‘HAAB’ ขายขนมไข่เดือนละ ‘3 ล้านชิ้น’ เปิดร้านมา 1 ปี เตรียมบุก ‘มาเลเซีย’ เป็นประเทศแรก
ขนมไข่ที่อยู่คู่คนไทยมานานหลายทศวรรษ ไม่ใช่สินค้าใหม่แกะกล่องสำหรับตลาดขนมหวานบ้านเรา แต่ “จูเนียร์-ทัพไทย ฤทธาพรม” และ “มอส-จรรยธร บิลพัฒน์” สองผู้ก่อตั้งร้าน “HAAB” กลับทำให้ขนมย่างเตาถ่านหอมเนยขายดีตั้งแต่เดือนแรกที่เปิดทำการ ผ่านไปประมาณ 1 ปี 3 เดือน นับตั้งแต่วันแรก “ทัพไทย” บอกกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า สิ้นปีนี้ยอดขายน่าจะปิดที่ “250 ล้านบาท” และอาจมีลุ้นทะลุสู่ “300 ล้านบาท” ได้ด้วย
แต่ก่อนจะมาขายขนมไข่
ทั้งคู่ไม่เคยทำธุรกิจอาหารมาก่อน ไม่เคยจับตลาดออฟไลน์ และไม่เคยคิดว่า
ตัวเองจะเข้าสู่สมรภูมินี้ จุดเปลี่ยนที่ทำให้เริ่มสนใจขนมไข่ไส้เนยจากเกาะยอ
เกิดจากความชอบส่วนตัวของ “จรรยธร” ประกอบกับ “ทัพไทย”
ไปเจอข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจเกี่ยวกับขนมไข่ โดยพบว่า
มียอดสั่งซื้อขนมไข่จากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมากถึง “หมื่นชิ้นต่อเดือน”
ทั้งคู่จึงตัดสินใจเริ่มต้นบทบาทพ่อค้า-แม่ค้าขนมไข่ ด้วยเงินลงทุน 30,000 บาท
พร้อมโต๊ะไม้เล็กๆ กับเตาทำขนมไข่อีก 1 เตา
ขนมไข่มีมานานแล้ว
แต่ “ขายดี” เพราะไม่เหมือนคนอื่น
“ทัพไทย” เล่าบนเวที “วัยรุ่นตั้งตัว” ที่จัดขึ้นโดยเพจ Torpenguin ว่า เขาเริ่มต้นเส้นทางนักธุรกิจจากการทำแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ยี่ห้อ “DreamDesk” ขายผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซเป็นหลัก บวกกับความสนใจด้านการทำ “Marketing Research” อยู่แล้ว ทำให้ตนเชี่ยวชาญในสนามออนไลน์อยู่พอสมควร
แต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้หันมาจับธุรกิจอาหาร โดยที่ไม่เคยอยู่ในความสนใจมาก่อนเลยเกิดจากความคุ้นเคยในย่านบรรทัดทอง โดยออฟฟิศของ “DreamDesk” อยู่บนทำเลดังกล่าวมาประมาณ 5 ปี จึงรู้ความเคลื่อนไหวของย่านนี้ก่อนใครๆ
จากเดิมที่มีเพียง “เจ๊โอว” ร้านดั้งเดิมในบรรทัดทองที่อยู่มาก่อนใคร ตามด้วยการมาถึงของ “หนึ่งนมนัว” ที่ทำให้ย่านนี้กลายเป็น “เดสทิเนชัน” ภายในชั่วข้ามคืน จากนั้นจึงเริ่มมองหา “Business Model” ที่จะมาต่อจิ๊กซอว์ให้พอดีกับไวรัลร้านอาหารที่เกิดขึ้น
“จรรยธร”
เคยผุดไอเดียขนมไข่ขึ้นมาก่อนที่บรรทัดทองจะบูม แต่ด้วยจังหวะเวลาในตอนนั้น
ประกอบกับทั้งคู่ไม่เคยจับธุรกิจอาหารมาก่อนจึงยังเกิดความลังเล
แต่เมื่อย่านบรรทัดทองถูกปลุกจากหลับใหล
เปลี่ยนผ่านจากแหล่งเชียงกงสู่ฮับสตรีทฟู้ด จึงไม่รอช้าเริ่มทันทีด้วยเงินทุน
30,000 บาท ตั้งโต๊ะไม้แผงลอยเล็กๆ ริมถนนบรรทัดทอง
เพราะหลายคนมัก “คิดใหญ่” เมื่อพูดถึงการทำธุรกิจ ขณะที่ทั้งคู่ชอบทำอะไรเล็กๆ ก่อน หากใครเคยผ่านไปมาย่านบรรทัดทอง จะพบว่า ในช่วงเริ่มต้น “HAAB” เป็นเพียงร้านขนมไข่เล็กๆ ที่ยังไม่มีการตกแต่งให้คนพอจะจดจำชื่อร้านได้ด้วยซ้ำไป เพราะเน้นยอดขายก่อนแล้วค่อยสเกลทีหลัง ติดตลาดก่อนจึงปั้นแบรนดิ้งให้ลึกซึ้งขึ้น เพราะอยากให้ “HAAB” เป็นร้านที่ทุกคนเข้าถึงง่าย ไม่หรูหรา ราคาไม่แรงจนเกินไป ที่สำคัญ ต้องมีสตอรี่ให้จดจำ ต้องสร้างประสบการณ์บางอย่างให้ลูกค้า นั่นจึงเป็นที่มาของการทำขนมไข่จากเตากันสดๆ หน้าร้าน
คลาสสิก จึงเลือกฉีกด้วยการ “Re-defining Classic” หยิบความคลาสสิกมาแต่งตัวใหม่ ใส่สูทผูกไทด์ให้แตกต่าง จากขนมไข่แบบดั้งเดิมในตลาด ก็เป็นสูตรขนมไข่จากสงขลาที่มีเนยชุ่มฉ่ำด้านใน ทั้งยังข้ามห้วยไปทำการตลาด “Collaboration” ร่วมกับแบรนด์อื่นๆ มีไส้ขนมที่แปลกตาเพื่อสร้างสีสันให้ตลาดมากขึ้น มีดิปเข้มข้นที่ให้รสชาติหลากหลาย ทำให้แบรนด์สดใหม่ตลอดเวลา
รสชาติต้องดีที่สุด
เจ้าของไม่ต้องทำเองทุกอย่าง ปรับคุณภาพตามฟีดแบ็กลูกค้า
ความหมายของ “HAAB” มีสองนัย อย่างแรกมาจากคำว่า “หาบ” เพราะต้องการเชื่อมโยงกลับไปหาความเป็นไทยโบราณ หาบจึงไปพ้องกับ “หาบเร่แผงลอย” และความหมายที่สอง ย่อมาจาก “Heart Attack Amount of Butter” หรือแปลเป็นไทยว่า ใส่เนยเยอะมากๆ จนอาจทำให้คุณหัวใจวายได้
ผ่านไปราวๆ 1 ปีเศษ ตั้งแต่วันแรกหลังการเปิดตัว “HAAB” เจ้าของร้านบอกว่า นี่คือแบรนด์ที่โตเร็วที่สุดตั้งแต่ปั้นธุรกิจมา ด้วยความโชคดีที่มีทีมงานจากธุรกิจเดิมอยู่แล้ว เมื่อต้องการสร้างแบรนด์ใหม่จึงใช้ทีมเดียวกัน พร้อมกับเทรนนิ่งพนักงานบางส่วนใหม่ ทั้งยังต้องเทรนนิ่งทักษะผู้บริหารของตัวเองไปพร้อมๆ กันด้วย เพราะนี่คือครั้งแรกที่หันมาจับธุรกิจอาหาร
สิ่งสำคัญที่สุดในมุมมองผู้ประกอบการ คือการรีเสิชตลาดและสินค้าให้ดีก่อนลงมือทำ ทั้งคู่พบว่า สำหรับธุรกิจอาหาร รสชาติต้องดีที่สุด ขณะที่แบรนด์เฟอร์นิเจอร์หรือสินค้าอื่นๆ ไม่ต้องขายของที่ดีที่สุด แต่ขายของให้ราคาพอดีกับคุณภาพก็พอ
และแม้ว่าจะเป็นเจ้าของ แต่เราไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่างเอง ให้ทดลองตลาดด้วยสเกลเล็กๆ ก่อน ถ้าแบรนด์ไปต่อได้ กระแสตอบรับดี ค่อยนำกำไรที่ได้ไปต่อยอดด้วยการจ้างคนเก่งๆ มาทำแบรนดิ้ง จากนั้นค่อยมีการตลาดเข้ามาเสริมทัพ
ที่ขาดไม่ได้ คือการมีส่วนร่วมกับลูกค้า ให้ลูกค้ามีส่วนร่วม เมื่อเขาฟีดแบ็กให้ฟังแล้วนำมาปรับตาม การปรับตัวตามฟีดแบ็กที่ได้รับจะทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่า แบรนด์ฟังเสียงของพวกเขาจริงๆ จะทำให้แบรนด์อยู่ได้นานขึ้น
ปีนี้มีรายได้ “250 ล้านบาท” เปิดเพิ่มอีก 5 แห่ง เริ่มขายที่มาเลเซียแล้ว
ปัจจุบัน “HAAB” มีสาขาที่จัดอยู่ในประเภท “Permanent Store” 6 แห่ง ออกบูธ และเปิด “Pop-up Store” ตามงานอีเวนต์อีกสิบกว่าแห่ง โดยปีนี้มีแผนเปิดสโตร์เพิ่มอีก 5 แห่ง ได้แก่ สาขาวัน แบงค็อก, สาขาเมกา บางนา, สาขาพาร์ค สีลม, สขาซีคอน สแควร์ ศรีนครินทร์ และสาขาเซ็นทรัล เวสต์เกต
สำหรับยอดขายปัจจุบัน ระบุว่า ตอนนี้ขายได้ “3 ล้านชิ้นต่อเดือน” คาดว่า สิ้นปีนี้จะปิดยอดได้ที่ “250 ล้านบาท” เป็นอย่างน้อย และอาจขึ้นไปแตะพีคสุดที่ “300 ล้านบาท” จากปัจจัยเรื่องการขยายสาขาเพิ่มเติม รวมถึงการเกิดขึ้นของแบรนด์อื่นๆ ในเครือที่จะเข้ามาเสริมทัพภายในปีนี้ด้วย
ส่วนที่สร้างเซอร์ไพรส์ไม่น้อย “ทัพไทย” เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ตอนนี้ทางแบรนด์ได้ขายไลเซ่นส์ให้กับฝั่งมาเลเซีย โดยเป็นการดำเนินธุรกิจในฐานะ “Owner” ร่วมกันทั้งสองฝ่าย จะเปิดทำการกลางเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งหากในอนาคตสาขาที่มาเลเซียประสบความสำเร็จ ก็จะใช้โมเดลดังกล่าวติดสปีดที่เวียดนามเป็นลำดับถัดไป
ด้าน “จรรยธร” เสริมว่า เป้าหมายของ “HAAB” ต้องการเป็นเชนร้านอาหารแนว “Grab & Go” ที่ไม่ได้เน้นพื้นที่นั่งกินในร้าน สามารถใช้พื้นที่ได้เล็กที่สุดเริ่มต้นที่ 20 ตารางเมตรเป็นต้นไป ในอนาคตจะไม่ได้มีแค่ขนมไข่แล้ว แต่ยังเพิ่มสัดส่วนเครื่องดื่มและไอศกรีมโบราณเพิ่มเติมด้วย
ความสำเร็จที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของ “HAAB” ทำให้ต้องคิดแผนในกรณีที่จะเกิด “Worst Case Scenario” รองรับไว้เหมือนกัน แต่อีกมุมหนึ่งก็เข้าใจโปรดักต์ดีว่า ไม่สามารถก๊อปปี้กันได้ง่ายๆ ขนมไข่ไม่ได้วัดกันที่วัตถุดิบเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีมิติของกรรมวิธีการทำ และอุณหภูมิที่เหมาะสม
หรือหากเกิดขึ้นจริง ตนก็มั่นใจว่า แบรนดิ้งที่สร้างมาจะเป็นแต้มต่อได้ รวมถึงแบรนด์อื่นๆ ในเครือที่อยู่ในแผนด้วย โดยล่าสุดเพิ่งเปิดตัว “Layer Cake” ร้านเค้กคัพที่เป็นเซกเมนต์ใหม่ ราคาเริ่มต้น 180 บาทต่อถ้วย และเดือนตุลาคมจะเปิดตัวร้านไก่ทอดหาดใหญ่ที่ถนนบรรทัดทองเช่นกัน
นี่คืออีกหนึ่งธุรกิจ “Young Blood” ที่น่าจับตามองกันไปยาวๆ ไม่แน่ว่า เราอาจได้เห็นขนมไข่ดังไกลในระดับโลกก็ได้ โดย “ทัพไทย” ระบุทิ้งท้ายว่า มีแบรนด์ฟู้ดระดับโลก มาติดต่อขอร่วม “คอลแล็บส์” อีกหลายเจ้าด้วย
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็นต่อบทความนี้