ผมกินเนื้อตั้งแต่อยู่ในท้องแม่! ‘โต-วีรชน’ เล่าที่มา ‘เนื้อแท้’ ไม่อยากผิดหวัง เลยทำกินเอง.
ทำ “เนื้อแท้” เพราะหาเนื้อดีๆ กินไม่ได้! “โต-วีรชน” จับมือ “ตาล-นภศูล” เล่าที่มาอาณาจักรเนื้อแท้ ละเอียดตั้งแต่วิธีสืบพันธุ์-น้ำเชื้อ-ปีเชือดวัว มอง “รสชาติ” เป็นหัวใจสำคัญ อาหารอร่อยตัดโอกาสเจ๊งได้เกินครึ่ง หักความเชื่อเนื้อดีเฉพาะส่วน วัวที่ดีต้องอร่อยทั้งตัว
.
เกินกว่าหนึ่งทศวรรษแล้ว ที่ “โต-วีรชน ศรัทธายิ่ง” หรือที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันในชื่อ “โต ซิลลี่ฟูลส์” อดีตนักร้องนำวงร็อคระดับตำนานยุติบทบาทสมาชิกวงซิลลี่ฟูลส์ลง ไม่นานหลังจากนั้นเขาไปต่อกับวง “แฮงแมน” (Hangman) และในที่สุดก็เลือกหันหลังให้กับวงการบันเทิงสู่ใต้ร่มศาสนา กระทั่งปัจจุบันสวมหมวกนักธุรกิจพ่อค้าเนื้อเต็มตัว “โต” เล่าติดตลกว่า ตนเองรักการกินเนื้อเป็นชีวิตจิตใจตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ด้วยซ้ำ อาหารที่แม่ชอบทานตอนท้อง คือสเต๊กเนื้อ พอออกมาตนก็ไม่กินอย่างอื่นอีกแล้ว
.
อย่างไรก็ตาม เขาพบว่า ตนเองไม่สามารถหาทานเนื้อรสชาติถูกปากได้เลย ด้วยความที่เป็น “เนิร์ดเนื้อวัว” มาตั้งแต่เด็ก จึงรู้ดีว่า จะควบคุมเนื้อให้อร่อยต้องเริ่มตั้งแต่กรรมวิธีการเลี้ยง การเชือด วิธีการสืบพันธุ์ สภาพอากาศที่วัวอยู่ ฯลฯ เมื่ออยากกินแต่หาไม่ได้ อยากกินแล้วไม่ผิดหวัง หนทางที่ดีที่สุด คือลุกขึ้นมาทำด้วยตัวเอง นั่นจึงเป็นที่มาของธุรกิจเนื้อแท้ โดยมี “ตาล-นภศูล รามบุตร” เพื่อนสนิทอดีตนายแบงก์เข้ามาดูแลระบบหลังบ้าน จัดการส่วนงานบริหารทั้งหมด
.
“ถ้าทำเองแล้วต้องจ่ายขนาดนั้นก็ต้องให้คนอื่นมาช่วยจ่ายด้วย ให้หลายคนมาช่วยกันกินในคุณภาพที่ผมคิดว่า เป็นมาตรฐาน เมื่อต้องทำเป็นธุรกิจก็ต้องมีตาลมาทำกับผม เพราะผมทำธุรกิจไม่เป็น ผมกินเป็น คิดเป็น แต่ตกเลข ต้องหาคนที่เข้าใจการจัดการมาช่วย” อดีตฟรอนต์แมนวงซิลลี่ฟูลส์เล่าถึงก้าวแรกของอาณาจักรคอมพานี บี บริษัทแม่ร้านเนื้อแท้
.
ความเชื่ออันแรงกล้าของ “โต” คือ เนื้อวัวไม่ได้อร่อยเพียงสามส่วนอย่างที่หลายคนเข้าใจ เฉพาะริบอายส์ (Ribeye) ทีโบน (T-bone) และสตริปลอยน์ (Striploin) มีน้ำหนักรวมกันราวๆ 15 กิโลกรัมเท่านั้น คำถามสำคัญก็คือ ส่วนที่เหลืออีก 300 กิโลกรัมของวัว ๅ ตัวไม่สามารถนำมาปรุงอาหารได้เลยใช่หรือไม่ “โต” บอกว่า อันที่จริงยังมีวิธีนำส่วนอื่นๆ มาต่อยอดได้อีกมาก แต่จะทำให้รสชาติดีครบถ้วนต้องย้อนกลับไปตั้งแต่การควบคุมคุณภาพเนื้อให้ได้มาตรฐาน
.
โตระบุว่า “Pain Point” ส่วนตัวที่เจอมา คือกลับไปซื้อเนื้อร้านเดิมแต่รสชาติไม่ดีเหมือนเคย เป็นเพราะคุณภาพในการเชือดวัวแต่ละตัวไม่เท่ากัน หน้าร้านที่รับซื้อเนื้อวัวจากซัพพลายเออร์ก็อาจจะไม่รู้รายละเอียดเรื่องนี้มากนัก “โต” จึงโฟกัสไปที่การเลี้ยงภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ไม่เพียงขั้นตอนการสืบพันธุ์หรือน้ำเชื้อพ่อพันธุ์เท่านั้น แต่ต้องดูไปถึงปีเชือด เชือดปีที่ฟันวัวขึ้นกี่ซี่ 4 ซี่ หรือ 6 ซี่ เพราะไม่อยากซื้อกินแล้วผิดหวังจึงลุกขึ้นมาทำเอง และเมื่อมองว่า คุณภาพเท่านี้น่าจะไปต่อได้ “ตาล-นภศูล” จึงเข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์คนสำคัญในการเคลื่อนทัพธุรกิจ “เนื้อแท้”
.
ตาลบอกว่า หน้าที่ในการคิดเป็นของโต เพราะสัมผัสการรับรสของหุ้นส่วนคนนี้ละเอียดถี่ยิบ เขาเปรียบเปรยว่า หากคนทั่วไปรับรสจากอาหารได้ 7 รสชาติ โตอาจจะสัมผัสได้มากถึง 70 รสชาติ หากบอกว่า จานไหนอร่อยก็มั่นใจได้ทันที เริ่มแรกที่ทำธุรกิจทั้งคู่ลองทดลองหมักบ่มเนื้อด้วยกระบวนการ “ดรายเอจ” (Dry-Aged) แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้เนื้อแท้เริ่ม “คิดใหญ่” มากขึ้น เพราะนานวันเข้าก็เริ่มหาซัพพลายเออร์เนื้อวัวที่ถูกปากไม่ได้แล้ว จึงเป็นที่มาในการนำเข้าวัวจากออสเตรเลียมากถึง 2,000 ตัว
.
เหตุผลที่ต้องนำเข้าวัวเป็นตัว “ตาล” บอกว่า ช่วงเริ่มต้นธุรกิจภาษีนำเข้าเนื้อวัวสูงถึง 400% แต่หากเป็นวัวตัวเป็นๆ ภาษีจะอยู่ที่ 0% ครั้นจะนำเข้าทีละ 1-2 ตัวก็คงไม่ได้ ต้องมีอย่างน้อยครึ่งลำเรือ น้อยที่สุด 800 ตัว มากที่สุดคือ 2,000 ตัว เมื่อมีวัวเป็นร้อยตัวในมือ โจทย์ต่อมา คือต้องหาที่ขายเนื้อวัวหลักร้อยตัวให้ได้ “โต” บอกกับ “ตาล” ว่า หากไม่ได้วัวพันธุ์นี้เข้ามาจะไม่ทำธุรกิจร้านอาหารเด็ดขาด เชื่อว่า วัตถุดิบที่ดีตัดโอกาสร้านเจ๊งได้ 70% เพราะไม่ต้องอธิบายเยอะ ไม่ต้องหวังลมๆ แล้งๆ ว่า จะขายได้หรือไม่ สินค้าที่ดีจะโปรโมตได้ด้วยตัวเอง
.
.
#กรุงเทพธุรกิจ #กรุงเทพธุรกิจBusiness
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็นต่อบทความนี้