"สเวนเซ่นส์" ขอขายเครื่องดื่มครีมไข่ แตกแบรนด์ SIP โมเดลป็อปอัพสโตร์
.ขายไอศกรีมมา 37 ปี ปีนี้สเวนเซ่นส์ขอออกจากเซฟโซนด้วยการออกมาขายเครื่องดื่มบ้าง ก่อนหน้านี้สเวนเซ่นส์ได้เริ่มครีเอทเมนูอื่นๆ ให้นอกเหนือจากไอศกรีมทั้งบิงซู กาแฟ วาฟเฟิลต่างๆ เพื่อสร้างความหลากหลาย แต่เมนูชูโรงก็ยังเป็นไอศกรีมอยู่ดี
.
แต่ไอศกรีมขึ้นชื่อว่าเป็นขนมหวาน ไม่ใช่อาหารที่ทานเป็นมื้อหลัก หลายคนมองว่าเป็นเมนูสำหรับเฉลิมฉลองด้วย กลายเป็นว่าไอศกรีมจึงถูกเลือกเป็นเมนูของหวานปิดท้ายอาหารคาว ส่วนใหญ่จะทานเป็นมื้อเย็น หรือเป็นช่วงเวลาเฉลิมฉลองของครอบครัว เพื่อนๆ เสียมากกว่า
โอกาสในการทาน หรือความถี่ในการทานจึงไม่ได้เยอะมาก
.
โจทย์ใหญ่ของสเวนเซ่นส์ในตอนนี้จึงอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรจะเพิ่มโอกาสในการทานให้ผู้บริโภคได้?
.
ถึงแม้ว่าสเวนเซ่นส์จะมีความพยายามพลักดันเมนูเครื่องดื่มต่างๆ ภายในร้าน แต่ก็มิได้นำพาเท่าไหร่นัก เพราะลูกค้าที่มาสเวนเซ่นส์ก็จะสนใจแต่ไอศกรีม ซึ่งการที่แบรนด์โฟกัสอยู่แค่เมนูไอศกรีมอย่างเดียวก็ไม่สามารถเพิ่มอัตราการบริโภคได้เลย แม้จะกระตุ้นด้วยโปรโมชั่น หรือเมนูใหม่ๆ ก็ตาม แต่จะให้แบรนด์ไปโฟกัสที่เมนูอื่นๆ มากเกินไป ก็ทำให้เสียจุดแข็งที่ไอศกรีมอีกอยู่ดี
.
คำตอบจึงออกมาที่ว่า แตกแบรนด์ใหม่ โดยที่โฟกัสที่เครื่องดื่มโดยเฉพาะ สเวนเซ่นส์จึงเปิดตัวแบรนด์ SIP แบรนด์เครื่องดื่มครีมไข่ ซึ่งเป็นการพัฒนาขึ้นเอง ไม่ได้เป็นแบรนด์แฟรนไชส์แต่อย่างใด เปิดเป็นโมเดลป๊อปอัพสโตร์แห่งแรกที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว
.
อนุพนธ์ นิธิยานันท์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท สเวนเซ่นส์ (ไทย) จำกัด เล่าว่า
"จริงๆ เรามองกลุ่มเครื่องดื่มมานานแล้ว กลุม่นี้จะมาๆ ไปๆ อยู่ตลอดเวลา เห็นความเป็นไปตลอด 10 ปี ปัจจุบันตลาดเครื่องดื่มมีความพรีเมียมมากขึ้น ซึ่งถ้าพูดถึงสเวนเซ่นส์คนจะนึกถึงไอศกรีม โอกาสทานมันน้อยอาจจะแค่สัปดาห์ละครั้ง แต่เครื่องดื่มสามารถทานได้ทุกวัน และทั้งวัน วันละหลายแก้วได้" เครื่องดื่มกินได้ทุกวัน ไอติมอาจจะทานได้สัปละครั้ง"
.
แบรนด์นี้ใช้เวลาในการพัฒนาอยู่ราวๆ 6-7 เดือน ในตอนแรกที่คิดจะทำร้านเครื่องดื่ม ก็คิดกันว่าจะเป็นเครื่องดื่มอะไร เพราะมีเครื่องดื่มหลากหลายเต็มตลาด ทั้งกาแฟ ชานมไข่มุก จึงต้องสร้างความแตกต่าง จนได้ข้อสรุปที่เครื่องดื่ม "ครีมไข่"
.
"ตอนแรกก็ขบคิดกันว่าจะทำอะไรกันดี เพราะเครื่องดื่มเต็มตลาด ชานมก็แข่งกันเยอะมาก ถ้าไปทำเครื่องดื่มที่เหมือนคนอื่นแล้วจะทำทำไม ต้องแตกต่างในตลาด จึงเดินทางไปหาแรงบันดาลใจที่ต่างประเทศ หาเครื่องดื่มที่ไม่มีในไทยมาก่อน จนไปเจอที่เวียดนาม เป็นเมนูกาแฟร้อนที่กินกับไข่แดง เป็นเครื่องดื่มที่มีเทคเจอร์ เข้มข้น เลยเริ่มต้นพัฒนาเครื่องดื่มไข่มาผสมกาแฟก่อน"
.
จนพัฒนาออกมาเป็น 28 เมนู เลือกเมนูที่ขายดีในไทยทั้งเบสชา เบสนม เบสกาแฟ พัฒนาสูตรเป็นไข่ผสมครีมสูตรพิเศษ มีลักษณะคล้ายครีมชีส ในไทยยังไม่มีใครทำ
.
มีราคาเริ่มต้นที่ 99-139 บาท อนุพนธ์บอกว่าเป็นราคาที่สมเหตุสมผลกับโลเคชั่นที่เซ็นทรัล ลาดพร้าว เพราะเครื่องดื่มแบรนด์อื่นๆ ก็อยู่ในราคาเฉลี่ยมากกว่า 100 บาทขึ้นไป
.
ส่วนที่มาที่ไปของชื่อแบรนด์ SIP เป็นคอนเซ็ปต์ของการจิบ ยกจิบเครื่องดื่ม จะได้ทั้งน้ำ และครีมในคำเดียว โดยจะมีคำว่า By Swensen's ห้อยท้ายอยู่ตัวเล็กๆ แต่ไม่ได้นำมาสื่อสารมากนัก
.
จริงๆ ก่อนหน้านี้สเวนเซ่นส์เคยทำโมเดลป๊อปอัพสโตร์มาแล้ว แต่มีประสบการณ์ที่ไม่ค่อยสู้ดีมากนัก ภายใต้แบรนด์ Sweet Aholic by Swensen’s คอนเซ็ปต์คาเฟ่ขนมหวาน จับกระแสครัวซองต์ฟีเวอร์มาเป็นเมนูหลัก เปิดตัวเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2563 ที่สามย่านมิตรทาวน์ แต่หลังจากเปิดไม่มีวันก็โดนโควิดระลอก 2 ซัดเข้าให้ มีการประกาศล็อกดาวน์ จนต้องปิดร้าน หลังจากนั้นมาเปิดอีกทีที่แฟชั่น ไอส์แลนด์หลังสถานการณ์โควิดดีขึ้น ก็เจอโควิดเล่นงานอีกรอบเช่นกัน
.
บทเรียนในการเปิดป๊อปอัพ สโตร์ในครั้งก่อนอาจจะไม่ได้บอกอะไรมาก เพราะว่าดันเจอวิกฤตการณ์เสียก่อนที่จะประเมินว่าแบรนด์ไหว หรือไม่ไหว การเปิด SIP ในครั้งนี้ก็เหมือนต้องทำการทดลองตลาดใหม่เช่นกัน
.
สเวนเซ่นส์จึงเลือกโลเคชั่นที่เซ็นทรัล ลาดพร้าว เพราะการันตีด้วยทราฟิกคนเข้าศูนย์ และกำลังซื้อของคนที่เดินศูนย์ ซึ่งเซ็นทรัล ลาดพร้าวเป็นหนึ่งศูนย์การค้าที่ไม่ว่ากี่ยุคกี่สมัยก็แรงดีไม่มีตก เพราะรายล้อมด้วยอาคารสำนักงาน โรงเรียน มหาวิทยาลัย จุดยุทธศาสตร์ในการเดินทาง มีทั้งรถไฟฟ้า BTS และ MRT รวมไปถึงเป็นศูนย์การค้าแห่งใหญ่ที่สุดในระแวกนั้นอีกด้วย
.
สำหรับร้าน SIP จะเปิดร้านเพียงแค่ 2 เดือน ตั้งแต่วัน 27 พ.ค. - 26 ก.ค. เท่านั้น หลังจากนั้นจะประเมินดูว่าจะขยายสาขาต่อหรือไม่ โดยเกณฑ์ที่จะนำมาประเมินนั้นอยู่ที่ว่าลูกค้าต้องยอมรับ เกิดการมาซื้อซ้ำ โดยจะมีเป้าหมายอยู่ว่ารายได้ในแต่ละวันต้องอยู่ที่เท่าไหร่
.
โมเดลป๊อปอัพสโตร์ก็เหมือนกับการทดลองตลาด และการคิดแบบสตาร์ทอัพ ต้อง Move Fast Fail Fast มีการคิดเร็ว ทดลองเร็ว เพื่อที่รู้ว่าปัง หรือพัง ล้มเร็ว ก็ลุกขึ้นมาเร็วได้ ถ้าแบรนด์ไปต่อไม่ไหวก็จะได้ไม่ทำต่อ แต่ถ้าประสบความสำเร็จก็จะต่อยอดในการขยายสาขาอย่างจริงจัง
.
อนุพนธ์บอกว่า ในเคสที่แย่ที่สุด ถ้าร้านไม่ปังอย่างที่คิด.... ก็อาจจะดึง 3 เมนูขายดีที่สุดของ SIP มาขายในร้านสเวนเซ่นส์ ก็ไม่ได้เสียหายอะไร
#Swensens #SIPbySwensens #เครื่องดื่มครีมไข่ #PositioningOnline
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็นต่อบทความนี้