‘ซีอาร์จี’ เฟ้นแบรนด์ใหม่เสริมแกร่ง มอง 5 ปี ต้องโต ทะยานรายได้ทะลุ ‘พันล้าน’

“ซีอาร์จี” หนึ่งในยักษ์ใหญ่ธุรกิจเครือข่ายร้านอาหารหรือเชน ในพอร์ตโฟลิโอมีกว่า 20 แบรนด์ เช่น เคเอฟซี มิสเตอร์ โดนัท อานตี้ แอนส์ เปปเปอร์ ลันซ์ โอโตยะ ร้านอาหารที่ร่วมทุน เช่น นักล่าหมูกะทะ ชินคันเซ็น ซูชิ เป็นต้น และมีจำนวนร้านอาหารที่ให้บริการแก่ผู้บริโภคราว 1,600 สาขา

กลยุทธ์การเคลื่อนธุรกิจอาหารของบริษัทนอกจากโตด้วยตัวเองหรือ Organic แล้ว มรรควิธี “ทางลัด” ผนึกพันธมิตรร่วมทุน และซื้อกิจการมาเสริมพอร์ตยังเห็นต่อเนื่อง

ณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) เปิดเผยว่า บริษัทยังเดินหน้าเจรจาหรือดีลกับพันธมิตร โดยเฉพาะผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารเอสเอ็มอีอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมทุนในหมวดหมู่ร้านอาหารใหม่ๆ เพื่อเสริมแกร่งพอร์ตโฟลิโอให้กับซีอาร์จี ซึ่งปัจจุบันบริษัทมองกลุ่มร้านชาบู ร้านปิ้งย่างหรือยากินิกุ ยังมีโอกาสเติบโต แม้จะมีร้านจำนวนมาก
ทั้งนี้ ตามแผนบริษัทต้องการเพิ่มแบรนด์ร้านอาหารใหม่ 2-3 แบรนด์ โดยคุณสมบัติสำคัญที่มองหา ประกอบด้วย 1.กระแสความนิยมในตลาดและหมู่ผู้บริโภคเป็นอย่างไร 2.เทรนด์ของผู้บริโภคยังให้ความสนใจในการรับประทานอาหารหมวดหมู่นั้นๆต่อเนื่องหรือไม่ 3.ราคาต่อหัวหรือต่อคน ต้องอยู่ในจุดที่เหมาะสม ไม่แพงมาก เนื่องจากบริษัทต้องการขยายสาขาจำนวนมาก เจาะกลุ่มเป้าหมายวงกว้างหรือ Casual mass และ4.พันธมิตร ผู้ประกอบการต้องมีความมุ่งมั่นทำธุรกิจต่อ ไม่ใช่ขายกิจการแล้วออกจากธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางเศรษฐกิจ กำลังซื้อเปราะบาง มีผลต่อธุรกิจร้านอาหาร อีกทั้งธุรกิจดังกล่าวเข้าง่ายออกง่าย จึงมีร้านที่ขายกิจการ ทำให้แบรนด์ใหญ่มีโอกาสช้อปกิจการต่างๆเข้ามาอยู่ในพอร์ต บริษัทไม่มองโอกาสจากธุรกิจที่อ่อนแรง ตรงกันข้ามมองศักยภาพแบรนด์ที่แกร่ง สามารถเติบโตต่อได้ โดยเฉพาะแบรนด์ที่แข็งแรง เติบโตท่ามกลางตลาดอ่อนแรง หากตลาดฟื้นตัว เติบโต จะยิ่งสปีดไปได้ไกล

“เราไม่มองโอกาสจากแบรนด์อ่อนแรง ไม่คิดอย่างนั้ แต่มองศักยภาพแบรนด์ที่แกร่ง มีการเติบโต ยิ่งแกร่งในตลาดที่เปราะบางได้ เมื่อตลาดดีแบรนด์นั้นจะยิ่งไปได้ไหล หากซื้อกิจการหรือแบรนด์ที่อ่อนแรงตอนนี้ ซื้อแล้วอาจเละทั้งคู่ อย่างไรก็ตาม ในการศึกษาความเป็นไปได้เพื่อซื้อกิจการ หรือร่วมทุนกับพันธมิตร มีอยู่ต่อเนื่อง ชาบูก็มีการคุย ซึ่งตามแผนปี 2567 เราอยากได้ 2-3 แบรนด์ใหม่ เน้นเอสเอ็มอีเพื่อทำให้ 1+1 มากกว่า 2 ทว่า เอสเอ็มอีบางรายที่แกร่งตอนนี้ยังไม่สนใจเรา เนื่องจากอยู่ได้ด้วยตัวเอง และไม่คิดจะขยายสาขาจำนวนาก แฮปปี้ในสิ่งที่ทำอยู่ หากมาเป็นพันธมิตรกับเรา ต้องมาพร้อมแผนธุรกิจ ต้องเติบโตค่อนข้างมาก”
อีกโจทย์ของการมีพันธมิตรแบรนด์ใหม่ “ณัฐ” ย้ำว่าศักยภาพในการเติบโตของร้านอาหารเหล่านั้นจะต้องทำรายได้วิ่งสู่ 1,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปีหลังการร่วมทุน ซึ่งที่ผ่านมา 2 แบรนด์เด่นอย่าง สลัดแฟคทอรี่ ราว2-3 ปีก่อนขนาดรายได้อยู่ระดับ 200 ล้านบาท สิ้นปีนี้คาดการณ์แตะ 800 ล้านบาท ส่วนชินคันเซ็น ซูชิตอนก่อนเป็นพันธมิตรรายได้กว่า 700 ล้านบาท ปีนี้คาดการณ์ 1,800 ล้านบาท

นอกจากนี้ แผนครึ่งปีหลัง ซีอาร์จี ลุยขยาย 8 ท็อปแบรนด์ เช่น เคเอฟซี โอโตยะ อานส์ตี้ แอนส์ มิสเตอร์ โดนัท ชินคันเซ็น ซูชิ และสลัดแฟคทอรี่ ฯ อย่างต่อเนื่อง เช่น โอโตยะ เปปเปอร์ ลันซ์จะเห็นโมเดลใหม่ๆ และบุกต่างจังหวัด

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางเศรษฐกิจกำลังซื้อเปราะบาง “ณัฐ” มองการขับเคลื่อนธุรกิจร้านอาหารต้องบริหารจัดการภายในและภายนอกเข้มข้น ได้แก่ 1.ดูแลต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ 2.ดูแลกระแสเงินสดให้ดี 3.เมนูความอร่อย คุณภาพต้องมีเสถียรภาพ และ4.การสื่อสารตลาด สร้างการรับรู้แบรนด์ต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ปี 2567 ซีอาร์จี ยังเป้าเป้าหมายรายได้กว่า 1.6 หมื่นล้านบาท โดยครึ่งปีแรกการเติบโตอยู่ในทิศทางที่ดี ขณะที่ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารกว่า 4 แสนล้านบาท คาดการณ์เติบโต 7-10% เพราะอาหารยังเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตผู้บริโภค

ความคิดเห็น

บทความที่มีคนอ่านมากที่สุด

เปิดที่มากว่าจะมาเป็น “รีเจนซี่” บรั่นดีไทย

‘HAAB’ ขายขนมไข่เดือนละ ‘3 ล้านชิ้น’ เปิดร้านมา 1 ปี เตรียมบุก ‘มาเลเซีย’ เป็นประเทศแรก

10 ปี S2O ยกเทศกาลดนตรีสู่ราชมังคลาฯ ปลุกสงกรานต์สุดว้าว!

ดั๊บเบิ้ล เอ เผยผลประกอบการปี 67 รายได้โตต่อเนื่อง กำไรเพิ่มขึ้น 22.6%

"สเวนเซ่นส์" ขอขายเครื่องดื่มครีมไข่ แตกแบรนด์ SIP โมเดลป็อปอัพสโตร์