‘นครชัยแอร์’ รวยสุดในชัยภูมิ มวยรอง Low-cost ที่โกย ‘พันล้าน’ ได้ทุกปี

รถทัวร์ยังไม่ตาย! “นครชัยแอร์” ดิ้นสู้ดิสรัปต์ โกย “พันล้าน” ทุกปี เติบโตสวนทางมูลค่าตลาด ครองอันดับ 1 “รวยสุด” ในชัยภูมิ ไม่ขอสู้ในเกมราคา-เน้นปรับตัวสร้างความแตกต่าง ผงาดบริษัทรถทัวร์เบอร์ 1 แม้ “Low-cost” สายการบินราคาประหยัดไล่บี้แข่งเดือด

นับตั้งแต่สายการบินราคาประหยัดหรือ “Low-cost Airlines” ถือกำเนิดขึ้นในไทยก็ทำให้เจ้าสนามเดิมอย่างบริษัทรถทัวร์ต้องเปลี่ยนเกมเพื่อสู้ศึกครั้งใหญ่ทันที ด้วยแต้มต่อเรื่องความรวดเร็วที่บริษัทเดินรถแข่งขันไม่ได้ โปรโมชันที่ลดกระหน่ำจนทำให้ตั๋วเครื่องบินภายในประเทศมีราคาเอื้อมถึงไม่ต่างจากรถทัวร์โดยสาร เส้นทางการบินและการเดินรถที่ซ้อนทับกัน ส่งให้ผู้ประกอบการรถทัวร์หลายแห่งมีรายได้ลดลงจากการแข่งขันในเกมราคาที่สู้ไปก็มีแต่ “เสียกับเสีย” เนื่องจากต้นทุนค่าน้ำมันดีเซลที่สูงขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดใหญ่ที่ลากยาวถึง 3 ปี ทำให้หลายบริษัทตัดสินใจปรับลดเส้นทางการเดินรถลง บางรายถึงกับประกาศขายบริษัท-ขายรถไปจนถึงปิดกิจการก็มีเช่นกัน
แต่ในช่วงเวลาที่ฟ้าฝนไม่เป็นใจเช่นนี้กลับมีบริษัทเดินรถที่ฮึดสู้ด้วยการ “สร้างเกม” ของตัวเองขึ้นมาแทน โปรโมชันลดราคามีบ้างเป็นครั้งคราวแต่ไม่ใช่เกมยาวที่ “นครชัยแอร์” มองหา เพราะรู้ดีว่า นอกจากสายการบินโลว์คอสต์แล้วยังต้องสู้กับขนส่งอีกหลายประเภททั้ง “รถตู้” ในเส้นทางข้ามจังหวัดระยะใกล้ๆ รวมถึงรถไฟที่มีการปรับรูปแบบหลากหลายประเภท ซึ่งอาจจะเป็นคู่แข่งที่ใกล้เคียงกับรถทัวร์มากที่สุดด้วยหากเทียบกันในเรื่องของเวลาการเดินทาง

สถานการณ์โควิด-19 ที่เปรียบดั่งช่วงเวลาใกล้จมน้ำของผู้ประกอบการ “บริษัท นครชัยแอร์ จำกัด” ประคองตัว-พยุงรายได้สู่ “พันล้านบาท” ในปี 2562 และ 2563 ได้สำเร็จ แม้ปี 2564 รายได้รวมจะลดลงอยู่ที่ “790 ล้านบาท” ขาดทุนอีก “36 ล้านบาท” ซึ่งนับเป็นภาวะขาดทุนสูงสุดในรอบสิบปี ทว่าในปี 2565 บริษัทสามารถติดสปีดพลิกทำ “New High” มีรายได้รวม “2,130 ล้านบาท” กำไรสุทธิ “570 ล้านบาท” แม้จะมีรายได้อื่นเพิ่มขึ้นถึง 999 ล้านบาท แต่เฉพาะรายได้หลักก็นับว่า เติบโตสูงอยู่ดี
“บริษัท นครชัยแอร์ จำกัด” ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2529 เริ่มต้นเดินรถ 2 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ-ขอนแก่น และกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี โดยก่อนที่ “นครชัยแอร์” จะถือกำเนิดขึ้น ตระกูลวงศ์เบญจรัตน์ เริ่มต้นวางรากฐานจากการเดินรถโดยสารข้ามอำเภอ ระยะทางจากอำเภอเมืองถึงอำเภอโชคชัยเป็นที่มาของชื่อบริษัท “นครชัย” ที่ในเวลาต่อมาทายาทรุ่นที่ 2 ได้ขยับขยายแตกไลน์ธุรกิจเป็น 3 ส่วน ประกอบไปด้วย “นครชัยขนส่ง” “นครชัยแอร์” และ “นครชัยทัวร์”

จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ชื่อของ “นครชัยแอร์” เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น เริ่มจากการเข้ามารับช่วงบริหารต่อของ “เครือวัลย์ วงศ์รักมิตร” ทายาทรุ่นที่ 3 ซึ่งขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานบริษัท โดยก่อนหน้านี้เธอทำงานอยู่ที่ธนาคารกรุงเทพ และลาออกกลับมาบริหารกิจการของครอบครัวแทน ช่วงที่เข้ามาบริหารธุรกิจเต็มตัว “นครชัยแอร์” มีรถอยู่เพียง 20 คัน เปิดให้บริการเพียง 2 เส้นทาง กระทั่งเวลาผ่านไป “นครชัยแอร์” ขยับขยายมีเส้นทางการเดินรถครอบคลุม 38 เส้นทาง มีรถให้บริการกว่า 380 คัน (ข้อมูล ณ ปี 2563) และเป็นรถทัวร์เจ้าแรกที่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนโฉมรถโดยสารใหม่จาก 44 ที่นั่งเหลือเพียง 32 ที่นั่ง ทำให้ผู้โดยสารสะดวกสบายขึ้นแต่ราคาค่าโดยสารยังคงเดิมไม่มีการปรับเพิ่มแต่อย่างใด
“เครือวัลย์” เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว “โพสต์ทูเดย์” ว่า วิธีคิดของเธอคือการ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” หากมองผ่านแว่นการตลาดก็อาจเรียกได้ว่า นี่คือกลยุทธ์แบบ “Customer Centric” หรือการมองลูกค้าเป็นศูนย์กลาง หากเราเป็นผู้โดยสารเราจะต้องการการบริการแบบไหน อยากได้อะไรจากการโดยสารรถทัวร์ และทำไมต้องเป็น “นครชัยแอร์” เท่านั้น เธอมองว่า คอนเซปต์ของรถโดยสารทางไกล คือต้องแกะโจทย์ให้ได้ว่าทำอย่างไรให้คนที่มาใช้บริการนั่งแล้วรู้สึกสบายตัว ไม่ปวดเมื่อยเมื่อถึงจุดหมาย

ในยุคที่เธอเข้ามาบริหารยังได้มีการเพิ่มการกั้นห้องระหว่างพนักงานขับรถและผู้โดยสาร สร้างความแตกต่างจากคู่แข่งด้วยการเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนกับรถโดยสารทางไกล อาทิ เบาะหนังรูปทรงแคปซูลพร้อมระบบนวดไฟฟ้าบนรถโดยสาร “เฟิร์สคลาส” มีจอทีวีส่วนตัวพร้อมหูฟัง รวมทั้งมีการแยกโซนที่นั่งเฉพาะสุภาพสตรี ตอบโจทย์ทางเลือกใหม่ให้กับผู้หญิงที่ต้องเดินทางไกลเพียงลำพัง

กลยุทธ์การบริหารที่มีการปรับเปลี่ยนยกเครื่องหลายอย่างเช่นนี้ “เครือวัลย์” ยกเครดิตให้กับรุ่นคุณพ่อของเธอที่มักจะสอนว่า หากจะทำอะไรแล้วต้องทำให้ดีที่สุด ถ้าคิดว่าทำแล้วไม่ดีก็จะไม่ทำ ทำให้ตัวเธอเองซึมซับแนวคิดแล้วนำมาต่อยอดกับการบริหารธุรกิจซึ่งรวมถึงเรื่องคนในองค์กรด้วย ไม่ใช่แค่ผู้โดยสารที่สบายแต่จะทำอย่างไรให้พนักงานอยู่ดีกินดี มีฐานะดีขึ้น และรู้สึกภาคภูมิใจกับอาชีพนี้ หากพนักงานมีความรู้รอบด้าน พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ก็จะส่งผลไปถึงการบริการให้กับผู้โดยสาร ทั้งหมดเชื่อมโยงถึงกันเป็น “อีโคซิสเทม” ที่มีการเติบโตขององค์กรเป็นปลายทาง

หากย้อนดูผลประกอบการย้อนหลังของ “บริษัท นครชัยแอร์ จำกัด” ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2556 ถึง 2565 จะพบว่า แม้ไม่ได้หวือหวาแต่รายได้เติบโตขึ้นทุกปี รวมถึงกำไรสุทธิยังก้าวกระโดดเพิ่มขึ้นกว่า 1,000% ในปีล่าสุด (ปี 2565) ด้วย 

เฉพาะ 4 ปีย้อนหลัง ตั้งแต่ปี 2562 ถึง 2565 “บริษัท นครชัยแอร์ จำกัด” มีผลประกอบการที่น่าสนใจ ดังนี้

ปี 2562: รายได้รวม 1,756 ล้านบาท กำไรสุทธิ 25 ล้านบาท
ปี 2563: รายได้รวม 1,248 ล้านบาท กำไรสุทธิ 352,948 บาท
ปี 2564: รายได้รวม 790 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 36 ล้านบาท
ปี 2565: รายได้รวม 2,130 ล้านบาท กำไรสุทธิ 570 ล้านบาท
ระหว่างปี 2562 ถึง 2564 บรรดาบริษัทรถทัวร์และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับขนส่งมวลชนทั้งหลายต่างได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดใหญ่อย่างหนักหน่วง และแทบจะเป็นด่านแรกๆ ที่ได้รับแรงกระแทกจากมาตรการล็อกดาวน์อย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่ถึงอย่างนั้น “นครชัยแอร์” ก็สามารถประคองตัวและพลิกกลับมาทำ “New High” ในปี 2565 ได้สำเร็จ นอกจากจะต้องต่อสู้กับคู่แข่งในสนามเดียวกันตรงๆ อย่างบริษัทรถโดยสารไม่ประจำทางเจ้าอื่นๆ แล้ว ธุรกิจเดินรถยังถูกท้าทายด้วยสายการบินโลว์คอสต์ซึ่งนับเป็นความท้าทายครั้งใหญ่อันนำไปสู่คำถามสำคัญที่ว่า รถทัวร์มีโอกาสโบกมือลาจากวงการคมนาคมหรือไม่

“เครือวัลย์” เคยให้สัมภาษณ์กับ “GQ Thailand” ว่า เธอไม่กลัวคู่แข่งอย่างสายการบินโลว์คอสต์และเชื่อว่า รถทัวร์ไม่มีวันตาย แม้ว่ายุคหลังๆ รถทัวร์หลายเจ้าจะอยู่ในสภาวะขาลง ต่อสู้กับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นแต่จำนวนผู้ใช้บริการลดลง เธอยอมรับว่า บางเส้นทางเดินรถของ “นครชัยแอร์” จำนวนลูกค้าหายไปเกือบ 50% แต่นี่คือเทรนด์ของโลกที่เปลี่ยนไป กลับเป็นเรื่องดีเสียอีกที่ผู้บริโภคมีทางเลือกหลากหลาย ตัวเธอเองในฐานะเจ้าของธุรกิจรถทัวร์คงไม่สามารถไปเรียกร้องอะไรได้ สิ่งที่ทำได้มีเพียงอย่างเดียว คือรักษามาตรฐานของตนเองให้ดี รวมทั้งการปรับตัวหาทางเลือกใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางเดินรถสายใหม่ หรือหาธุรกิจอื่นๆ เข้ามาเสริมทัพ

“เครือวัลย์” บอกว่า ประเทศไทยยังมีสัดส่วนผู้มีรายได้น้อยจำนวนมาก ธุรกิจรถทัวร์เป็นขนส่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย ด้านบริษัทเองก็ต้องปรับตัวด้วยการควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่าย แต่จะทำอย่างไรให้บาลานซ์กับการบริการลูกค้าที่ดีรวมถึงสวัสดิการพนักงานที่ต้องไม่ขาดตกบกพร่อง ซึ่งเป็นสองส่วนที่เธอยืนยันว่า ต้องทำให้ดีสม่ำเสมอ เพราะหากกลับไปดูตัวเลขผลประกอบการของบริษัทก็จะพบว่า ยังไม่มีปัจจัยเสี่ยงเรื่องภาวะขาดทุน การบริการที่ดีทุกระดับทำให้ “นครชัยแอร์” เป็นที่จดจำโดยเฉพาะการบริการของคนขับรถและ “บัสโฮสเตส” ที่ถูกฝึกฝนมาดีเยี่ยมจนได้รับเสียงชื่นชมอยู่เสมอ

ปัจจุบัน “นครชัยแอร์” แตกไลน์ทำธุรกิจอื่นๆ เพิ่มเติมควบคู่ไปด้วย อาทิ บริการแท็กซี่ภายใต้ “บริษัท ออล ไทย แท็กซี่ จำกัด” ที่แม้จะยังติดลบแต่ก็มีแนวโน้มการเติบโตที่น่าสนใจ เคยทำรายได้แตะ “ร้อยล้านบาท” มาแล้ว รวมถึงธุรกิจโลจิสติกส์ส่งพัสดุภายใน 24 ชั่วโมง ที่ดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2559 ควบคู่ไปกับเที่ยวรถโดยสารในทุกทุกวัน

การไม่หยุดอยู่กับที่ และหมั่นทำในสิ่งที่ตัวเองถนัดถูกจัดวางอยู่ในคัมภีร์ความสำเร็จของการทำธุรกิจหลายต่อหลายครั้ง แม้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่กลับเป็นเรื่องยากในการรักษามาตรฐานอย่างคงเส้นคงวา เหมือนกับที่ “นครชัยแอร์” ทำได้มาตลอดหลายทศวรรษ

ความคิดเห็น

บทความที่มีคนอ่านมากที่สุด

แก้เกมถูกบล็อค Porn Hub ทวงคืนเว็บดัง

สำนักงานสลากฯ เพิ่มช่องทางจำหน่ายสลาก ผ่านเว็บไซต์ www.glolotteryshop.comp

พ่อมดการเงิน ภัยร้ายในวงการธุรกิจไทย

เปิดโฉมทางการ ‘เดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ บางกะปิ’ พร้อม 10 ไฮไลต์เด็ด ปลุกย่านบางกะปิคึก

ทำไมกาแฟสมัยนี้ ขายแก้วละ 100 บาท?