กางแผน ‘เซ็นทรัล’ หันมาทำ ‘ห้างเล็ก’ อยากเจาะย่านคนรวย ไม่เหลือที่ให้ห้างใหญ่แล้ว ?.
ไม่ใช่ทุกที่จะสร้างห้างใหญ่ได้? กางแผน “เซ็นทรัลพัฒนา” บุกโมเดล “คอมมูนิตี้มอลล์” ทยอยรีโนเวทของเดิม เพิ่มเติมคือสร้างใหม่อีก 5 แห่ง ไม่หวั่นคู่แข่งเยอะ เชื่อตนเองมีประสบการณ์ มีหลายอย่างที่คนอื่นทำไม่ได้!
.
ระยะหลังมานี้ยักษ์ค้าปลีกเบอร์ต้นของประเทศ อย่าง “เซ็นทรัลพัฒนา” (CPN) มีความเคลื่อนไหวต่อเนื่อง ทั้งการสร้างห้างใหม่พร้อมรีโนเวทห้างเดิมอีกหลายแห่ง และล่าสุดยังได้ประกาศแผนพัฒนา “คอมมูนิตี้มอลล์” ภายใต้ชื่อ “มาร์เก็ตเพลส” (Market Place) ด้วยงบลงทุน 2,000 ล้านบาท ครอบคลุมรีโนเวทโครงการเดิมที่ได้จากการเข้าเทคโอเวอร์ “สยามฟิวเจอร์ฯ” 15 แห่ง บวกกับสร้างใหม่อีก 5 แห่ง (ทยอยสร้างปีละ 1 แห่ง) ซึ่งผู้บริหารที่เป็นหัวเรือใหญ่ของบอกว่า “คอมมูนิตี้มอลล์” โมเดลดังกล่าวจะเข้ามาเติมเต็มในส่วนที่ห้างใหญ่ทำไม่ได้
“วุฒิเกียรติ เตชะมงคลาภิวัฒน์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานปฏิบัติการ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ “CPN” และหัวหน้าคณะผู้บริหารธุรกิจคอมมูนิตี้มอลล์ เล่าให้ฟังว่า ทุกวันนี้ความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนไปแล้ว ความสะดวกสบายเป็นเรื่องแรกๆ ที่นึกถึงโดยเฉพาะกลุ่มคนเมือง ที่สำคัญ คนกลุ่มนี้มีเวลาจำกัด อยากใช้เวลาหลังเลิกงานให้เป็นประโยชน์ “คอมมูนิตี้มอลล์” จึงเข้ามาตอบโจทย์หลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะขนาดที่ค่อนข้างกะทัดรัดกว่าศูนย์การค้าขนาดใหญ่ สามารถไปเปิดกลางแหล่งชุมชนได้ เข้าออกสะดวกสบาย ใช้เวลาในการช้อปปิ้งไม่มาก
.
หากเทียบเคียงเรื่อง “Catchment Area” คนที่มาเดินคอมมูนิตี้มอลล์อาจจะควักกระเป๋าน้อยกว่ากลุ่มคนเดินห้างใหญ่ แต่ระหว่างบรรทัดกลับพบว่า ความถี่ในการจับจ่ายมีมากกว่า เพราะอยู่ใกล้บ้าน มีกิจกรรมที่หลากหลาย เข้าออกง่ายกว่าไปห้างใหญ่อย่างมีนัยสำคัญ
“วุฒิเกียรติ” บอกว่า 14 จาก 15 แห่งที่มีอยู่ตอนนี้ตั้งตระหง่านใจกลางกรุงเทพฯ ทั้งหมด มีเพียง 1 แห่งอยู่ที่พัทยา โดยข้อได้เปรียบของ “คอมมูนิตี้มอลล์” คือสามารถเจาะไข่แดงในที่ๆ ห้างใหญ่ไปไม่ถึง เช่น ย่านพหลโยธิน อารีย์ หรือทองหล่อ ที่ไม่สามารถสร้างห้างใหญ่ได้ ทว่า คอมมูนิตี้มอลล์ทั้งหมดของกลุ่มเซ็นทรัลตอนนี้อยู่ในโซน “Strategic Location” ทั้งหมด
ด้าน “สุรางค์ จิรัฐิติกาลโชติ” กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) เล่าเจาะรายละเอียด 15 โครงการเดิมว่า ได้มีการรีแบรนดิ้งครั้งใหญ่ไปแล้ว ด้วยการปรับชื่อแบรนด์เป็น “Market Place” ทั้งหมด ตามด้วยโลเกชันหรือชื่อเดิมของคอมมูนิตี้มอลล์ยกตัวอย่างเช่น “Market Place ลา วิลล่า อารีย์” หรือ “Market Place เจ อเวนิว ทองหล่อ” เป็นต้น เวลาเปิดปิดของแต่ละโครงการก็จะไม่เหมือนกัน บางแห่งเปิดเช้า บางแห่งเน้นปิดค่ำ เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมลูกค้าแต่ละย่าน
ส่วน 5 โครงการใหม่ที่จะทยอยผุดขึ้นตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป ในเดือนมกราคม 2568 จะได้เห็น “Market Place เทพรักษ์” เป็นแห่งแรก “สุรางค์” เล่าว่า ในเชิงกายภาพแล้ว พื้นที่บนถนนเทพรักษ์มีความน่าสนใจมาก รอบข้างมีถนนพหลโยธินเป็นแกนหลัก อีกฟากคือถนนสุขาภิบาล 5 ตัดด้วยถนนรามอินทรา ถนนเทพรักษ์ และถนนวัชรพล
“เทพรักษ์” จะเป็นไข่แดงตรงกลาง ซึ่งย่านดังกล่าวมีหมู่บ้านจัดสรรระดับพรีเมียมค่อนข้างเยอะ อีกทั้งที่ตั้งของ “Market Place เทพรักษ์” ยังอยู่ฝั่งขาเข้า ซึ่งเป็นทางกลับบ้านที่ทุกคนในย่านนั้นต้องผ่านด้วย
ในระยะยาว ถนนเทพรักษ์จะมารองรับความหนาแน่นต่อจากเส้นรามอินทรา อนาคตจะมีผู้พัฒนาโครงการเข้ามาต่อยอดอีกมากมาย โดยเฉพาะโครงการบ้านจัดสรรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกในกรอบเวลา 5 ถึง 10 ปี “สุรางค์” ระบุว่า ทำเลนี้มีครัวเรือนอยู่ราวๆ 174,000 ยูนิต มีอัตราการเติบโตของหมู่บ้าน 2.4% และมีประชากรอาศัยอยู่โดยรอบเกือบๆ 4 แสนคน โดยในจำนวนนี้เป็นกลุ่มครอบครัวที่มีกำลังซื้อ และมีไลฟ์สไตล์แบบพรีเมียมด้วย
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีแค่กลุ่มเซ็นทรัลเท่านั้นที่ให้ความสนใจธุรกิจคอมมูนิตี้มอลล์ ก่อนหน้านี้ก็มีอีกหลายเจ้าที่เข้ามาช่วงชิงในสนามเดียวกัน “วุฒิเกียรติ” บอกว่า ตนไม่ได้ให้ความสำคัญที่จำนวนคู่แข่ง แต่มองว่า “โลเกชัน” ต่างหาก คือสิ่งสำคัญที่สุด
เชื่อว่า จุดแข็งของกลุ่มเซ็นทรัล คือความเข้าใจลูกค้า และประสบการณ์ที่มีมายาวนาน เครือข่ายระหว่างร้านค้าที่เชื่อว่า มีอยู่มากกว่า และที่สำคัญ คือโปรดักต์ที่หลากหลาย เพราะเซ็นทรัลไม่ได้ทำเพียงค้าปลีก แต่ยังมีคอนโดมิเนียม หรือโมเดลมิกซ์ยูสที่ทำให้มีความยืดหยุ่นมากกว่าคนอื่นๆ
หัวเรือใหญ่ธุรกิจคอมมูนิตี้มอลล์ทิ้งท้ายว่า งบลงทุน 2,000 ล้านบาท จะนำไปพัฒนาสาขาใหม่เป็นหลัก โดยทั้ง 5 แห่ง จะยังเป็นสาขาในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งหมด ส่วนต่างจังหวัดก็เล็งเห็นศักยภาพ ถ้ามีโอกาสดีๆ เข้ามาคงไม่ปฏิเสธอยู่แล้ว แง้มว่า ทุกที่ที่จะไป มีห้างใหญ่ประจำการอยู่ทั้งหมด แต่ตนก็มั่นใจว่า โปรเจกต์ดี และทุกที่ยังมีช่องว่างให้เข้าไปต่อยอดอีกเรื่อยๆ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็นต่อบทความนี้