ธุรกิจอีเวนต์แน่น! ดันตลาดปีนี้ฟื้น ห่วงปี 67 รัฐเบิกจ่ายล่าช้าฉุดธุรกิจสะดุดยาว
ธุรกิจอีเวนต์มูลค่า 14,000-15,000 ล้านบาท กำลังกลับสู่ขาขึ้น จากช่วงโควิด-19 ระบาด เป็นด่านแรกที่โดนสั่งยุติการรวมกลุ่มจัดกิจกรรมต่างๆ ทว่า ปี 2566 ผู้ประกอบการยืนยันอีเวนต์ฟื้นแล้ว! แต่ยังไม่เติบโต
อุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ นายกสมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน (EMA) ฉายภาพว่า ธุรกิจอีเวนต์ฟื้นตัวกลับมาอย่างเห็นได้ชัด ภาคธุรกิจต่างๆ มีการจัดกิจกรรม เติมสีสันให้ตลาดอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ต แฟนมีท มหกรรมเกม งานเกี่ยวกับการตกแต่งบ้าน งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ เป็นต้น ส่งผลให้สถานที่จัดงาน (Venue) ใหญ่ๆ ที่เป็นทำเลสำคัญมีกิจกรรมแน่นขนัด
ในไตรมาส 4 อีเวนต์ยังส่งสัญญาณขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีกิจกรรมใหญ่รออยู่ เช่น งานเคาท์ดาวน์ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เป็นอีเวนต์ส่งท้ายปีที่ภาคเอกชนจะระดมสรรพกำลังจัดกันเต็มที่ ประกอบกับปี 2566 ไม่มีตัวแปรอย่างโควิดเหมือนปลายปี 2565 ที่ยังก้ำกึ่งกังวลโรคระบาด และการจัดงานเคาท์ดาวน์ ไม่ได้มีแค่ในกรุงเทพฯ แต่ต่างจังหวัด หัวเมืองใหญ่โหมงานใหญ่ไม่แพ้กัน เช่น เชียงใหม่ นครราชสีมา อุดรธานี ขอนแก่น พัทยา
“อีเวนต์กลับมาจัดจำนวนมาก หรือกิจกรรมย่อยๆ ที่จัดเอาแฟนด้อมของแต่ละด้อมกระจายไปตามกลุ่มที่ตนเองชอบ เช่น คอนเสิร์ต แฟนมีท งานเกมใหญ่ที่รวมเกมต่างๆ เกมเฉพาะกลุ่ม ที่สำคัญงานไหนๆ ก็ดึงคนได้หมด อย่างคอนเสิร์ตไม่ว่าใครจัด ขายบัตรหมดเกลี้ยง บัตรแพงแค่ไหนยังยินดีจ่าย สะท้อนตลาดมีดีมานด์อยู่สูง”
นอกจากนี้ ภาครัฐเป็นอีกกลไกสำคัญในการจัดงานอีเวนต์ปลายปี สอดคล้องกับเอกชนทั้งงานเคาท์ดาวน์ รวมถึงงานเทศกาล ประเพณีต่างๆ ยิ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว จะดึงนักเดินทาง กระตุ้นเศรษฐกิจ เร่งเครื่องยนต์ต่างๆ ต้องใช้อีเวนต์เป็นตัวขับเคลื่อนทั้งสิ้น
ที่สำคัญการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลใหม่นอกเหนือจากการท่องเที่ยว แต่รวมถึงการดึงดูดการลงทุน มหกรรมการพบปะกับประชากรฐานราก การกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ล้วนมีแนวโน้มใช้อีเวนต์สร้างแรงส่ง
“ท่ามกลางปัจจัยเปราะบาง ทั้งสงคราม เศรษฐกิจ มองว่าการจัดอีเวนต์ปีนี้ยังมีทิศทางที่ดี ส่วนหนึ่งเพราะภาคส่วนต่างๆ มีการจัดสรรงบประมาณและวางแผนทำกิจกรรมไว้แล้วจึงเดินตามแผน อย่างห้างค้าปลีกใหญ่ ศูนย์การค้าไอคอนสยาม สยามพารากอน มีงบลุยอีเวนต์ปลายปี งานคอนเสิร์ต แฟนมีท จากต่างประเทศ เข้ามาต่อเนื่อง”
ทว่า สิ่งที่น่ากังวลคือแนวโน้มธุรกิจอีเวนต์ปี 2567 เนื่องจากมี 2-3 ตัวแปร ที่ต้องจับตา ได้แก่ 1.การเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลใหม่ที่มีความล่าช้า หลังสงกรานต์เป็นต้นไป ยิ่งพิจารณาการจัดซื้อจัดจ้างที่มีผลต่ออีเวนต์อาจเห็นเดือน มิ.ย. 2567 ช่วง 6-7 เดือนที่การใช้งบประมาณสะดุด! ย่อมส่งผลต่อภาพรวมอีเวนต์ เพราะกิจกรรมและงบจากภาครัฐมีสัดส่วนถึง 50% 2.การวางแผนใช้งบประมาณจัดอีเวนต์ปีหน้าของภาคธุรกิจต่างๆ เพราะปัญหาสงครามอิสราเอล ปาเลสไตน์ แม้เหตุการณ์อยู่ไกล แต่อาจมีผลต่อความรู้สึกในการใช้จ่ายเงิน
“อีเวนต์ฟื้นกลับมาสู่สภาพปกติเหมือนตอนก่อนโควิดระบาดแล้ว แต่ถามว่าโตไหม ยังไม่โต ส่วนปีหน้ามีความกังวล 2-3 ปัจจัยที่จะกระทบภาพรวมธุรกิจอีเวนต์ คือการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐที่ล่าช้า สะดุดไป 6-7 เดือน และสถานการณ์โลกเปราะบาง อาจกระทบความรู้สึกในการใช้จ่าย การวางแผนงบประมาณและจัดอีเวนต์ของภาคเอกชน”
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของอีเวนต์ ยังช่วยต่อลมหายใจให้ซัพพลายเออร์กลับมาอีกครั้ง หลังช่วงโควิดระบาด หลายรายต้องปิดกิจการ อีกเทรนด์หลังธุรกิจเผชิญวิกฤติ การพลิกกระบวนท่าสู่ช่องทางออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้การปรับตัวของอีเวนต์การตลาด ใช้กลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อเจาะผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
“อีเวนต์การตลาดมีการเปลี่ยนรูปแบบไปใช้กลยุทธ์อื่นๆ แต่อีกมิติการทำอีเวนต์หากสร้างสรรค์กิจกรรมได้ถูกใจกลุ่มเป้าหมาย จะทรงพลังยิ่งกว่าการสื่อสารการตลาดรูปแบบอื่นๆ เช่น โฆษณา”
หนึ่งในกรณีศึกษาของธุรกิจอีเวนต์ทรงพลัง คือคอนเสิร์ตของ “เทย์เลอร์ สวิฟต์” ถูกขนานนาม Taylor Swift Economy เมื่อการทัวร์คอนเสิร์ตใหญ่ The Eras Tour สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจมหาศาลมูลค่าหลัก “หมื่นล้านบาท”
ปี 2567 อีเวนต์เผชิญความเปราะบาง แต่อีกด้านที่จะสร้างสีสันให้วงการคือการมีสถานที่จัดงานใจกลางกรุง เมื่อธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ดิ เอ็มดิสทริค (The EM District) และเออีจี (AEG) ผนึกกำลังปั้นโปรเจกต์ “ยูโอบี ไลฟ์” (UOB LIVE) ศูนย์กลางการจัดงานแห่งใหม่ที่ครบครันและล้ำสมัยที่สุดในภูมิภาคอาเซียน รองรับผู้เข้าร่วมงาน 6,000 ที่นั่ง ตอบโจทย์อีเวนต์ประเภท คอนเสิร์ต แฟนมีทขนาดย่อมหลักหมื่นคนได้อย่างดี ซึ่งปัจจุบันยอมรับว่าสถานที่จัดงานอีเวนต์ยังขาดแคลนอยู่
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็นต่อบทความนี้