต่าง ๆ ดาหน้าเข้ามาเป็นระยะ ตั้งแต่วิกฤตซับไพรม์ การเมืองในประเทศ ภาวะน้ำท่วมใหญ่ ต่อด้วยปัญหาเศรษฐกิจซบเซาต่อเนื่อง ทำให้หนี้สินรวมของ PACE พุ่งสูงจากปี 2556 ประมาณ 6,000 ล้านบาท เป็น 30,160 ล้านบาทในปี 2560

ปี 2561 สรพจน์ต้องยอมตัดขายโครงการมหานครบางส่วน คือ โรงแรม ชั้นชมทัศนียภาพ และมหานครคิวบ์มูลค่า 14,000 ล้านบาท ให้กับกลุ่ม “คิง เพาเวอร์” (ยกเว้นส่วนของห้องชุดเพื่อการพักอาศัย) จากนั้นได้เปลี่ยนชื่ออาคารเป็น “คิง เพาเวอร์ มหานคร”

เมื่อได้เงินล้างหนี้ก้อนใหญ่เข้ามา ณ ช่วงเวลานั้นทุกอย่างน่าจะดีขึ้น แต่พอในปี 2563 ก็ต้องเจอศึกหนักจากวิกฤตโควิด-19

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2563 บริษัทก็ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ ต่อศาลล้มละลายกลาง พร้อม ๆ กับการพยายามแก้ปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน รวมทั้งหาพันธมิตรรายใหม่เข้ามา

แต่ดูเหมือนว่าภาวะเศรษฐกิจบ้านเราและเศรษฐกิจโลกหลังวิกฤตโควิดยังไม่สดใส ธุรกิจอสังหาฯ ยังอยู่ในช่วงขาลง ต้องคอยเวลากันต่อไป

ในที่สุดตั้งแต่ 2 ก.ค. 2567 นี้ PACE ก็ต้องหลุดจากวงโคจรของตลาดหลักทรัพย์ฯ ตลอดไป
แต่การต่อสู้ของสรพจน์ในวัย 40 กว่าปี นอกตลาดหลักทรัพย์ ยังต้องดำเนินต่อไป

ความคิดเห็น

บทความที่มีคนอ่านมากที่สุด

อย่ากลัว Distruption เพราะมันมากาคุณแน่ๆ

“พจน์ อานนท์” หนัง Content “ต่ำ” แต่คำโปรโมท “สูง”

กางเกงยีนส์ ‘แม็ค’ ปรับธุรกิจอย่างไร ให้มากกว่าเดนิม สร้างการโตนิวไฮรอบ 7 ปี

Heineken 0.0 เบยร์ไม่มีแอลกอฮอลล์ แกกกฏโฆษณา และฉีกภาพเบียร์ในตำนาน

ต่อไปนี้ ระบบการทำธุรกิจ จะโดน Distrub