อิชิตัน’ บริหารผลิต เล็งเท 1,500-2,000 ล้านบาท ผุดโรงงานใหม่
การขายดีหรือ Demand ตลาดเครื่องดื่มชาเขียวกลับมาคึกคัก การเติบโตจนครองแชมป์ในหมวดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ติดต่อกัน 3 ปี กลายเป็น “ปัญหา” ที่ผู้ผลิตต้องบริหารจัดการ
ตัน ภาสกรนที ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้อำนวยการ อภิชาติ สุขจิรวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการสายการเงินและบัญชี และธนพันธุ์ คงนันทะ รองกรรมการผู้จัดการสายงานธุรกิจเครื่องดื่ม บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแผนธุรกิจ ตลอดจนภาพรวมตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลงลึกหมวดย่อยชาเขียวพร้อมดื่มปี 2566
เมื่อขายดีมีปัญหา
สถานการณ์ตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ครึ่งปีแรกมีมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท หมวด “ชาเขียวพร้อมดื่ม” เติบโตสูงสุด 19.1% ซึ่งตัวเลขอัตรา 2 หลัก ไม่ได้เห็นมาหลายปี ยิ่งกว่านั้นการโตกว่าทุกหมวด ยังติดต่อกัน 3 ปีซ้อนด้วย และไม่เพียงแค่มูลค่าหรือวัดจากราคาขายที่โต ปริมาณการบริโภคยังหนุนการขายเชิงปริมาณขยายตัว 16.8%
“อิชิตัน” ขายดีกว่านั้น เพราะยอดขายเติบโตสูงกว่าตลาดรวม ไตรมาส 2 สร้างยอดขาย 2,029.7 ล้านบาท เติบโต 25.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนครึ่งปีแรกโกยยอดขาย 3,862.3 ล้านบาท เติบโต 26.3%
“ในดีมีเสีย ในเสียมีดี บางครั้งการขายดีก็เป็นปัญหา เราต้องบริหารจัดการการผลิต จัดสรรการผลิตสินค้าให้ถูก เพื่อไม่ให้กระทบ หรือเสียหายในอนาคต”
อิชิตัน มีกำลังการผลิตเครื่องดื่ม 1,500 ล้านขวดต่อปี หรือใช้กำลังการผลิตล่าสุดราว 70% ไม่สามารถใช้เต็ม 100% เพราะโรงงานไม่ได้ผลิตสินค้าเพียงรายการเดียว แต่ต้องบริหารพอร์ตโลิโอ ทั้งขนาดหรือไซส์สินค้า เครื่องดื่มแต่ละประเภท บริหารการผลิตสินค้าขายดี สินค้าทำกำไรสูง รวมถึงสินค้าที่จะเติบโตในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นชาเขียวพร้อมดื่มอิชิตัน เครื่องดื่มสมุนไพรเย็นเย็น อิชิตันน้ำด่าง รวมถึงชาเขียวขวดใหญ่ เป็นต้น ทำให้ 30% เป็นการสำรองเพื่อสับเปลี่ยนกระบวนการผลิตนั่นเอง
ทุ่ม 460 ล้านบาท แก้เกมผลิต เล็งเท 1,500-2,000 ล้านบาท สร้างโรงงานใหม่
เมื่อสินค้าขายดี จนเกิดภาวะ “ขาดตลาด” การส่งมอบให้ลูกค้าไม่ได้ตามที่ออเดอร์บ้าง ส่งช้าบ้าง บริษัทจึงแก้เกมด้วยการจ้างผลิต(โออีเอ็ม)กับค่ายยูโรเปี้ยน ฟู้ด คู่ค้าที่เคยจ้างผลิตช่วงที่บริษัทกำลังสร้างโรงงาน
“ซัพพลายสินค้ายังไม่พอขายเล็กน้อย ตอนนี้เรามีออเดอร์เก่าค้างต้องผลิตให้ลูกค้ามูลค่า 100 ล้านบาท กระแสสินค้าขาดตลาด น่ากลัว เพราะทำให้ลูกค้ายิ่งสั่งเยอะขึ้น ต้องกระจายและส่งสินค้าให้ทัน แต่ก็ต้องขอโทเพราะยังส่งได้ไม่ทั่วถึง”
การขายดีของเครื่องดื่มอิชิตัน เช่น ช่องทางร้านค้าทั่วไปและสินค้าเกือบทุกรายการ(SKUs) สินค้าขายออกจากร้านเพิ่มขึ้นเป็น 44 ขวดจาก 34 ขวด หรือเติบโต 30% อัตราการการะจายสินค้าครอบคลุมถึง 60% จาก 50% เจาะร้านค้าได้หลัก “แสนจุด” ทั่วประเทศ
นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัท(บอร์ด)ยังเคาะอนุมัติงบลงทุน 460 ล้านบาท เพื่อซื้อเครื่องจักรใหม่สำหรับบรรจุเครื่องดื่ม จะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตอีก 200 ล้านขวดต่อปี เป็น 1,700 ล้านขวดต่อปี
“การติดตั้งเครื่องจักรจะแล้วเสร็จไตรมาส 4 ปี 2567”
สเต็ปถัดไป จะเห็นการลงทุนใหญ่ 1,500-2,000 ล้านบาท สร้างโรงงานแห่งใหม่ บนพื้นที่ 70 ไร่ ซึ่งบริษัทซื้อที่ดินตระเตรียมไว้ตั้งแต่ 7-8 ปีก่อน ขณะที่โรงงานเดิมยังมีพื้นที่เหลือราว 6 ไร่ รองรับการผลิตสินค้าได้อีก
“โรงงานใหม่จะใช้เงินลงทุน 1,500-2,000 ล้านบาท ซึ่งตอนนั้นบริษัทคงมียอดขายเกินหมื่นล้านบาท(เป้าหมายปี 2568) จึงไม่น่าจะมีปัญหาทั้งเงินสด กำไร และการสร้างยอดขาย”
ปรับเป้ายอดขายปี 66 แตะ 7,600 ล้านบาท
ยอดขายไตรมาส 2 ทำนิวไฮติดต่อกัน 29 ไตรมาส และหวังต่อว่าไตรมาส 3 จะทำนิวไฮต่อเป็นไตรมาสที่ 30 เพราะผ่านครึ่งทางเห็นการฟื้นตัวอย่างดี และสัญญาณยอดขายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา อิชิตัน ยังเติบโตไม่ต่ำกว่า 25% โดยแรงหนุนตั้งแต่ต้นปีคือปัญหาภัยแล้ง ปรากฏการณ์เอลนีโญ การท่องเที่ยวกลับมากระตุ้นการบริโภคเพิ่ม เป็นต้น
ทั้งนี้ บริษัทจึงปรับเป้าหมายยอดขายปี 2566 ให้เป็น 7,600 ล้านบาท เติบโต 20% จากเป้าเดิมตั้งไว้ 7,300 ล้านบาท
กลยุทธ์สานเป้าโตครึ่งปีหลัง อิชิตัน ยังบุกหนักทำตลาด เสริมทัพด้วยน้ำอัดลมสไตล์เกาหลี “ตันซันซู” ออกรสชาติน้ำผึ้งมะนาวให้มีความ Mass ขึ้น และยังใช้นักมวยญี่ปุ่น “โคตะ มิอูระ” สร้างการรับรู้ให้กับชาเขียวพรีเมียม “ชิซึโอกะ” ส่วนอิชิตันน้ำด่าง จะไทอินกับรายการดัง เพื่อให้ความรู้กับกลุ่มผู้บริโภครักสุขภาพ เป็นต้น
ด้านสถานการณ์ต้นทุนการผลิตเครื่องดื่มครึ่งปีหลัง วัตถุดิบบางอย่างราคาอ่อนตัวลง แต่พลังงานมีราคาสูงขึ้น การจ้างผลิตมีต้นทุนเพิ่ม แต่บริษัทมุ่งบริหารจัดการต้นทุน บริหารพอร์ตสินค้าทำกำไรให้เหมาะสม และปัจจุบันยืนยันไม่มีแนวโน้มจะปรับขึ้นราคาสินค้า
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็นต่อบทความนี้