จาก City Branding ‘อัตลักษณ์ใหม่ กทม.’ ส่องกรณีศึกษา ‘ปั้นแบรนด์กรุงโซล’ สุดปัง พร้อมหาคำตอบ ทำไมเมืองต้องสร้างแบรนด์?
กระแสแรงข้ามคืน เมื่อ กทม. ติดตั้งป้ายสติกเกอร์ดีไซน์ใหม่ ระบุข้อความว่า “กรุงเทพฯ Bangkok” ทดแทนของเดิม “Bangkok City of life” บน Sky Walk แยกปทุมวัน บริเวณหน้าหอศิลปฯ เชื่อมต่อ BTS สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ-สถานีสยาม ซึ่งหลังจากเผยแพร่ในโลกออนไลน์ออกไปไม่นานก็มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นในสังคม มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยบางความเห็นระบุว่า “ชอบป้ายเดิมมากกว่า” อีกทั้งยังเกิดการแชร์ข้อมูลว่าป้ายสติกเกอร์ดังกล่าว กทม. จ้างทำในราคาสูงถึง 3 ล้านบาท
.
อย่างไรก็ตาม ทาง กทม. ได้ออกมาชี้แจงแล้วว่าข้อมูลดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อน จริงๆ แล้ว กทม. ไม่ได้ทำแค่ป้ายสติกเกอร์ใหม่ แต่เป็นการดำเนินงานในโครงการ กำหนดอัตลักษณ์และภาพลักษณ์หลักของกรุงเทพมหานคร เพื่อสร้าง CI (Corporate Identity) และ Branding ใหม่ของ กทม. ทั้งเมือง ใช้สำหรับจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้มีความชัดเจน มีเอกลักษณ์เหมาะสม มีมาตรฐานสากล และมีความเป็นเอกภาพเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปี 2566 แล้ว ในวงเงิน 2,952,600 บาท ครอบคลุมงาน 11 ประเภท โดยหนึ่งในนั้นก็คือป้ายสติกเกอร์ชิ้นนี้นั่นเอง
.
จริงๆ แล้ว การทำ City Branding ไม่ใช่เรื่องใหม่ แถมหลายเมืองใหญ่ทั่วโลกก็ทำกัน โดยวัตถุประสงค์หลักของการสร้างแบรนด์ให้กับเมือง ก็เพื่อทำให้เมืองเป็นที่น่าสนใจ ทั้งในสายตาของนักท่องเที่ยว นักลงทุน หรือแม้แต่คนในประเทศเองก็ตาม โดยใช้กลยุทธ์การสื่อสารอัตลักษณ์ของเมืองให้โดดเด่น ผ่านสัญลักษณ์ วัฒนธรรม วิถีชีวิต ศิลปะ สโลแกน ฯลฯ ซึ่งก็จะช่วยดึงดูดเม็ดเงิน และกระตุ้นเศรษฐกิจของเมืองนั้นให้เติบโตมากขึ้น
.
ยกตัวอย่างเมืองที่ทำ City Branding ได้อย่างน่าสนใจก็คือ “กรุงโซล” ของเกาหลีใต้ ที่เพิ่งจะรีแบรนด์ใหม่ไปไม่นานเมื่อกลางปี 2566 ที่ผ่านมา ว่ากันว่าการรีแบรนด์ใหม่ครั้งนี้ จะทำให้กรุงโซลก้าวขึ้นสู่ Top 5 เมืองชั้นนำระดับโลก
.
รัฐบาลกรุงโซล (SMG) เปิดเผยถึงการทำ City Branding ใหม่ของเมือง โดยนำเสนอสโลแกนใหม่ว่า “Seoul, My Soul” (โซล จิตวิญญาณของฉัน) รวมถึงมีการออกแบบโลโก้เมืองโซลรูปแบบใหม่ ที่สื่อถึงเอกลักษณ์และความคิดสร้างสรรค์ของเมือง
.
ทั้งนี้ ทางการกรุงโซลได้เปิดโอกาสให้ชาวเมืองร่วมกันนำเสนอไอเดียการตั้งสโลแกนใหม่ของเมือง และมีการโหวตทางโทรศัพท์ โดยเริ่มเปิดรับความคิดเห็นสาธารณะเดือนสิงหาคม 2565 จากนั้นก็มีการสำรวจความพึงพอใจในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2566
.
จากสโลแกนที่ส่งเข้ามาทั้งหมดผลปรากฏว่า สโลแกน “Seoul, My Soul” ชนะโหวตไปด้วยคะแนน 63.1% ทั้งนี้ มีคำบรรยายประกอบสโลกแกนด้วยว่า “โซลเป็นเมืองที่มีศูนย์กลางอยู่ที่พลเมือง และความเป็นพลเมืองโดยรวมจะสร้างกรุงโซลที่ดีขึ้น”
.
ส่วนการออกแบบโลโก้ใหม่ของเมือง พบว่ามีองค์ประกอบสัญลักษณ์สีสันสดใส 3 รูป ได้แก่ “หัวใจ” ตัวแทนของความรัก สื่อถึงเมืองแห่งความรักที่รวบรวมผู้คนมารวมกัน, “เครื่องหมายอัศเจรีย์” ตัวแทนของแรงบันดาลใจ สื่อถึงเมืองแห่งแรงบันดาลใจที่มอบประสบการณ์ใหม่ๆ , “หน้ายิ้ม” ตัวแทนของความสนุก สื่อถึงเมืองแห่งความสนุกสนานที่เต็มไปด้วยเสน่ห์อันน่าหลงใหล ซึ่งรูปสัญลักษณ์เหล่านี้สื่อความหมายอย่างตรงไปตรงมาพอที่จะเอาชนะอุปสรรคทางภาษาได้
.
#CityBranding #อัตลักษณ์ใหม่กทม. #ปั้นแบรนด์กรุงโซล #กรุงเทพฯBangkok #SkyWalk
#กรุงเทพธุรกิจ #กรุงเทพธุรกิจLifestyle #กรุงเทพธุรกิจSoftPower
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็นต่อบทความนี้