เมื่อผู้จำหน่ายสินค้า กระโจนมาทำค้าปลีก

ตลาดค้าปลีกของบ้านเรา มีการสลับขั้วกัน
ระหว่างผู้ประกอบการค้าปลีกกับซัพพลายเออร์
มาระยะเวลาหนึ่งแล้ว 
ผู้เล่นที่เป็นเจ้าของของร้านค้าปลีก
มีการสวมหมวกอีกใบ
เป็นซัพพลายเออร์เจ้าของสินค้าเสียเอง 
โดยนำสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ ของตัวเองมาวางขาย
ทำกันหมดตั้งแต่บิ๊กซี เทสโก้ โลตัส 
หรือแม้แต่กลุ่มเซ็นทรัล 
ที่นำเข้าสินค้าแฟชั่น และอื่นๆ 
อีกมากมายมาวางขายผ่านร้านค้าปลีก
ในเครือของตัวเอง
.
ในทางกลับกัน ตอนนี้
เจ้าของสินค้ายักษ์ใหญ่ทั้งหลาย 
ก็เริ่มขยับมาทำร้านค้าปลีกของตัวเอง 
ข้อดีคือการเป็นช่องทางขายที่สำคัญ
ให้กับสินค้าของตัวเอง
และการทำร้านค้าปลีก
ทำให้ได้สัมผัสผู้บริโภคโดยตรง 
สิ่งที่ได้กลับมาก็คือข้อมูล
ที่เป็นไลฟ์สไตล์การใช้สินค้าของผู้บริโภค 
ซึ่งจำเป็นอย่างมากในการทำธุรกิจยุคใหม่
และถูกขับเคลื่อนเป็นบิ๊กดาต้า 
ทำให้ไม่ต้องผลิตสินค้าแบบหว่านแหอีกต่อไป 
.
ในอดีต…การผลิต เป็นหัวใจสำคัญ 
เจ้าของสินค้าทุกรายต่างผลิตสินค้าจำนวนมาก 
เพื่อให้ได้ต้นทุนที่ต่ำสุด 
แต่เมือผลิตออกมาแล้ว ก็จำเป็นที่จะต้องขาย 
กลยุทธ์ 4P จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ 
โดยเฉพาะ P ตัวที่ 3 การจัดจำหน่าย
ที่ยักษ์ใหญ่แทบทุกราย
มีการสร้างระบบจัดจำหน่ายของตัวเอง
เพื่อผลักดันให้สินค้าเข้าไปในทุกช่องทางขาย 
เป็นการคอนโทรลช่องทางการจัดจำหน่าย
ให้อยู่ในมือของตัวเอง
.
แต่โลกการตลาดยุคใหม่ 
ยักษ์ใหญ่หลายรายกลับปรับตัว
กระโจนมาทำร้านจัดจำหน่ายเสียเอง
เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจของตัวเองให้แข็งแกร่งขึ้น
.
เริ่มจากกลุ่ม CP ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ 
ที่คุมทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นทุน จากวัตถุดิบ
ผ่านกระบวนการผลิตที่ทันสมัย 
สู่การสร้างแบรนด์สินค้า 
และสุดท้ายคือทำร้านค้าปลีก 
เพื่อเข้ามาเป็นตัวช่วยสำคัญ
ในการเป็นช่องทางขายสินค้าในเครือทั้งหมด
.
ร้านค้าปลีกของเครือซีพี 
ส่วนหนึ่งจะมาพร้อมบทบาท
การเป็นซัพพลายเออร์ของตัวเอง 
โดยกลุ่มซีพีมีการแตกบริษัทลูก
เข้ามาทำหน้าที่ในการผลิตสินค้า
เพื่อป้อนให้กับร้านค้าปลีกที่ลงทุน 
อาทิ ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น 
ที่มีซัพพลายเออร์เป็นส่วนหนึ่งธุรกิจในเครือ 
อาทิ ซีพีแรม และซีพีเอฟ ฯลฯ
.
นอกจากนั้นแล้ว เครือ CP ยังมีร้านอื่นๆ อีก
เช่น ซีพี เฟรชมาร์ท, คีย์ออสขายไก่ย่าง 5 ดาว 
หรือร้านเชสเตอร์ กริลล์  
ที่เข้ามาทำหน้าที่เป็นช่องทางขายที่สำคัญ
ในการขายสินค้าให้กับกลุ่มซีพีได้เป็นอย่างดี
.
ไม่เพียงเท่านั้น เครือซีพี ยังมีแม็คโคร
ที่มีเครือข่ายกระจายทั่วประเทศ 
โดยมีฟอร์แมตที่หลากหลาย 
โดยเฉพาะกับแม็คโคร ฟู้ดเซอร์วิส
ที่เจาะกลุ่มร้านอาหารและโรงแรม
อย่างยากที่จะปฏิเสธเงื่อนไข
.
ล่าสุด กลุ่มนี้ได้เข้าไปป๊ะมูล
ได้ห้าง LOTUS มาบริหารอีกแบรนด์
ทำให้กลุ่มนี้ มีศักยภาพในระบบจำหน่ายมาก
.
ทีนี่มาดูอีกยักษ์ ในภาคค้าปลีก
ของเสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี กันบ้าง
กลุ่มนี้ เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ หรือ BJC คือหมากเด็ด
มีโมเดลในการเข้าตลาดค้าปลีกอย่างชัดเจน 
โดยจะลงทุนทั้งในประเทศ
และขยายไปต่างประเทศด้วย
.
BJC เริ่มต้นสู่ตลาดค้าปลีกที่ประเทศเวียดนาม 
เปิดร้าน บี มาร์ท (B's Mart) 
โดยเข้าไปซื้อกิจการจากจัดจำหน่าย 2 ราย 
คือ ไทยคอร์ป และ ภูไท กรุ๊ป จอยส์ สต็อกฯ
ส่วนในไทย คือ การซื้อ Big C เมื่อเร็วๆ นี้
Big C มีฟอร์แมทร้านค้าที่หลากหลาย 
ทั้งไฮเปอร์มาร์เก็ต, ซูเปอร์มาร์เก็ต 
และคอนวีเนียนสโตร์ 
.
ขนาดธุรกิจของ Big C ค่อนข้างใหญ่ 
มียอดขายระดับแสนล้านบาทต่อปี
ทำให้ BJC ขยับขึ้นมาค้าปลีกรายใหญ่ 
และ Big C จะถูกวางไว้ให้เป็นหัวหอก
ในการขยายฐานออกไปทั่วอาเซียน เร็วๆ นี้ 
.
มาดูอีกยักษ์ ที่เพิ่งกระโดดลงมาหมาดๆ
คือ “เครือสหพัฒน์” กับ “ลอว์สัน 108”
ด้วยเหตุผลของการเป็นบริษัทขนาดใหญ่
ที่มีธุรกิจในหลากหลายรูปแบบ 
การแตกไลน์ธุรกิจใหม่ๆ ของเครือสหพัฒน์ 
การเข้ามาสู่ธุรกิจค้าปลีกแบบเต็มตัว 
จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองไม่น้อย
.
ก่อนหน้านั้น เครือสหพัฒน์ 
เคยลงทุนร้านค้าปลีกของตัวเอง
ภายใต้ชื่อ “ร้าน 108 ช็อป” 
ซึ่งเป็นร้านค้าปลีกคอนวีเนียนสโตร์ 
และยังมีการเปิดช็อปแบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำ
ในเครืออีกด้วย
.
นอกจากร้านคอนวีเนียนสโตร์แล้ว 
เครือสหพัฒน์ยังมีการขยายฐานธุรกิจ
ในร้านค้าปลีกเพอร์ซันนั่ลแคร์และดรักสโตร์ 
โดยสร้างร้านซูรูฮะ ซูเปอร์ ดรักสโตร์ ในประเทศไทย
.
จากกลยุทธ์ ที่ยักษ์ใหญ่ทั้ง 3 ค่ายทำ
คือการเพิ่มอำนาจการต่อรองให้เพิ่มขึ้น 
แม้ผู้ประกอบการค้าปลีกเอง 
จะพยายามทำตลาดในรูปแบบ
ของการจับมือร่วมกับซัพพลายเออร์มากขึ้น 
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ถึงผลกระทบ
ที่จะเกิดขึ้นกับสินค้าที่ไม่ใช่แบรนด์หลักๆ 
ที่ติดอันดับ 1 ใน 3 ที่จะโดนบีบพื้นที่
ของตัวเองให้เหลือน้อยลงเรื่อยๆ
.
สิ่งเหล่านี้ทำให้ซัพพลายเออร์
พยายามที่จะหากลวิธีต่างๆ เข้ามา
เพื่อบาลานซ์อำนาจการต่อรอง 
แนวทางแรก...การไล่ซื้อแบรนด์ต่างๆ 
เข้ามาเพิ่มใน Portfolio 
เป็นแนวทางที่ซัพพลายเออร์
ยักษ์ใหญ่ระดับโลกนิยมทำ  
อาทิ ค่ายพีแอนด์จี 
ที่ไล่ซื้อแบรนด์ต่างๆ มากมาย 
.
แนวทางที่ 2...กลยุทธ์การตลาด
เพื่อสร้างให้แบรนด์ขอวตน
ให้ก้าวขึ้นมาติดอันดับ 1  - 3 
เพื่อให้เกิดความต้องการจากลูกค้า 
สิ่งนี้จะทำได้ ต้องมีระบบการกระจายสินค้าที่ดี 
เพื่อลดโอกาสที่สินค้าจะขาดหายไปจากเชลฟ์
ถ้าสินค้าขาด อาจเกิดการเปลี่ยนแบรนด์ได้
.
แนวทางที่ 3...ทำหน้าที่เป็นร้านค้าปลีก หรือทำตัวเป็นรีเทลเลอร์เอง 
ซึ่งเป็ยแนวทางที่ทั้ง 3 ค่าย กำลังทำอยู่
เพราะนอกจากการมีช่องทาง
ในการขายสินค้าของตัวเองแล้ว 
สิ่งที่ตามมายังมีอีกมากมาย 
ไม่ว่าจะเป็นการต่อยอดไปสู่การสร้างรายได้
จากธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 
หรือการสัมผัสกับผู้บริโภคโดยตรง
ทำให้ได้ข้อมูลที่พฤติกรรมของผู้บริโภค
ที่สามารถอัพเดทได้แบบเรียลไทม์
.
นี่คือแนวทางการเข้ามาทำธุรกิจค้าปลีก
ของซัพพลายเออร์รายใหญ่ๆ 
ที่จะปรับทิศทางมาแบบนี้มากขึ้น 
และถูกบรรจุเป็นยุทธศาสตร์หนึ่ง
ในการสร้างการเติบโตในระยะยาวนั่นเอง
.
ChatTalks…คุยธุรกิจ คิดให้เป็น
www chattalks.info
www.facebook.com/chatchaitalk
Tel.092-387-1241 , Line ID : ChatTalks
Email : kittisak1241@yahoo.com

ความคิดเห็น

บทความที่มีคนอ่านมากที่สุด

มิติใหม่! ขายได้แม้ยังไม่เปิดตัว ลูกค้าซื้อเพนท์เฮ้าส์ 500 ล้านบาท ของแสนสิริ บนทำเลทองชิดลม

ศูนย์การค้าต่างพร้อมใจตกแต่งสถานที่ เพื่อร่วมต้อนรับเดือนแห่งความหลากหลายและความเท่าเทียม ในเทศกาล Pride Month

ฮาลั่น....ไม่รู้จักได๋ ไดอาน่า

เปิดวิสัยทัศน์ วินฟาสต์ ไทย-อาเซียน ประสบการณ์ลูกค้าคือ สมรภูมิใหม่ EV

'Nano' เปิดตัวสินค้ากลุ่มแสงสว่าง ตั้งเป้าปี 68 รายได้ทะลุ 2,000 ล้านบาท