‘ทีพีซี’ รีแบรนด์ครั้งใหญ่รอบ 20 ปี เปิด 4 แพ็กเกจใหม่ บัตรแพงสุด 5 ล้านบาท
บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด ผู้ดำเนินโครงการบัตรสมาชิกพิเศษ “ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด” ภายใต้การกำกับดูแลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ปรับโฉมองค์กรใหม่ภายใต้วิสัยทัศน์การเป็นผู้นำระดับโลกที่ให้บริการด้านสิทธิพิเศษแก่บุคคลสำคัญเพื่อการพำนักระยะยาวในประเทศไทย
นายมนาเทศ อันนวัฒน์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด (ทีพีซี) เปิดเผยว่า ในวาระครบรอบการดำเนินงาน 20 ปี บริษัทฯ ได้รีแบรนด์บัตรสมาชิกพิเศษจาก “ไทยแลนด์ อีลิท คาร์ด” (Thailand Elite Card) เป็น “ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด” (Thailand Privilege Card) ด้วยการยกเลิกจำหน่ายบัตรสมาชิกเดิม 8 ประเภท พร้อมเปิดตัวผลิตภัณฑ์บัตรภายใต้ 4 แพ็กเกจใหม่ และมีการปรับราคาขึ้นจากเดิม โดยบัตรราคาต่ำสุด-สูงสุดของแพ็กเกจเดิม ราคาเริ่มต้นที่ 6 แสนบาท – 2 ล้านบาท แต่บัตรราคาต่ำสุด-สูงสุดของแพ็กเกจใหม่ ราคาเริ่มต้นที่ 9 แสนบาท – 5 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้เพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ครั้งใหญ่เพื่อต้อนรับชาวต่างชาติผู้ที่ต้องการย้ายมาพำนักระยะยาวในประเทศไทยและมีความต้องการด้านไลฟ์สไตล์แบบหรูหรา (Luxury Lifestyles) ที่หลากหลาย ให้ได้รับความพึงพอใจสูงสุดและความสะดวกสบาย ครบครันทั้งสิทธิประโยชน์สนามบินด้านต่างๆ การท่องเที่ยว พักผ่อน สิ่งอำนวยความสะดวก กิจกรรม การลงทุน และอื่นๆ
++ ยอดสมาชิกบัตรสะสมกว่า 31,500 คน ++
ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ได้ปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ในหลายมิติที่สำคัญ อาทิ การดีไซน์รูปแบบโลโก้ใหม่ ให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น การปรับโฉมชุดพนักงานใหม่ ภายใต้แบรนด์ดีเอ็นเอ “GRACE” ของบริษัทฯ ที่มุ่งพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์และบริการโดยคนไทย รวมทั้งสร้างมูลค่าทางธุรกิจนำรายได้เข้าประเทศ และตอกย้ำภาพลักษณ์องค์กรผู้นำระดับสากล
หลังจากการดำเนินงานของ ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ได้พัฒนาบริการและนำเสนอผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมชาวต่างชาติที่ต้องการพำนักในไทยระยะยาวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเป็น Residency Campaign เพียงรายเดียวในโลกที่ให้สิทธิทางด้านวีซ่าพร้อมบริการ Airport Services และ Lifestyle Privileges
“ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ สร้างรายได้เข้าประเทศแล้วกว่า 50,000 ล้านบาท มีจำนวนสมาชิกบัตรรวมกว่า 31,500 คน โดยในปี 2566 มีรายได้ประมาณ 7,500 ล้านบาท มีสมาชิกเพิ่มขึ้นกว่า 11,500 คน เติบโต 210% จากรายได้ปี 2565 และจำนวนสมาชิกเกินกว่าเป้าที่ตั้งไว้ที่ 10,000 คน ได้เป็นบริษัทที่สามารถทำกำไร และได้ส่งรายได้คืนให้ ททท. ในฐานะเป็นบริษัทแม่แล้วจำนวน 765 ล้านบาท มากกว่าทุนจดทะเบียนที่ ททท.ให้มา 700 ล้านบาท”
++ แพ็กเกจใหม่ ‘RESERVE’ ราคาบัตรสูงสุด 5 ล้านบาท++
นายมนาเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสิทธิประโยชน์รูปแบบใหม่ของ ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด ภายใต้แนวคิด “More Choices More Freedom” โดยสมาชิกแต่ละประเภทจะได้รับคะแนน (Privilege Points) เพื่อแลกรับสิทธิประโยชน์และประสบการณ์สุดพิเศษเหนือระดับตามความต้องการ โดยแบ่งบัตรสมาชิกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
ประเภทที่ 1 RESERVE (รีเซิร์ฟ) อัตราค่าธรรมเนียม 5 ล้านบาท อายุการเป็นสมาชิก 20 ปีขึ้นไป สำหรับการเข้าออกประเทศไทยระยะยาว และสามารถต่ออายุได้ครั้งละ 5 ปี พร้อมรับคะแนนสะสมปีละ 120 คะแนน เพื่อนำไปใช้แลกสิทธิพิเศษที่เหนือระดับ ทั้งด้านที่พัก การอำนวยความสะดวกการเดินทาง การลงทุน การดูแลสุขภาพและอื่นๆ โดยเป็นบัตรเพียงประเภทเดียวที่ผู้สมัครต้องได้รับการเชิญเท่านั้น (By Invitation Only) และจำกัดจำนวนสมาชิกปีละไม่เกิน 100 คนเท่านั้น
“บัตรสมาชิกประเภท RESERVE จะมีราคาสูงที่สุดแบบที่ไม่เคยทำมาก่อน เป็นบัตรเพียงประเภทเดียวที่ผู้สมัครต้องได้รับการเชิญเท่านั้น และจำกัดจำนวนสมาชิกปีละไม่เกิน 100 คนเท่านั้น สามารถต่ออายุได้ครั้งละ 5 ปี จ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่ม 10% ต่อปีของมูลค่าบัตร ณ เวลานั้น โดยอาจจะเป็นสมาชิกที่รัฐบาลเชิญ หรือเป็นบรรดาเจ้าสัว หรือใครก็ได้ขอให้สมัครมา แต่ทางบริษัทฯ มีสิทธิที่จะให้หรือไม่ให้ก็ได้”
ประเภทที่ 2 DIAMOND (ไดมอนด์) อัตราค่าธรรมเนียม 2.5 ล้านบาท อายุการเป็นสมาชิก 15 ปี มอบสิทธิพิเศษ ตลอดระยะเวลาการพำนักในประเทศไทย พร้อมรับคะแนนสะสมปีละ 55 คะแนน เพื่อแลกรับสิทธิพิเศษเพิ่มเติม
ประเภทที่ 3 PLATINUM (แพลทินัม) อัตราค่าธรรมเนียม 1.5 ล้านบาท อายุการเป็นสมาชิก 10 ปี พร้อมรับคะแนนสะสมปีละ 35 คะแนน เพื่อแลกรับสิทธิพิเศษเพิ่มเติม
และประเภทที่ 4 GOLD (โกลด์) อัตราค่าธรรมเนียม 900,000 บาท อายุการเป็นสมาชิก 5 ปี สำหรับการเข้าออกประเทศไทยระยะสั้น พร้อมรับคะแนนสะสมปีละ 20 คะแนน เพื่อแลกรับสิทธิพิเศษเพิ่มเติม
สำหรับแนวคิด More Choices More Freedom มุ่งนำเสนอสิทธิพิเศษแก่ผู้ถือบัตรสมาชิกทุกคนตามไลฟสไตล์ที่สมาชิกชื่นชอบตลอดระยะเวลาพำนักในประเทศไทย ได้แก่ บริการดูแลอำนวยความสะดวกระดับพรีเมียมที่สนามบิน สิทธิพิเศษบริการห้องรับรองพิเศษ ณ สนามบินขาเข้าและขาออก บริการรถลีมูซีนรับ-ส่ง จากสนามบิน รวมถึงผู้ช่วยส่วนตัวบริการสำหรับสมาชิกทั้ง 4 ภาษา ภาษาอังกฤษ เกาหลี จีนกลาง ญี่ปุ่น รวมถึงภาษาอื่นๆ ในอนาคต
++ ชูแนวคิด ‘Freedom of Choices’ บุกตลาดหลัก++
ปัจจุบันบริษัทฯ เน้นเจาะ 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ 1.กลุ่มชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยบ่อยๆ นักลงทุน (Affluent / Investors) 2.กลุ่มคนทำงานควบคู่ไปกับการพักผ่อนและการท่องเที่ยว (Workcation / Digital Nomads) 3.กลุ่มชาวต่างชาติที่ทำงานในเมืองไทย (Expats in Thailand) และ 4.ผู้สูงอายุวัยเกษียณ (Retirees)
“พร้อมรุกตลาดในประเทศต่างๆ ที่มีศักยภาพ ประกอบด้วยกลุ่มตลาดหลัก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐ สหราชอาณาจักร รัสเซีย เกาหลี และกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป รวมถึงกลุ่มตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ พร้อมดำเนินการเปิดตลาดในอนาคต เช่น อินเดีย และประเทศในกลุ่ม GCC อาทิ ซาอุดีอาระเบีย”
นอกจากนี้ บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด ยังเดินหน้าจับมือพันธมิตรในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในด้านต่างๆ เพื่อยกระดับการให้บริการสมาชิกในทุกด้าน พร้อมตอบสนองความต้องการแก่สมาชิกในทุกมิติ และสิ่งสำคัญคือการสร้างรายได้แก่ผู้ประกอบการทั่วประเทศในทุกๆ ไลฟ์สไตล์ ดังนี้
1.Stay สิทธิพิเศษการเข้าพักในโรงแรมชั้นนำระดับโลก พร้อมสิทธิประโยชน์อื่นๆ อาทิ Stay 1 night get 1 more night รวมถึงสิทธิในการอัปเกรดห้องพัก
2.Travel สิทธิพิเศษด้านเดินทางท่องเที่ยวจากสายการบินชั้นนำ พร้อมบริการผู้ช่วยส่วนตัวและพนักงานต้อนรับ ณ สนามบิน สิทธิพิเศษรถรับ-ส่งสนามบิน และบริการห้องรับรองพิเศษสนามบิน สิทธิพิเศษบริการคนขับรถส่วนตัว, เรือยอร์ชส่วนตัว, Private Jet และรถเช่าส่วนตัว
3.Leisure สิทธิประโยชน์จากพันธมิตรทั้งจากร้านอาหาร เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ชอปปิง กีฬา อาทิ ส่วนลดร้านค้า, VIP Lounge, บริการ Personal Shopping, บริการ Priority Viewing ณ ศูนย์การค้าชั้นนำ, Co-working Space, บัตรชมภาพยนต์ 1 แถม 1 เป็นต้น
4.Well-Being สิทธิพิเศษด้านสุขภาพ อาทิ บริการตรวจสุขภาพในโรงพยาบาลชั้นนำ บริการ
สปา, บริการฟิตเนส Wellness Center ชั้นนำ
5.Wealth สิทธิพิเศษด้านการลงทุน สิทธิบัตร Wisdom (ตามเงื่อนไข) บริการที่ปรึกษาด้านการเงินการลงทุน, การอบรมสัมมนา, แพ็กเกจพิเศษสำหรับประกันสุขภาพ และประกันชีวิต
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็นต่อบทความนี้