ผ่าแนวคิด ‘สินนท์ ว่องกุศลกิจ’ เจน 3 ‘บ้านปู’ เปลี่ยนผ่านธุรกิจ มุ่งพลังงานสะอาด-ยั่งยืน
หากย้อนกลับไปส่องการบริหารงานของ กลุ่มบริษัท บ้านปู จํากัด (มหาชน) ก่อตั้งโดย “ชนินท์ ว่องกุศลกิจ” ประธานกรรมการ บ้านปู เดินทางมากว่า 40 ปี ก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ ขับเคลื่อนสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานทั้งในไทย อินโดนีเซีย จีน ออสเตรเลีย ลาว มองโกเลีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม
.
จากวันแรกของการก่อตั้ง “บริษัท เหมืองบ้านปู จำกัด” ที่หมู่บ้าน “บ้านปู” อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ในปี 2526 บ้านปูได้เติบใหญ่จนกลายเป็นผู้นำของธุรกิจพลังงานในระดับนานาชาติ ผ่าน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน และกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน
.
กว่า 4 ทศวรรษที่ผ่านมา “บ้านปู” สามารถปรับตัวและขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวข้ามทุกความท้าทายและพร้อมเติบโตสู่อนาคตตามกลยุทธ์ “Greener & Smarter” ที่มุ่งส่งมอบโซลูชันด้านพลังงาน ตอบโจทย์ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับผู้คน และสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานให้กับโลกตามพันธสัญญา “พลังบ้านปู สู่พลังงานที่ยั่งยืน (Our Way in Energy)”
.
ปัจจุบัน “บ้านปู” ได้ถูกส่งต่อมาสู่รุ่นลูก โดย “สินนท์ ว่องกุศลกิจ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แทน “สมฤดี ชัยมงคล” เมื่อวันที่ 2 เม.ย.2567 ก้าวสู่ยุคเจนใหม่ หรืออาจเรียกได้ว่า เจน 3 แห่งทศวรรษใหม่ ที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และถูกดิสรัปด้วยเทรนด์โลกร้อน เทคโนโลยี ฯลฯ
.
สำหรับ “สินนท์” เป็นทายาทของ “ชนินท์” และเป็นบุตรคนกลางในบรรดาพี่น้อง 3 คน ที่ผ่านมา ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด (Banpu NEXT) ถือเป็นธุรกิจเรือธงของกลุ่มบ้านปูในการขับเคลื่อนธุรกิจพลังงานที่ยั่งยืน
.
กลุ่ม “บ้านปู” กำหนดกลยุทธ์ “Greener & Smarter” ที่จะยกระดับโซลูชันพลังงานสะอาดเพื่อความยั่งยืนแบบครบวงจร พร้อมรองรับเมกะเทรนด์ Net-Zero และตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ต้องการลดคาร์บอน
.
คุณสินนท์ เล่าว่า ด้วยเทรนด์โลกก้าวสู่พลังงานสะอาด เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ส่งผลให้ทุกธุรกิจ โดยเฉพาะด้านพลังงานต้องปรับตัว จากปัจจุบันสัดส่วนรายได้ยังมาจากพลังงานถ่านหินเป็นหลัก ทำให้ต้องเร่งปรับแผนธุรกิจ และแผนการลงทุนเพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลง โดยขณะนี้ บ้านปู อยู่ระหว่างทำแผนต่าง ๆ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงเดือน พ.ย. 2567 นี้
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นยังมีเป้าหมายหลักคือการลดสัดส่วน EBIDTA ของถ่านหินให้ต่ำกว่า 50% ภายในปี 2573 จากปัจจุบันที่อยู่ราว 60% ขณะที่จะมุ่งเน้นรายได้จากธุรกิจอื่น ๆ เพื่อสร้างสมดุลในพอร์ตของบริษัทให้ดียิ่งขึ้น เช่น ธุรกิจก๊าซ พลังงานสะอาด แบตเตอรีรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าราคาคอมโมดิตี้ปีนี้เทียบกับปีก่อนลดลง เช่น ราคาซื้อขายถ่านหิน 6 เดือนแรกอยู่ที่ 100 ดอลลาร์ต่อตัน ขณะที่ปีก่อน 170ดอลลาร์ต่อตัน ลดลงประมาณ 40% ขณะที่ราคาแก๊สก็เช่นกัน ปีนี้ราคาขายอยู่ที่ 1.8-1.9 ดอลลาร์ต่อเอ็มซีเอฟ ซึ่งปีก่อนอยู่ระดับกว่า 2 ดอลลาร์ต่อเอ็มซีเอฟ ถือว่าลดลงประมาณ 10%
.
“จากปัจจัยดังกล่าว กลุ่มบ้านปูตั้งเป้าลดต้นทุนระดับ 1.5-3.0 ดอลลาร์ต่อตัน สำหรับถ่านหิน และ 0.06-0.07 ดอลลาร์ต่อเอ็มซีเอฟ สำหรับธุรกิจก๊าซ และรักษาความแข็งแกร่งของกระแสเงินสด ส่วนยอดขายถ่านหินทั้งปี 2567 ที่ 40.8 ล้านตัน แบ่งเป็น อินโดนีเซีย 26 ล้านตัน, ออสเตรเลีย 8.8 ล้านตัน และจีน 6 ล้านตัน
นอกจากนี้ แม้จะมีความเสี่ยงจากปัจจัยทั้งในและนอกประเทศและเศรษฐกิจไทย (GDP) ที่น่าจะเติบโตราว 2-3% ยังคงมองว่าพลังงานเป็นธุรกิจต้นน้ำ เมื่อเกิดสถานการณ์ขึ้นผลกระทบอาจน้อยกว่าธุรกิจอื่น ในช่วงครึ่งปีหลัง 2567 นี้ ยังมุ่งเน้นการดำเนินงานของธุรกิจให้ราบรื่น ผ่านการลดค่าใช้จ่ายต่างๆ และเดินหน้าลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น บ้านปูเดินหน้าสร้างความคุ้มค่าที่ยั่งยืน ด้วยพอร์ตพลังงานครบวงจร ผสมผสานทั้งพลังงานรูปแบบดั่งเดิมและแบบใหม่อย่างสมดุลในภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิก มุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและมาตรการควบคุมต้นทุน เดินหน้าลดการปล่อยคาร์บอน ยกระดับการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล จัดสรรสงลงทุนอย่างรอบคอบเพื่อสร้างความมั่นคงระยะยาว
“ด้วยการเพิ่มพอร์ตพลังงานสะอาด จะเห็นการร่วมทุนด้านดาต้าเซ็นเตอร์มากขึ้น และการเข้าสู่อุตสาหกรรมอีวี เพราะเชื่อว่ารัฐบาลได้สนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเข้าประมูลซื้อขายไฟสะอาดกว่า 3,600 เมกะวัตต์ ที่สำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมเปิดรอบ 2 เร็ว ๆ นี้”
คุณสินนท์ ถือเป็นเป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ที่มีความเป็นผู้นำ กล้าตัดสินใจ และมีแนวคิดแบบ “Growth Mindset มุ่งไปข้างหน้า มองเป้าหมายระยะยาว” รวมถึงมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ซึ่งถือเป็นอาวุธสำคัญของผู้นำธุรกิจในอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
สำหรับผลประกอบการครึ่งปีแรก 2567 ของบ้านปู มีรายได้จากการขายรวม 2,441 ล้านดอลลาร์ (88,425 ล้านบาท) กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) รวม 650 ล้านดอลลาร์ (23,547 ล้านบาท) และกำไรสุทธิ 69 ล้านดอลลาร์ (2,489 ล้านบาท) พร้อมลงทุนปีนี้กว่า 350 ล้านดอลลาร์
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็นต่อบทความนี้