กำไรเบียร์ไทยเบฟตุบแรง 43.4% ปิดปีนังอู้ฟู่ กำไร 2.79 แสนล้าน ลดลง 10.9%

“ไทยเบฟ” กล่องดวงใจ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ราชันย์น้ำเมา เพราะเป็นบริษัท “เสาหลัก” สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง! ให้อาณาจักร “ไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น” หรือทีซีซี กรุ๊ป ทว่า ผลงานปิดปี น่าสนใจ เมื่อ “กำไร” หดตัว 10.9% “เบียร์” กำลังเจอโจทย์หิน! ส่วนอาหารต้นทุนกดกำไรลด 82.7%

บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) รายงานผลประกอบการปี 2566(ปีงบประมาณ ต.ค.65-ก.ย.66) บริษัทมีรายได้จากการขาย 279,085 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.5% จากปีก่อน ส่วน “กำไรสุทธิ” อยู่ที่ 30,727 ล้านบาท “ลดลง 10.9%”
ทั้งนี้ รายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้นสะท้อนให้เห็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยเริ่มกลับมา ในส่วนที่กำไรสุทธิลดลงมาจากหลายปัจจัย และหากดู “กำไรก่อนหักภาษี”(EBITDA) 50,880 ล้านบาท ลดลง 5.7% สิ่งที่กระทบเกิดจากแรงกดดัน “ต้นทุน” ในธุรกิจเครื่องดื่ม “เบียร์” รวมถึงการลงทุนด้านแบรนด์ อีกเสาหลักสำคัญคือ “ธุรกิจอาหาร” ที่เผชิญภาวะต้นทุนสูงขึ้นเช่นกัน

สำหรับยอดขาย “แสนล้านบาท” มาจากอะไรบ้าง ดังนี้ กลุ่มสุราสัดส่วน 42.9% เบียร์ 43.4% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 7.1% และธุรกิจอาหาร 6.8% ส่วนศักยภาพการทำ “กำไร” ยังคงเช่นเดิมคือ “กลุ่มสุรา” หรือเหล้าสร้างความมั่งคั่งมากสุดสัดส่วน 79.7% เบียร์ 17.7% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 2.4% และธุรกิจอาหาร 0.2%
เจาะลึกรายหมวดธุรกิจ ผลงานทั้งปีกลุ่มสุราสร้างรายได้จากการขาย 119,799 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.1% ส่วนหนึ่งมาจากการบริโภคสุราสีที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการ “ปรับราคาขาย” ด้วย ด้าน “กำไรสุทธิ” อยู่ที่ 22,446 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.5% ธุรกิจเบียร์ สร้างรายได้จากการขาย 120,825 ล้านบาท “ลดลง 1.4%” ซึ่งไทยเบฟให้เหตุผลถึงสภาพแวดล้อมทางการแข่งขันของตลาดที่ไม่เอื้ออำนวยนัก ส่วน “กำไรสุทธิ” อยู่ที่ 4,995 ล้านบาท หล่นตุ้บแรง! 34.4% สถานการณ์ของ “เบียร์” ไม่เพียงเจอการแข่งขัน แต่ต้นทุนยังปรับตัวสูงขึ้น ทั้งวัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์ การทุ่มทุนสร้างแบรนด์ ทำกิจกรรมการตลาดต่างๆ อันเกิดจากแรงกดดันของการแข่งขันด้วย เป็นต้น

ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สร้างรายได้จากการขาย 19,602 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.4% ปัจจัยหนุนคือการบริโภคฟื้นตัวนั่นเอง ส่วน “กำไรสุทธิ” อยู่ที่ 675 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.2% สามารถเอาชนะสถานการณ์ต้นทุนที่สูงขึ้น รวมถึงผลตอบแทนจากการลงทุนสร้างแบรนด์ด้วย
ส่วนธุรกิจอาหารสร้างรายได้จากการขาย 19,070 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% เนื่องจากผู้บริโภคกลับมารับประทานอาหารที่ร้าน(Dine-in) ทว่า “กำไรสุทธิ” กลับลดลงอย่างมาก ทั้งปีทำเงิน 65 ล้านบาท หดตัว 82.7% จากปีก่อนทำกำไรสุทธิ 376 ล้านบาท ผลกระทบมาจากต้นทุนวัตถุดิบที่ขาขึ้นตลอดทั้งปี รวมถึงค่าน้ำ ค่าไฟต่างๆ ขยับขึ้นเช่นกัน รวมถึงค่าใช้จ่ายในการเปิดสาขาใหม่ของร้านอาหารในพอร์ตโฟลิโอด้วย

นอกจากยอดขายเชิงมูลค่า มาดูยอดขายเชิงปริมาณที่สะท้อนว่าคนไทยมีการ “บริโภคเพิ่ม-ลด” หรือไม่ สำหรับกลุ่มสุรายอดขายอยู่ที่ 643 ล้านลิตร “ลดลง 2.1%” จากปีก่อนขายเหล้า 657 ล้านลิตร โซดา 40 ล้านลิตร “ลดลง 1.6%” ธุรกิจ “เบียร์” ร่วงค่อนข้างสูง 6.6% มาอยู่ที่ 2,240 ล้านลิตร จาก 2,399 ล้านลิตร ขณะที่โซดาและน้ำดื่มแบรนด์ “ช้าง” ยอดขาย 114 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 21.1%

ส่วนธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ยอดขายรวม 1,731 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 1,617 ล้านลิตร แบ่งรายกลุ่มสินค้า ชาเขียวพร้อมดื่มและเครื่องดื่มสมุนไพรจับใจยอดขาย 231 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 10.6% น้ำดื่ม 1,142 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 5.5% เครื่องดื่มอัดลมแบรนด์ เอส ฮันเดรดพลัส และซาสี่ 252 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 9.8% และอื่นๆ เช่น เครื่อมชูกำลัง เครื่องดื่มเกลือแร่ ฯ ยอดขาย 6 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 19.3%

สำหรับปีที่ผ่านมา ไทยเบฟยังมีความเคลื่อนไหวทางธุรกิจที่น่าสนใจหลายประการ หากดูเส้นทางการเติบโตของบริษัท “ทางลัด” ในการซื้อและควบรวมกิจการเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และล้วนเป็น “ดีลใหญ่แสนล้านบาท” ทำให้บริษัทต้องมีการกู้ยืมเงินเพื่อนำไปดำเนินการ เมื่อลงทุนแล้วภารกิจที่ “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” แม่ทัพใหญ่ของบริษัทจึงเน้นย้ำการสร้างผลงานที่ดีเพื่อตอบแทนการทุ่มทุนเงินมหาศาล แล้วนำเงินดังกล่าวไปใช้จ่าย ชำระเงินกู้ เป็นต้น
วันที่ 9 พ.ย.2565 บริษัทออกหุ้นกู้ ครั้งที่ 1/2022 วงเงิน 13,035 ล้านบาท เพื่อนำไปชำระหุ้นกู้เดิม โดยมีอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3.5% วันที่ 19 ธ.ค.2565 มีการกู้ยืมเงินจากธนาคารวงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อนำไปชำระหุ้นกู้ที่ครบอายุไถ่ถอนเมื่อเดือนมี.ค.2566 วันที่ 1 มี.ค.2566 ออกหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2023 วงเงิน 9,262 ล้านบาท เพื่อนำไปชำระหุ้นกู้เดิม โดยมีอายุ 4.5 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3.0% ต่อปี ซึ่งจะครบกำหนดปี 2570

วันที่ 19 ก.ค.2566 บริษัทออกหุ้นกู้วงเงินรวม 15,000 ล้านบาท เพื่อชำระคืนเงินกู้ระยะยาว ที่บางส่วนถึงกำหนดชำระกับสถาบันการเงิน โดยหุ้นกู้มีอายุ 3 ปี 4 ปี และ 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.44%

นอกจากนี้ วันที่ 6 ก.ย.2566 บริษัทได้ถอนหุ้นบริษัท โออิชิ จำกัด(มหาชน)หรือ Oishi ออกจากตลาดหลักทรัพย์ วันที่ 13 ก.ย.2566 อินเตอร์เนชั่นแนล เบฟเวอเรจ(International Beverage) บริษัทลูกไทยเบฟ ได้ซื้อกิจการ Cardrona หนึ่งในผู้บุกเบิกธุรกิจสุราพรีเมียม ประเทศนิวซีแลนด์ เป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการรุกตลาดต่างประเทศและเพิ่มพอร์ตโฟลิโอสินค้าหมวดสุราโลกใหม่ วันที่ 19 ก.ย.2566 บริษัทได้กู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินแห่งหนึ่งวงเงิน 66,000 ล้านเยน เพื่อชำระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า

วันที่ 29 ก.ย.2566 อินเตอร์เนชั่นแนล เบฟเวอเรจได้เข้าซื้อกิจการคอนญัก Larsen ของกลุ่ม Arona Group ในประเทศฝรั่งเศส ที่มีแบรนด์คอนญัก Larsen, Renault และ Monopol และยังมีบรั่นดีแบรนด์ Ibis ด้วย การซื้อกิจการครั้งนี้เติมเต็มพอร์ตโฟลิโอน้ำเมาพรีเมียมในตลาดต่างแดน ที่สำคัญยังเป็นการบรรลุเป้าหมายในการมี “คอนญัก” ในพอร์ตด้วย หลังจากพยายามมา 10 ปี ในการเติมเต็มสินค้าดังกล่าว

สำหรับการซื้อกิจการคอนญักในฝรั่งเศส และสุราพรีเมียมในนิวซีแลนด์จะมีผลต่อกระแสเงินสด และกำไรของบริษัทในไตรมาส 1 ตามปีงบประมาณ 2566-2567 หรือสิ้นสุด 31 ธ.ค.2566

อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานปี 2566 ไม่มีการอัปเดทยอดขายของตลาดต่างประเทศ ซึ่งไทยเบฟ มีธุรกิสุราสีในประเทศเมียนมา และเป็นเบอร์ 1 ด้วย รวมถึงตลาดจีน เบียร์ในตลาดอาเซียน ทั้งเมียนมา และเวียดนาม เป็นต้น

ความคิดเห็น

บทความที่มีคนอ่านมากที่สุด

สงครามร้านชานมไข่มุกพลิกสู่บลูโอเชี่ยน! ‘แบร์เฮาส์’ ผุด 109 สาขา ปี 71

‘HAAB’ ขายขนมไข่เดือนละ ‘3 ล้านชิ้น’ เปิดร้านมา 1 ปี เตรียมบุก ‘มาเลเซีย’ เป็นประเทศแรก

ลอรีอัล ปารีส พา “ณิชา” บินลัดฟ้าสร้างปรากฎการณ์ Walk Your Worth โชว์บนรันเวย์สุดอลังการ ใจกลางหอไอเฟล ณ กรุงปารีส

มิติใหม่แห่งการเสพสื่อ เรื่องแบบนี้คุณต้องรู้

“ซีเจ ฟู้ดส์” ส่งแบรนด์ “บิบิโก รามยอน” วางขายที่แรกของโลก ตั้งเป้าทำยอดทะลุ 100 ล้้านบาท