เจน 2 ‘นารายา’…เร่งวางกลยุทธ์ธุรกิจใหม่ พลิกโฉมแบรนด์มากกว่าของฝาก ปรับโมเดิร์น รุกออนไลน์
.
นารายา (NaRaYa) แบรนด์สินค้ายอดนิยมของประเทศไทยในกลุ่มนักท่องเที่ยวมายาวนาน มีจุดเริ่มต้นจาก “วาสนา รุ่งแสงทอง ลาทูรัส และวาสิลิโอส ลาทูรัส” มีเส้นทางมากว่า 35 ปีแล้ว ผ่านโจทย์ความท้าทายธุรกิจหลายด้าน จนนำพาแบรนด์ไทยไปปักหมุดในใจลูกค้าต่างชาติได้เป็นผลสำเร็จ
.
แต่ในโลกการค้าที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว การทำธุรกิจในรูปแบบเดิม และใช้เครื่องมือการตลาดที่เคยสำเร็จในอดีต อาจไม่ใช่เส้นทางของแบรนด์ที่จะครองผู้นำในตลาดได้ จากโจทย์การทำธุรกิจที่มีความท้าทายมากขึ้น ทำให้แบรนด์ นารายา ที่มีเจนสอง เข้ามาร่วมขับเคลื่อนองค์กรกับ “พศิน ลาทูรัส” เร่งแผนสร้างการเติบโตในยุคใหม่
“พศิน ลาทูรัส” รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท นารายณ์อินเตอร์เทรด จำกัด ผู้ผลิต และจำหน่ายสินค้าแบรนด์ นารายา (NaRaYa) เปิดเผยว่า ได้เข้ามาร่วมขับเคลื่อนทางด้านการตลาดของแบรนด์ โดยมีคุณแม่ร่วมทำหน้าที่ดูแลภาพรวม และการดีไซน์สินค้า รวมถึงการสร้างสรรค์ไอเดียต่างๆ ส่วนทางคุณพ่อ ดูแลเรื่องโรงงานการผลิตสินค้าเป็นหลัก ทั้งหมดจึงร่วมขับเคลื่อนองค์กร และการคงความเป็นดีเอ็นเอของแบรนด์ นารายา.
:: เมื่อนักท่องเที่ยวเปลี่ยน แบรนด์ต้องปรับ ::
ทั้งนี้บริษัทได้มีการศึกษาตลาด และกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของแบรนด์พบว่า ส่วนใหญ่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปจนถึงอายุ 50 ปี และตลาดหลักเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย แต่เมื่อสถานการณ์การท่องเที่ยวเปลี่ยนไป โดยเฉพาะชาวจีนที่เป็นลูกค้าหลักเดินทางเข้ามาไทยลดลง ส่งผลให้แบรนด์ต้องกลับมาทบทวนผลิตภัณฑ์ใหม่
อีกทั้งเมื่อประเมินภาพรวมการท่องเที่ยวกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติ อาจไม่ได้ต้องการมาซื้อสินค้าแล้ว แต่มีความต้องการประสบการณ์ใหม่ๆ ในการเดินทางเข้ามาในไทย จึงจำเป็นต้องปรับแผน และการนำเสนอสินค้าให้เหมาะสม.
“ผลจากภาวะเศรษฐกิจมีผลต่อทุกแบรนด์ จึงจำเป็นต้องปรับภาพลักษณ์ของแบรนด์ และวางตำแหน่งของผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับตลาด รวมถึงลูกค้าที่ไม่เหมือนเดิม”
.
:: นารายา ยุคใหม่มุ่งโมเดิร์น ขยายฐานลูกค้า ::
ยุทธศาสตร์ของแบรนด์นับจากนี้ไปคือ การปรับภาพลักษณ์ของแบรนด์ นารายา ครั้งใหญ่ ให้มีความเป็นสินค้าให้มีภาพลักษณ์มีความโมเดิร์น และขยายแบรนด์จากเดิมที่ลูกค้าคนไทย และชาวต่างชาติ มองว่าเป็นสินค้าของฝากเท่านั้น แต่ได้ปรับให้เป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ และการเพิ่มสินค้าให้มีความหลากหลาย เพื่อการใช้งานในทุกวัน ทั้งสินค้าของใช้ภายในบ้าน เช่น ผ้าม่าน ผ้าปูที่นอน เป็นต้น เนื่องจาก นารายา มีความเชี่ยวชาญกับธุรกิจผ้ามาอย่างยาวนาน ดังนั้นกลุ่มลูกค้าจะเห็นสินค้ากลุ่มใหม่มากขึ้นนับจากนี้ไป โดยภาพรวมนารายามีสินค้าทั้งหมดกว่า 3 หมื่นรายการ
.
แนวทางในการปรับภาพลักษณ์สินค้าให้มีความโมเดิร์น เพื่อขยายฐานกลุ่มลูกค้าลงมาจนถึงอายุ 10-15 ปีเป็นต้น โดยได้มีความร่วมมือกับ “น้องหมีเนย” (Butterbear) ในการพัฒนาสินค้าคอลเลกชันพิเศษ และรุ่นที่เป็น Exclusive Set เน้นการดีไซน์ที่มีความสดใส และร่าเริง สะท้อนถึงคาแรกเตอร์ของหมีเนย เด็กน้อยในวัย 3 ขวบที่ครองใจผู้คนมากมายทั้งคนไทย และต่างชาติ อีกทั้งได้มีการดึง นักแสดงชื่อดัง “ปอนด์ พลวิชญ์” มาร่วมทำแคมเปญพิเศษร่วมกับหมีเนย สำหรับ “ปอนด์” ถือว่าเป็นนักแสดงชื่อดัง และมีฐานแฟนคลับชาวจีนจำนวนมาก
.
สำหรับการร่วมมือกับหมีเนยสู่การออกสินค้าคอลเลกชันพิเศษนั้น ได้รับการตอบรับที่ดีมาก จนสร้างปรากฏการณ์ลูกค้าสนใจเข้ามาจองผ่านทางออนไลน์ จนทำให้เว็บไซต์ล่ม นับเป็นครั้งแรกที่แบรนด์ นารายา ที่ได้สร้างแบรนด์มาเป็นเวลา 35 ปีเกิดกรณีแบบนี้ และสินค้าล็อตแรกบางรุ่นที่ผลิตร่วมกับ หมีเนย ได้หมดลง ทำให้วางแผนที่จะขายความร่วมมือพัฒนาสินค้ากลุ่มใหม่ และออกคอลเลกชันพิเศษในระยะต่อไป
.
ทั้งนี้ ประเมินว่าจะทำให้แบรนด์สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เป็นคนไทยได้มากขึ้น จากที่ผ่านมา ลูกค้าหลักคือ ต่างชาติ ครองสัดส่วนมากถึง 70% และคนไทย 30% เท่านั้น
.
อีกทั้งผลจากการที่แบรนด์ได้มีความร่วมมือกับหมีเนย สามารถขยายฐานลูกค้าคนไทยได้ถึงสัดส่วน 40% ส่วนที่เหลือต่างชาติ ซึ่งได้เริ่มทำตลาดคอลเลกชันพิเศษตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.68 ที่ผ่านมา
.
:: นารายา ลงทุนสร้างคลังสินค้าใหม่ 1,000 ล้านบาท ::
นอกจากการพลิกโฉมแบรนด์ การนำเสนอสินค้ารุ่นใหม่ๆ ที่หลากหลาย บริษัทได้มีการลงทุนพัฒนาระบบทำการตลาดผ่านออนไลน์ให้แข็งแกร่งมากขึ้น กับการปรับระบบขายสินค้าผ่านออนไลน์ และขยายแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซให้ครอบคลุม รวมถึงการพัฒนาสร้างคลังสินค้าแห่งใหม่ บนพื้นที่ 20 ไร่ หรือมีขนาดรวม 3 หมื่น ตร.ม. ใช้งบลงทุน 1,000 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด เป็นระบบคลังสินค้าที่ทันสมัย ตั้งการใช้ระบบเทคโนโลยีขั้นสูง และระบบเอไอ เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าให้มีความสะดวก และมีประสิทธิภาพสูงขึ้นรองรับการขยายตลาด
.
อีกทั้งได้พัฒนาช่องทาง TikTok โดยร่วมมือกับอินฟลูเอนเซอร์ และคอนเทนต์ครีเอเตอร์ เพื่อทำให้แบรนด์เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าคนไทย
.
ขณะเดียวกันจากภาพรวมตลาดที่กำลังกลับมาฟื้นตัว และมีคำสั่งซื้อที่มากขึ้น โดยเฉพาะจาก คอลเลกชันพิเศษร่วมกับ “หมีเนย” ทำให้บริษัทได้มีการขยายความร่วมมือกับพันธมิตร ที่เป็นผู้ผลิตกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับผ้าจากญี่ปุ่น ที่มีโรงงานในไทย ให้เข้ามาร่วมผลิตสินค้า เนื่องจากสามารถขยายสเกลการผลิตได้ โดยตามแผนในช่วงไตรมาสสามจะขยายเพิ่มจำนวน 400-500 คน และช่วงปลายปีต้องการขยายเพิ่มเป็น 800 คน
.
สำหรับโรงงานในการผลิตสินค้า มีฐานหลักอยู่ในจังหวัดบุรีรัมย์ และเป็นโรงงานที่ใช้งานฝีมือในการเย็บผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีแรงงานรวมประมาณ 2,000 คน
.
“ตั้งแต่โควิดที่ผ่านมา บริษัทมีการลดขนาดธุรกิจลงมา ทำให้มีโรงงานแห่งเดียวในจังหวัดบุรีรัมย์ แต่ในปีนี้กำลังกลับมาเพิ่มกำลังการผลิตจึงนำไปสู่การร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ญี่ปุ่น และมีโอกาสที่จะขยายความร่วมมือเพิ่มเติมอื่นๆ ในอนาคต”
.
:: การเปิดช้อปใหม่ใจกลางเยาวราช ::
นอกจากการทำตลาดที่ได้ปรับภาพลักษณ์แบรนด์ และการทำระบบหลังบ้าน เชื่อมโยงอีคอมเมิร์ซให้แข็งแกร่ง ทางด้านช่องทางในการจำหน่ายสินค้าได้มีการขยายครั้งใหม่ โดยได้วางงบลงทุนไว้ 100 ล้านบาท ในการเปิดช้อปใหม่จำนวน 2-3 แห่งภายในปีนี้
.
โดยช้อปแรกจะเป็นสาขาขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่แบบเดี่ยวในทำเลใจกลาง “เยาวราช” คาดว่าจะเปิดได้อย่างเป็นทางการได้ก่อนช่วงกลางปีนี้ ส่วนช้อปที่เหลืออยู่ระหว่างการพิจารณา ถือนับเป็นการรุกกลับมาขยายสาขาครั้งใหญ่ นับตั้งแต่ช่วงโควิด ที่จะเปิดช้อปใหม่ปีละ 6-7 แห่ง ภาพรวมในปัจจุบัน นารายา มีช้อปทั้งหมดประมาณ 17 แห่งในประเทศไทย และสนามบิน 1 แห่งที่สนามบินดอนเมือง
.
สำหรับตลาดต่างประเทศได้เน้นขยายไปในภูมิภาคเอเชีย ที่มีฐานลูกค้าอยู่แล้ว โดยตลาดในประเทศจีนที่มีขนาดใหญ่ได้ขยายผ่านแพลตฟอร์ม ‘Xiaohongshu’ หรือ เสี่ยวหงซู ถือเป็นแพลตฟอร์มใหญ่ในการซื้อขายสินค้าออนไลน์ของกลุ่มลูกค้าชาวจีน
.
ทั้งนี้ประเมินว่า จากการรุกตลาดของแบรนด์ครั้งสำคัญในปี 2568 จะร่วมผลักดันทำให้แบรนด์ นารายา สามารถสร้างผลประกอบการขยายตัวได้ดี ด้วยการขยายตัว 15-20% จากปีก่อน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็นต่อบทความนี้