เปิดรายได้ ‘6 ยักษ์กาแฟเมืองไทย’ ปี 2567 โกยฉ่ำสูงสุดทะลุหมื่นล้าน!
ความนิยมในการบริโภคกาแฟของบ้านเรายังแรงดีไม่มีตก วัดได้จากแนวโน้มการเติบโตของตลาดกาแฟไทยที่ไม่ได้มีเพียงรายใหญ่ครองตลาด แต่ยังมีรายเล็กที่โตวันโตคืน ขยายไปกี่สาขาก็ได้รับการตอบรับที่ดีต่อเนื่อง ยิ่งเป็นร้านที่มาพร้อมคอนเซปต์ “Affordable Price” หรือราคาที่สมเหตุสมผลยิ่งรุดหน้าได้ไกล
.
สำหรับปีที่ผ่านมามีเชนกาแฟหลายแห่งทยอยนำส่งงบการเงินประจำปีเป็นที่เรียบร้อย บางเจ้าเติบโตทั้งในแง่รายได้ กำไรสุทธิ และจำนวนสาขา โดยเฉพาะ “กาแฟพันธุ์ไทย” ที่แม้จะมาทีหลังเพื่อน แต่กลับโตไกล-แซงหน้าเชนใหญ่หลายแห่ง พร้อมเร่งเครื่องทำตามเป้าใหญ่สู่ร้านกาแฟที่มีสาขามากที่สุดในประเทศ
ทว่า ปัจจุบัน “คาเฟ่ อเมซอน” (Café Amazon) ยังครองตำแหน่งร้านกาแฟที่มีจำนวนสาขามากสุด ยิ่งช่วงหลังที่ธุรกิจหลักของบริษัทแม่อย่าง “ปตท.” ต้องเจอความท้าทายเรื่องราคาน้ำมันในตลาดโลก ก็พบว่า สัดส่วนรายได้กลุ่มธุรกิจไลฟ์สไตล์ซึ่งมี “คาเฟ่ อเมซอน” เป็นพอร์ชันใหญ่สุดกลับโตวันโตคืน พร้อมกับการทุ่มสรรพกำลังชิงก้อนเค้กทั้งใน และนอกประเทศ ด้วยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างในยุคของ “ดิษทัต ปันยารชุน” เพื่อทำให้คาเฟ่ อเมซอน บริหารจัดการได้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น
.
:: Café Amazon ขึ้นแท่นธุรกิจหลักเจ้าพ่อน้ำมัน ในไทยก็โต นอกประเทศยังไปได้อีก ::
ต้นปี 2568 บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ “OR” เปิดเผยผลการดำเนินงานปี 2567 โดยระบุว่า มีรายได้จากการขายและบริการ 723,958 ล้านบาท ลดลงราว 5.9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ให้เหตุผลว่า มาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงรวมถึงปริมาณการขายก็ลดลงด้วย
.
แต่ที่น่าสนใจ คือ กลุ่มธุรกิจขาไลฟ์สไตล์ที่เป็นร่มใหญ่ของธุรกิจค้าปลีกอาหารและเครื่องดื่มเติบโต 8.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ลึกลงในรายละเอียดยังพบว่า “EBITDA” หรือกำไรก่อนหักภาษี และค่าเสื่อมต่างๆ ของกลุ่มธุรกิจไลฟ์สไตล์ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 อยู่ที่ 4,887 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,124 ล้านบาท หรือโตขึ้นมากกว่า 100% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ส่วนกำไรสุทธิก็โต 100% เช่นเดียวกัน
.
ปัจจุบันสัดส่วนธุรกิจไลฟ์สไตล์ของ OR มี “คาเฟ่ อเมซอน” เป็นแบรนด์เรือธง นอกจากนั้นยังมี “Pearly Tea” ร้านชานมไข่มุกจากไต้หวัน “Pacamara Coffee Roasters” ร้านกาแฟสเปเชียลตี้ที่ OR เข้าถือหุ้นใหญ่กว่า 81% รวมถึงบิวตี้สโตร์ “found & found” ที่เร่งขยายได้เป็น 10 สาขาในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 สะท้อนว่า ทิศทางของ OR ไม่ได้พึ่งพาธุรกิจขายน้ำมันเพียงอย่างเดียวอีกแล้ว แต่ยังปรับโฟกัสไปที่ฝั่งค้าปลีกมากขึ้นด้วย
ไล่เลียงความเคลื่อนไหวใหญ่ๆ ในปีที่ผ่านมา มีโมเดล “OR Space” คอนวีเนียนมอลล์ที่พัฒนาจากปั๊มน้ำมันกึ่งคอมมูนิตี้มอลล์ จนกลายเป็น “OR Space” ที่ไม่มีหัวจ่ายน้ำมันอยู่ในพื้นที่ โดยก่อนหน้านี้ “สุชาติ ระมาศ” ผู้อำนวยการใหญ่ OR เคยบอกไว้ว่า อนาคตอยากผลักดันสัดส่วน Non-oil มากกว่านี้ ตอนนี้ค้าปลีกกินส่วนแบ่งพอร์ตโฟลิโอของ OR ทั้งเครือราว 30% มองว่า เป็นโอกาสทางธุรกิจ บริษัทไม่สามารถอยู่เฉยได้ ต้องหาอะไรใหม่ๆ เข้ามาเสริมทัพบ้าง
.
อย่างไรก็ตาม “คาเฟ่ อเมซอน” ยังคงเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจค้าปลีก-ไลฟ์สไตล์ ปีที่ผ่านมียอดขายรวมทั้งหมด 400 ล้านแก้ว เฉลี่ยตกเดือนละ 33 ล้านแก้ว หรือขายได้มากถึง 1.1 ล้านแก้วต่อวัน ส่วนยอดขายทั้งหมดในปี 2567 อยู่ที่ “389 ล้านบาท” เติบโตจากปีก่อนหน้า 18% มีสาขาในประเทศ 4,485 แห่ง นอกประเทศ 437 แห่ง รวมทั้งสิ้นตอนนี้มีสาขาทั้งหมด 4,922 แห่ง (ตัวเลข ณ เดือนเมษายน 2568)
.
สำหรับสาขานอกประเทศ พบว่า “กัมพูชา” มีจำนวนสาขาคาเฟ่ อเมซอน มากที่สุดรวม 254 แห่ง ส่วนปั๊ม ปตท. มีทั้งสิ้น 186 แห่ง นอกจากร้านกาแฟยังมีร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น (7-Eleven) และร้านสะดวกซัก “Otteri” ที่ OR ถือหุ้นอยู่ 40% เข้าไปเปิดกิจการร่วมด้วย
.
แม้จะมีสาขาเยอะสุดในไทย (ไม่นับรวม All Café ในร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven) แต่ผู้บริหารก็มองว่า คาเฟ่ อเมซอน ยังไปได้อีก ที่ผ่านมา OR ภายใต้การบริหารของ “ดิษทัต ปันยารชุน” หัวเรือใหญ่ที่เพิ่งอำลาตำแหน่งไปเมื่อปลายปี 2567 ปฏิรูปโครงสร้างธุรกิจคาเฟ่ อเมซอน แบ่งออกเป็นสามส่วนหลักๆ ตั้งแต่ต้นน้ำในการจัดซื้อวัตถุดิบ กลางน้ำเพื่อดูแลการผลิต และการดำเนินการ และปลายน้ำกำกับดูแลร้านค้าหลายพันแห่ง เชื่อว่า ถ้าพัฒนาต้นน้ำได้ดี ร้านก็สามารถผลิตกาแฟคุณภาพสูงได้
.
“คาเฟ่ อเมซอน” มีแหล่งปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิก้า และกาแฟโรบัสต้าทางภาคเหนือ ร่วมมือกับเกษตรกรในพื้นที่ทั้งในโครงการหลวง สหกรณ์การเกษตร และวิสาหกิจชุมชน มีโรงคั่วกาแฟเป็นของตัวเองที่มีกำลังการผลิต 2,700 ตันต่อปี ตั้งอยู่ที่อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
:: “กาแฟพันธุ์ไทย” ม้ามืดที่เกิดช้า แต่มีแววนำไกลกว่าใครเพื่อน ::
นี่คือ ร้านกาแฟที่อยู่ในสัดส่วนธุรกิจ Non-oil ของพีทีจี เอ็นเนอยี หรือ “PTG” ภายใต้การนำของ “พิทักษ์ รัชกิจประการ” เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2555 ตลอดเกือบสิบปีที่เปิดกิจการมา “กาแฟพันธุ์ไทย” อยู่ในสภาวะขาดทุนมาโดยตลอด ทว่า พลิกทำกำไรได้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2565 ซึ่งเป็นจุดหักเลี้ยวที่ทำให้กาแฟพันธุ์ไทยติดสปีดอย่างก้าวกระโดด
.
ผลประกอบการ บริษัท กาแฟพันธุ์ไทย จำกัด ในปี 2565 มีรายได้รวม 404 ล้านบาท กำไรสุทธิ 78 ล้านบาท และหลังจากนั้น ทั้งรายได้ และกำไรก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งปีล่าสุดทำรายได้ไป “3,049 ล้านบาท” กำไรสุทธิ “291 ล้านบาท” เฉพาะรายได้โตเกือบๆ 116% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
.
ก่อนหน้านี้ผู้บริหารเคยให้ข้อมูลไว้ว่า ยอดขายส่วนใหญ่มาจากสาขาเดิม หรือ “Same-Store Sales Growth” ที่ยังคงเติบโตราวๆ 20-30% ยอดขายเฉลี่ยต่อสาขาอยู่ที่ 100-120 แก้วต่อวันต่อสาขา เป้าหมายในการขยายสาขาเพิ่มขึ้นทุกปี บวกกับกลยุทธ์การตลาดผ่าน “บัตรแดง” หรือ “PT Max Card Plus” ที่นำไปซื้อเครื่องดื่มร้านกาแฟพันธุ์ไทยแบบมีส่วนลด ทั้งหมดมีส่วนทำให้รายได้ และแบรนดิ้งกาแฟพันธุ์ไทยรุดหน้าขึ้นทุกปี
.
ปีนี้เฉพาะไตรมาสแรก “กาแฟพันธุ์ไทย” ตั้งเป้าขยายเพิ่มอีก 146 แห่ง และยังคงเป้าใหญ่ในการไปให้ถึง 5,000 แห่งภายในปี 2571 ไว้เหมือนเดิม หากทำได้เท่ากับว่า “กาแฟพันธุ์ไทย” จะขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในแง่จำนวนสาขาแซงหน้า “คาเฟ่ อเมซอน” จะทำได้หรือไม่คงต้องจับตาดูกันต่อไป
.
เพราะการขยายสาขาอย่างรวดเร็วในระยะเวลาเพียง 3 ปีไม่ใช่เรื่องง่าย ยากที่สุดสำหรับธุรกิจร้านกาแฟ คือ การพัฒนาทรัพยากรบุคคล โดยเฉพาะกลุ่มพนักงานระดับซีเนียร์ที่ต้องอาศัยความชำนาญ-สั่งสมประสบการณ์พักใหญ่
:: เงือกเขียวเสียแชมป์ระดับโลก แต่ยังครองเบอร์ 1 ในไทย ::
2-3 ปีที่ผ่าน ไม่ใช่ปีที่ดีของสตาร์บัคส์เท่าไร มีการเปลี่ยนตัวผู้บริหารที่เข้ามานั่งได้เพียงไม่นาน ถึงขั้นต้องปลดออกกลางทางเพราะยอดขายที่ย่ำแย่ กระทั่งได้ “บิ๊กดีล” ดึง “ไบรอัน นิกโคล” (Brian Niccol) อดีตผู้บริหารที่คร่ำหวอดในวงการอาหารมาหลายแห่ง มีการยุบ-เพิ่ม-ยกเลิกหลายอย่างเพื่อปรับทิศทางธุรกิจให้เข้าที่เข้าทางมากขึ้น
.
วิกฤติสตาร์บัคส์ร้ายแรงถึงขนาดที่ “โฮวาร์ด ชูลท์ส” (Howard Schultz) อดีตผู้บริหารสตาร์บัคส์ออกมาแสดงความเห็นผ่านบล็อกส่วนตัวว่า สตาร์บัคส์ต้องเร่งแก้ไขข้อผิดพลาดโดยด่วน ครั้งนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องรีบสำนึกผิด และหาต้นตอให้เร็วที่สุด มองว่า โจทย์สำคัญของสตาร์บัคส์ไม่ใช่การเพิ่มยอดการใช้จ่ายของลูกค้า แต่จะทำอย่างไรให้ผู้บริโภครู้สึกว่า ต้องมาใช้บริการที่ร้านสตาร์บัคส์เท่านั้น
.
ในขณะที่บรรยากาศของสตาร์บัคส์ระดับโลกดุเดือด ฝั่งสตาร์บัคส์ ประเทศไทย ไม่ได้มีทิศทางเดียวกับบริษัทแม่เสียทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น การปรับกลยุทธ์ 1 แถม 1 ที่ฝั่ง “ไบรอัน นิกโคล” บอกว่า จะลดสัดส่วนโปรโมชันนี้ลง ขณะที่ผู้บริหารไทยบอกว่า ยังคงโปรโมชันดังกล่าวเหมือนเดิม ความถี่อาจจะน้อยลง ไม่ได้เน้นทำบ่อยมากแค่พอให้หายคิดถึงกัน หรือเรื่องการตัดเมนูตระกูล “Frappuccino” ออก เพื่อลดขั้นตอนการทำเครื่องดื่มให้ลีนมากที่สุด สำหรับของไทยก็พบว่า ยังไม่มีความเคลื่อนไหวล้อไปตามนโยบายที่ว่ามา
แม้กระทั่งแผนยกเลิกชาร์จราคาเมนูนมพืช ที่ทางสตาร์บัคส์บริษัทแม่ยกเลิกเก็บเงินส่วนต่างหากลูกค้าต้องการเปลี่ยนวัตถุดิบจากนมวัวเป็นนมพืช ของไทยพบว่า ยังคงไว้เช่นเดิม ไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามนโยบายดังกล่าว เทียบเคียงกันแล้วทิศทางของ “สตาร์บัคส์ ประเทศไทย” ยังสดใส เมื่อดูตัวเลขผลประกอบการ “บริษัท คอฟฟี่ คอนเซ็ปต์ รีเทล จำกัด” ปีล่าสุด พบว่า ทำเงินทะลุหลัก “หมื่นล้านบาท” ได้สำเร็จ
.
เมื่อพลิกดูตัวเลขพบว่า สัดส่วนกำไรสุทธิลดลงเล็กน้อยราว 5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่ภาพรวมธุรกิจกาแฟเงือกเขียวในไทยยังไปได้ดี ปัจจุบันมีจำนวนสาขา 525 แห่ง อัตราการเปิดสาขาใหม่เฉลี่ยที่ 30 แห่งต่อปี โดย “เนตรนภา ศรีสมัย” กรรมการผู้จัดการ สตาร์บัคส์ ประเทศไทย เคยให้ข้อมูลไว้ว่า ในฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “ไทย” ถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูง ยังมีที่ทางให้ขยายสาขาใหม่ๆ ได้อีกเรื่อยๆ
:: “อินทนิล” โตเสมอตัว “Black Canyon” ขายดีขึ้น ส่วน “True Coffee” เริ่มไปนอกช็อป ::
นอกจาก “คาเฟ่ อเมซอน” และ “กาแฟพันธุ์ไทย” ที่โตไปพร้อม Core Business อย่างปั๊มน้ำมัน ฟากฝั่งค่ายบางจากก็มี “อินทนิล” (Inthanin) ก่อตั้งขึ้นในปี 2549 ปัจจุบันมีอยู่ทั้งสิ้น 1,060 สาขา พร้อมกับรายได้ปีล่าสุด “1,100 ล้านบาท” กำไรสุทธิ “11.7 ล้านบาท” โดยหากดูรายได้ย้อนหลังของกาแฟอินทนิลภายใต้การบริหารของ บริษัท บางจาก รีเทล จำกัด พบว่า มีความเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ทำเงินแตะหลักพันล้านได้มาตั้งแต่ปี 2565
.
ผู้บริหารบางจาก รีเทล เคยให้ข้อมูลไว้ว่า ธุรกิจร้านกาแฟยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก ปัจจุบันบางจากมีปั๊มน้ำมัน 2,200 แห่ง แต่ร้านอินทนิลมีเพียง 1,000 แห่ง (ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2567) มองว่า “อินทนิล” ยังมีโอกาสโตต่อทั้งใน และนอกพื้นที่ให้บริการปั๊มน้ำมัน แผนติดสปีดหลังจากนี้อยากเร่งขยายสาขาให้ได้ 200 แห่งต่อปี พร้อมเจาะ Gen Z เป็นกลุ่มเป้าหมายถัดไป
.
สำหรับ “แบล็ค แคนยอน” (Black Canyon) น่าจะเป็นเชนกาแฟที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในไทย อยู่มานาน 32 ปีเต็ม แม้ภาพลักษณ์จะให้ความรู้สึกเหมือนแบรนด์จากต่างประเทศ แต่ “แบล็ค แคนยอน” ก่อตั้งและบริหารโดยคนไทยแท้ๆ
ข้อมูลจากเว็บไซต์ Creden Data ระบุว่า บริษัท แบล็ค แคนยอน (ประเทศไทย) จำกัด อยู่ภายใต้การบริหารของตระกูลจิตนราพงศ์ มีบริษัท โปร-ลายน์ โฮลดิ้ง จำกัด บริษัทโฮลดิ้งของตระกูล ประกอบธุรกิจกี่ยวกับค้าขายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และซอฟต์แวร์เป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 สัดส่วน 20.37%
.
ส่วนรายได้ของ “แบล็ค แคนยอน” พบว่า ทำเงินได้ราวๆ 1,300-1,500 ล้านบาทมาตลอดสิบปี ทำกำไรสม่ำเสมอ ยกเว้นในช่วงปี 2562-2564 ที่ติดลบสูงสุดถึงร้อยล้านบาท คาดว่า เป็นผลกระทบจากสถานการณ์ล็อกดาวน์ เพราะสาขาส่วนใหญ่ของ “แบล็ค แคนยอน” ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า
.
ด้าน “ทรูคอฟฟี่” (True Coffee) ก่อตั้งขึ้นในปี 2549 แรกเริ่มเดิมทีมาจากแนวคิดที่ต้องการเสิร์ฟเครื่องดื่ม และเบเกอรีให้ลูกค้าที่มารอจ่ายบิลค่าโทรศัพท์ แต่ไปๆ มาๆ รสชาติของทรูเริ่มกลายเป็นที่ติดอกติดใจ ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ “ชานมเย็นเกล็ดหิมะ” เป็นที่เลื่องลือถึงความหอมอร่อยนัวแบบไม่มีใครเหมือน แต่ที่มากไปกว่านั้น คือ พฤติกรรมการดื่มกาแฟของคนไทยที่โตวันโตคืน จนทำให้เกิด “ทรูคอฟฟี่” ไม่ได้หยุดแค่ร้านสำหรับนั่งรอ แต่ยังเป็น “เดสทิเนชัน” ที่ลูกค้าเดินเข้ามาซื้อเพราะนึกถึง
รายได้ปี 2567 ของ “ทรูคอฟฟี่” ภายใต้บริษัท ทรู ไลฟ์สไตล์ รีเทล จำกัด อยู่ที่ “264 ล้านบาท” ขาดทุนสุทธิ “226 ล้านบาท” ส่วนปีอื่นๆ ก่อนหน้ารายได้ยังคงเกาะกลุ่มที่หลัก 200-400 ล้านบาท โดยเป้าหมายที่เคยประกาศไว้จะมีการขยายสาขามากขึ้น ไม่ได้จำกัดตัวเองไว้กับช็อปทรูเพียงอย่างเดียว แต่เป็นร้านกาแฟที่พร้อมสู้ในสมรภูมิที่ดุเดือดพร้อมกับความต้องการที่มากขึ้นทุกวัน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็นต่อบทความนี้