‘ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป’ ดัน ‘คิวเฟรช’ ขึ้นแท่น ‘ผู้นำ’ เสิร์ฟอาหารทะเลครบวงจร
“คิวเฟรช” เป็นแบรนด์อาหารทะเลหรือซีฟู้ดพร้อมทานจากค่ายยักษ์ใหญ่ “ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป” ที่ทำตลาดมาราว 6 ปี มีการรีแบรนด์ ขยายพอร์ตโฟลิโอสินค้าเพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ปี 2565 ภาพรวมซีฟู้ดพร้อมทานหดตัวลงราว 4.6% แต่ปีนี้แนวโน้มกลับมาขยายตัวอีกครั้ง จากการท่องเที่ยวฟื้นตัว ทำให้กลุ่มลูกค้าโรงแรม ร้านอาหาร และบริการต่างๆหรือฟู้ดเซอร์วิสกลับมาคึกคักเพิ่มความต้องการสินค้า ส่วนผู้บริโภครายย่อยมีไลฟ์สไตล์ต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น เป็นตัวแปรสำคัญที่ผลักดันการเติบโต
ธนโชติ บุญมีโชติ กรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจกุ้ง บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ฉายภาพ กลยุทธ์การบุกตลาดของ “คิวเฟรช” คือการสร้างความหลากหลายให้กับกลุ่มสินค้าซีฟู้ดแช่แข็งมากขึ้น จากที่ผ่านมา “กุ้ง” ถือเป็นพระเอกทำสัดส่วนรายได้สูงสุดมาโดยตลอด แต่ครึ่งปี 2566 กุ้งมีสัดส่วนลดเหลือ 42%
สินค้าใหม่ที่ “คิวเฟรช” เพิ่มความหลากหลาย เช่น ปลากระพง ปลาฮามาจิหรือปลาหางเหลือง หอยเชลล์ฮอกไกโดหรือโฮตาเตะ ทาโกะหรือปลาหมึกญี่ปุ่น และอาหารทะเลอื่นๆเข้ามาเสริมทัพ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า โดยรวมมีสัดส่วนแล้ว 58%
“การไดเวอร์ซิไฟพอร์ตโฟลิโอซีฟู้ดให้มีความครอบคลุมทุกชนิด เพราะเราต้องการก้าวเป็นแบรนด์ที่ให้บริการลูกค้าแบบวันสต๊อป เซอร์วิส ไม่ใช่ต้องการสินค้ารายการนี้ เช่น กุ้งมาซื้อที่เรา ส่วนซีฟู้ดประเภทอื่นไปซื้อเจ้าอื่น แผนดังกล่าวยังสานเป้าหมายการขึ้นเป็นผู้นำตลาดภายใน 3 ปี จากปัจจุบันเป็นเบอร์ 2”
ทั้งนี้ ความต้องการของลูกค้าทั้งผู้บริโภครายย่อย(B2C) หรือลูกค้าฟู้ดเซอร์วิส(B2B) แต่ละช่วงมีความแตกต่างกันเป็น เช่น บางเวลาต้องการล็อบสเตอร์ หน้าที่ของบริษัทคือต้องหา unwanted ของกลุ่มเป้าหมายให้เจอ เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการตอบสนองให้ตรงใจ
“เราพยายามไดเวอร์ซิไฟพอร์ตโฟลิโอสินค้าให้หลากหลายมากขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมยอดขายเติบโตขึ้น”
ล่าสุด การบุกตลาดอาหารทะเลพร้อมทานและพร้อมปรุงช่วงครึ่งปีหลัง ลุยเสิร์ฟเมนูเด็ดกุ้งชุบแป้งซีรีส์ใหม่ 4 เมนู 4 สไตล์ ได้แก่ กุ้งไส้เชดดาร์และครีมชีส, กุ้งเทมปุระ สไตล์ญี่ปุ่น พร้อมน้ำจิ้มเทมปุระ, ทอดมันกุ้ง พร้อมน้ำจิ้มบ๊วย และ กุ้งกรอบ พร้อมซอสทาร์ทาร์ จำหน่ายในราคาแพ็คละ 145 บาท เพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ พร้อมดึง “แบงก์ ธิติ มหาโยธารักษ์” เป็นพรีเซ็นเตอร์สร้างการรับรู้แบรนด์และสินค้า(Awareness)
สำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆดังกล่าว ยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแบรนด์คิวเฟรช เมื่อเทียบกับการจำหน่ายในรูปแบบวัตถุดิบ เช่น กุ้งต้ม กุ้งดิบ ตามแผนจะรังสรรค์เมนูใหม่ออกมาต่อเนื่อง จากปัจจุบันคิวเฟรชมีสินค้าราว 80 รายการ(เอสเคยู)
“กุ้งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ หากจำหน่ายเป็นกุ้งต้ม กุ้งดิบ อัตราการทำกำไรจะไม่สูงนักเป็นตัวเลข 1 หลัก แต่เมื่อนำมาสร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ เพิ่มความพิเศษ เช่น กุ้งไส้เชดดาร์และครีมชีส ที่เราใช้ชีสฟิลาเดลเฟีย ส่งผลให้การทำกำไรอยู่ในอัตรา 2 หลัก”
ปัจจุบันตลาดอาหารทะเลพร้อมทานมีมูลค่าราว 2,000 ล้านบาท ปีก่อนหดตัวลง 4.6% เจาะลึกหมวดย่อย กลุ่มวัตถุดิบอาหารทะเลทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา หดตัวรุนแรง 10.2% แต่แนวโน้มปี 2566 ภาพรวมอาหารทะเลพร้อมทานคาดการณ์เติบโต 4-5% ขณะที่การบุกตลาดของคิวเฟรช บริษัทตั้งเป้ายอดขายรวมประมาณ 630-640 ล้านบาท แบ่งเป็นยอดขายเจาะกลุ่มผู้บริโภค(B2C)ราว 230-240 ล้านบาท และกลุ่มฟู้ดเซอร์วิส 400 ล้านบาท ส่วนเป้าหมาย 3 ปี อยากเห็นคิวเฟรช มียอดขายทะลุ “พันล้านบาท”
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายในการทำตลาดอาหารทะเลพร้อมทานครึ่งปีหลัง คือกรณีที่โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น จะปล่อยน้ำเสียลงมหาสมุทร จะส่งผลต่อธุรกิจ 2 มิติ อย่างแรกคือความต้องหารหรือดีมานด์ตลาดลดลง แต่ปริมาณการผลิตหรือซัพพลายยังมี ทำให้ “ราคา” วัตถุดิบ และสินค้าอาหารทะเล “ต่ำลง” ผู้ประกอบการสามารถทำกำไรได้ แต่ต้องพิจารณาความเสี่ยงต่อผู้บริโภคด้วย
หากผู้ประกอบการที่จะนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นจะต้องมีเอกสารรับรอง เพื่อยืนยันคุณภาพสินค้า ทั้งนี้ บริษัทมีการนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นสัดส่วน 30% และมีสต๊อกรองรับความต้องการลูกค้าถึงสิ้นปี 2566 ส่วนการปรับตัวในช่วงนี้ ต้องบริหารจัดการหาวัตถุดิบอาหารทะเลจากแหล่งอื่น โปรโมทการทำตลาดสินค้าอื่นๆ เป็นต้น
“ตอนนี้ยังไม่เห็นสัญญาณลูกค้าชะลอการซื้ออาหารทะเลพร้อมทาน”
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็นต่อบทความนี้