ร้านกาแฟในปั๊มน้ำมัน ยังแข่งเดือด จนเชื้อสาด!!
ท่ามกลางการซื้อกิจการร้านกาแฟฝุ่นตลบ
สะท้อนให้เห็นว่า ธุรกิจร้านกาแฟ
ยังคงเป็นที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน
และทำเลทองที่น่าจับตาของธุรกิจร้านกาแฟ
ย่อมหนีไม่พ้น “ปั๊มน้ำมัน”
เห็นได้จากการเปิดร้านกาแฟ
ในทุกปั๊มทุกแบรนด์
เพื่อให้เป็นแม่เหล็กดึงลูกค้าให้เข้าใช้บริการ
.
การดึงร้านกาแฟเปิดให้บริการในปั๊มน้ำมัน
ถือเป็นธงที่สถานีบริการน้ำมันทุกรายต้องทำ
เพื่อที่จะสร้างรายได้จากธุรกิจนอนออยล์
หรือรายได้จากธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน
เนื่องจากน้ำมันเป็นธุรกิจที่กำไรน้อยมาก
และยังต้องการสร้างความครบวงจรอีก
ด้วยการมีสินค้าและบริการที่หลากหลาย
เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า
เพื่อให้เกิดการเข้ามาใช้บริการซ้ำ
จนทำให้ปัจจุบัน ภาพของสถานีน้ำมัน
กลายร่างเป็นคอมมูนิตี้มอลล์ย่อมๆ ก็ว่าได้!!!
ร้านกาแฟและปั๊มน้ำมัน
จึงกลายเป็นของคู่กัน
ชนิดที่ขาดไม่ได้เลยทีเดียว
.
เริ่มจากพี่ใหญ่ ปั๊ม ปตท.
ที่ปลุกปั้นร้านกาแฟแบรนด์ของตัวเอง
คือ คาเฟ่อเมซอน ที่ตอนนี้
ได้ขยายสาขาออกนอกปั๊ม
ตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ
ทั้งรูปแบบลงทุนเปิดเอง และขายแฟรนไชส์
จนทำให้ปัจจุบัน เป็นเชนร้านกาแฟ
ที่มีจำนวนสาขามากที่สุดในประเทศไทย
และขยายสาขาไปต่างประเทศแล้วด้วย
.
ในปี 2561 รายได้ของร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอน
คาดว่าอยู่ที่ 12,820 ล้านบาท
ด้วยยอดขายรวมกว่า 180 ล้านแก้ว
และในปี 2562 นี้ อเมซอน
จะมีจำนวนสาขารวมกันกว่า 3,000 สาขา
แบ่งเป็นในไทย ขณะนี้มี 2,509 สาขา
เป็นร้านรูปแบบขายแฟรนไชส์ 85%
และอีก 15% บริษัทลงทุนเอง
และในต่างประเทศเปิดบริการแล้ว 193 สาขา
.
นอกจากนี้ ในปี 2565
ปตท.ตั้งเป้าหมายต้องมีสาขากว่า 4,000 แห่ง
ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
โดยปัจจุบันเปิดแล้วใน 7 ประเทศ
ได้แก่ กัมพูชา ลาว ฟิลิปปินส์ พม่า
โอมาน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย
และยังอยู่ระหว่างศึกษาตลาดจีน
และเวียดนามอีกด้วย
.
ตามแผนงาน 3 ปีจากนี้ (2562-2564)
ตั้งเป้าเปิดร้านคาเฟ่ อเมซอน
เฉลี่ยปีละ 400 สาขา!!
เพื่อสร้างให้ "คาเฟ่ อเมซอน"
เป็นแบรนด์ร้านกาแฟระดับโลก
ซึ่งขณะนี้ก็ต้องบอกว่าไม่ไกลเกินเอื้อมแล้ว
เพราะขยายสาขาได้มากกว่าปั๊ม ปตท. อีกด้วย
.
มาถึงมวยรองอย่างร้านกาแฟ “อินทนิล”
ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ปตท. เหมือนกัน
ปัจจุบันตั้งอยู่ในปั๊มน้ำมันบางจาก
เปิดบริการแล้ว 550 แห่ง ณ สิ้นปี 2561
ส่วนปีนี้วางแผนเพิ่มอีก 200 แห่ง
ทำให้มีร้านอินทนิลในปั๊มบางจาก
รวมเป็น 750 แห่งในสิ้นปี 2562
.
ต้องบอกว่า ร้านกาแฟ “อินทนิล”
ใช้โรดแมปการธุรกิจเดียวกับคาเฟ่อเมซอน
เพราะนอกจากการขยายในปั๊มแล้ว
ยังเริ่มขยายสาขาออกนอกปั๊ม
รวมถึงมองไกลการขยายสาขาในต่างประเทศ
ที่วางแผนเปิดประมาณ 50 สาขา
ตามแผนงาน 5 ปี (ปี2561-2565) อีกด้วย
ปัจจุบันร้านอินทนิล มีสาขามากเป็นอันดับ 2
ในทำเลปั๊มรองจาก คาเฟ่ อเมซอน
.
แต่ที่น่าจับตามากที่สุดสำหรับปีนี้คือ ปั๊มพีที
ถือว่าเป็นน้องใหม่มาแรงสุดๆ
จากแผนขยายสาขาปั๊ม
พีทีตั้วเป้าถึง 2,000 สาขาในปีนี้
จากเดิม 1,884 สาขา
นั่นหมายความว่าปั๊มพีที
จะตีตื้นขึ้นมาวัดรอยเท้าพี่ใหญ่
อย่าง ปตท.เลยทีเดียว
.
ปั้ม PT จะมีแบรนด์ร้านกาแฟ “พันธุ์ไทย”
ที่เปิดให้บริการแล้ว 204 สาขา
โดยใช้รูปแบบแฟรนไชส์
วางแผนขยายสาขาปีนี้เพิ่มอีก 130 สาขา
แบ่งเป็นสาขารูปแบบร้านแฟรนไชส์ 100 สาขา
และพีทีจีลงทุนเอง 30 สาขา
พร้อมทั้งวางเป้าหมายระยะยาวปี 2566
จะเปิดเพิ่มเป็น 1,170 สาขา
แบ่งเป็นร้านที่ลงทุนเอง 400 สาขา
และร้านแฟรนไชส์ 770 สาขา
ทำให้ร้านกาแฟพันธุ์ไทย
จะแซงหน้าร้านกาแฟอินทนิล
ขึ้นแท่นอันดับสองภายใน 4 ปีจากนี้!!
.
อีกค่ายคือปั๊มเชลล์
ที่ปั้นร้าน “เดลี่คาเฟ่” ไว้เปิดบริการ
ปัจจุบันจะยังมีสาขาเพียง 55 สาขา
แต่จากแผนงาน วางไว้จะเปิดเพิ่ม
ปีละไม่ต่ำกว่า 30 สาขา
จากจากจำนวนปั้มที่มีอยู่ 520 ปั๊มทั่วประเทศ
สะท้อนได้ว่า ร้านกาแฟเดลี่คาเฟ่
ยังมีทำเลที่สามารถขยายสาขาได้อีกมาก
.
ขณะที่ คาลเท็กซ์
ได้จับมือกับ กลอเรีย จีนส์ คอฟฟี่
กาแฟพรีเมี่ยมสัญชาติออสเตรเลีย
พัฒนาคอนเซ็ปต์และแบรนด์ใหม่
ภายใต้ชื่อ “เอ็กเพรสโซ่ บาย กลอเรีย จีนส์”
ซึ่งแบรนด์นี้ เปิดเฉพาะในปั๊มคาลเท็กซ์เท่านั้น
ขณะนี้ ประเดิมเปิดในปั๊มคาลเท็กซ์แล้ว 5 แห่ง
พร้อมตั้งเป้าหมายจะเปิดสาขาต่อเนื่อง
โดยประเดิมจาก 30 แห่งปีนี้
จากจำนวนปั๊มคาลเท็กซ์ที่มีอยู่กว่า 420 แห่ง
.
ปัญหาของการขยายตัวในปั๊มคาลเท็กซ์
คือ คาลเท็กซ์ มีร้านกาแฟหลายแบรนด์
อาทิ Munch Coffee, Rabika coffee,
ร้านกาแฟ ดิโอโร่ (Caffè D´Oro)
ซึ่งต้องทยอยให้หมดสัญญา
จึงเปิดร้านเอ็กเพรสโซ่ บาย กลอเรีย จีนส์ได้
แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังถือว่า
สาขาปั๊มคาลเท็กซ์ เป็นขุมทองสำคัญ
ของ กลอเรีย จีนส์ คอฟฟี่ ในการขยายสาขา
เพื่อจับตลาดได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
.
ปิดท้ายกันที่ “ปั๊มเอสโซ่”
ซึ่งมีจำนวนปั๊มอยู่ที่ 608 สาขา
และตั้งเป้าเปิดเพิ่มอีก 30-40 สาขาในปี 2562
ซึ่งจะเห็นได้ว่าในแง่สาขายังมากกว่าคาลเท็กซ์
แต่ร้านกาแฟในปั๊มเอสโซ่
จะมีหลากหลายแบรนด์
เช่น Rabika coffee, ร้านกาแฟ ดิโอโร่
.
ก้าวสำคัญของเอสโซ่
คือ การจับมือกับ “สตาร์บัคส์”
ประเดิม 3 สาขาแรกแล้ว
ที่บางบัวทอง, วังมะนาว และกาญจนบุรี
แต่ด้วยภาพลักษณ์ของ “ร้านสตาร์บัคส์”
ทำให้ไม่สามารถเปิดได้ในทุกสาขาของเอสโซ่
จึงต้องเปิดเฉพาะในสาขาปั๊มเอสโซ่
ที่ยกระดับปรับใหม่เป็นพรีเมียมเท่านั้น
.
จะเห็นได้ว่า ร้านกาแฟ
ยังคงเป็นจุดขายหลักที่ช่วยดึงคน
ให้เข้ามาใช้บริการในปั๊ม
ขณะที่ปั๊มน้ำมันเอง
ก็เป็นทำเลทองสำหรับแบรนด์กาแฟ
ที่จะใช้เป็นโอกาสในการขยายสาขาเช่นกัน
จึงเรียกได้ว่า วิน-วิน ทั้งสองฝ่าย
.
และสำหรับผู้บริโภคเอง
นอกจากสภาพแวดล้อมปั๊มที่น่าเข้าใช้บริการ
อย่าง ห้องน้ำ มินิมาร์ท ร้านอาหารแล้ว
ร้านกาแฟก็เป็นอีกสิ่งสำคัญ
ที่ผู้บริโภคเลือกเช่นกัน
เฮ่ย! มันเป็นแบบนี้ได้ไงฟ่ะ!
.
ChatTalks…คุยธุรกิจ คิดให้เป็น
www chattalks info
www.facebook.com/chatchaitalk
Tel.092-387-1241 , Line ID : ChatTalks
Email : kittisak1241@yahoo.com
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็นต่อบทความนี้