‘Sizzler สยามเซ็นเตอร์’ ไม่ใช่สาขาขายดี ? จับตาทำเลชานเมือง ‘เมกาบางนา’ จ่ายหนักสุด
.
แม้ไม่ใช่ร้านแฟล็กชิป สโตร์ แต่การประกาศปิดตัวลงของ “ซิซซ์เลอร์ สาขาสยามเซ็นเตอร์” ก็ทำเอาแฟนๆ ร้านสเต๊กแห่งนี้ใจหายไม่น้อย หลังจากเปิดทำการมานาน 24 ปีเต็ม โดยทางซิซซ์เลอร์ (Sizzler) โพสต์แจ้งข่าวผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจเมื่อช่วงเช้าวันนี้ (3 มกราคม 2568) ระบุว่า จะเปิดให้บริการถึงวันที่ 12 มกราคม 2568 เท่านั้น
.
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โดยทาง “ซิซซ์เลอร์” ให้เหตุผลว่า เกิดจากการหมดสัญญาเช่าเท่านั้น ประกอบกับโลเกชันดังกล่าวยังมีร้านซิซซ์เลอร์สาขาอื่นๆ ล้อมรอบอีกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นสาขาเซ็นทรัลเวิลด์, สาขามาบุญครอง, สาขาพาร์ค สีลม และสาขาวัน แบงค็อก เป็นอันจบตำนานร้านซิซซ์เลอร์ สาขาสยามเซ็นเตอร์
อย่างไรก็ตาม ทำเล “CBD” (Central Business District) กลับไม่ใช่สาขาทำเงินมากที่สุดของเจ้าแห่งสลัดบาร์ ระบุว่า กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ของ “ซิซซ์เลอร์ สยามเซ็นเตอร์” เป็นกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ที่มียอดการใช้จ่ายต่อบิลราว 380 บาท ขณะที่สาขา “Top 5” ของซิซซ์เลอร์ มียอดการใช้จ่ายต่อบิลสูงสุดถึง “838 บาท” โดยมีรายละเอียด ดังนี้· สาขาเมกาบางนา: ยอดการใช้จ่ายต่อบิล 838 บาท
· สาขาเซ็นทรัล ภูเก็ต: ยอดการใช้จ่ายต่อบิล 832 บาท
· สาขาแฟชั่นไอส์แลนด์: ยอดการใช้จ่ายต่อบิล 810 บาท
· สาขาฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต: ยอดการใช้จ่ายต่อบิล 772 บาท
· สาขาเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า: ยอดการใช้จ่ายต่อบิล 749 บาท
.
ปัจจุบัน “ซิซซ์เลอร์” มีสาขาทั้งหมด 65 แห่ง ปี 2567 เปิดเพิ่มอีก 2 แห่ง ได้แก่ สาขาวัน แบงค็อก และสาขาเซ็นทรัล นครปฐม สำหรับความเคลื่อนไหวในปีนี้ “อนิรุทร์ เดวิด คอลลินส์” ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอสแอลอาร์ที จำกัด (ซิซซ์เลอร์) เคยให้ข้อมูลไว้ว่า ต้นปี 2568 จะเป็นปีแห่งการยกเครื่องสลัดบาร์ หลังจากปี 2567 ทุ่มสรรพกำลังไปกับการให้ความสำคัญที่ “Core product” หรือเมนูหลักมากถึง 90%
.
ทว่า คู่แข่งร้านสเต๊กที่เพิ่มขึ้น ทำให้ “ซิซซเลอร์” กลับมามองอาวุธลับที่ร้านอื่นไม่มีเหมือนตนเอง นั่นคือ “สลัดบาร์” หลังจากปีก่อนหน้าดึงชีสโทสต์เข้ามาสร้างความแตกต่าง ด้วยการปั้นเป็นแบรนด์มาสคอตไปแล้ว ปีนี้จะยังคงเดินหน้าทำการตลาดผ่าน “น้องชีสโทสต์” ต่อไป พร้อมกับปรับปรุงวัตถุดิบบนสลัดบาร์ให้มีความสดใหม่ เพิ่ม “Superfood” ตามเทรนด์รักสุขภาพ โดยระบุว่า เฉพาะคนที่เข้ามากินสลัดบาร์เพียงอย่างเดียวยังคงมีสัดส่วนที่ 30%
การเติบโตของ “ซิซซ์เลอร์” ในปี 2567 มีความน่าสนใจที่สัดส่วนการใช้จ่ายของผู้บริโภค เนื่องจากไม่ได้ขึ้นราคาอาหารมา 2 ปีเต็ม นั่นหมายความว่า เป็นการเติบโตผ่านการใช้จ่าย ทำให้ปี 2567 ถูกยกให้เป็น “ปีทอง” ของร้านซิซซ์เลอร์ มีจำนวนลูกค้าเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 25% ยอดขายโตแบบ “Double Digits” ระบุว่า ปีนี้วางแผนเปิดเพิ่มอีก 3 สาขา มองไว้ทั้งโลเกชันในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็นต่อบทความนี้