‘ชายสี่’ ฝ่าสมรภูมิสตรีทฟู้ดแข่งเดือด มุ่งแตก-โต สู้ศึก!
.
สมรภูมิสตรีทฟู้ดมูลค่า 3 แสนล้านบาท เผชิญความท้าทายของกำลังซื้อของคนในประเทศที่ชะลอตัวลง จากภาวะเศรษฐกิจตึงตัว แรงกดดันจากหนี้ครัวเรือน ทำให้ตลาดรวมในปี 2567 แบรนด์ร้านอาหารต่างมียอดขายลดลง ผู้ประกอบการร้านอาหารต้องปรับกลยุทธ์ครั้งใหญ่ หันไปรุกตลาดระดับกลางและบน รวมถึงการรีโนเวทสาขา รีแบรนดิ้ง เพื่อสร้างฐานแฟนคลับ รวมถึง “ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” แบรนด์บะหมี่ในตำนานที่อยู่ในตลาดมา 30 ปี เร่งขยายพอร์ตโฟลิโอกลุ่มแบรนด์ร้านอาหารในเครือ และรีโนเวทสาขา พร้อมส่งแบรนด์น้องใหม่ “ก๋วยเตี๋ยวเรือ เสือร้องไห้” พรีเมียมแบรนด์ท้าชนผู้นำตลาดก๋วยเตี๋ยวเรือพรีเมียม
อนุชิต สรรพอาษา กรรมการผู้จัดการบริษัท ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ฉายภาพร้านสตรีทฟู้ดปี 2567 คาดเติบโตไม่ถึง 10% ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2568 เนื่องจากการแข่งขันรุนแรง กำลังซื้อลดลง ทำให้เห็นแบรนด์ร้านสตรีทฟู้ดมีการปิดตัวลงในปีนี้พอสมควร และแบรนด์ที่อยู่รอดได้เป็นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่.
บริษัทมีแบรนด์ร้านอาหารในเครือ 10 แบรนด์ มีสตรีทฟู้ดหลัก 7 แบรนด์ ได้แก่ ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว, ชายสี่พลัส, ชายใหญ่ข้าวมันไก่, พันปีบะหมี่เป็ดย่าง, อาลีหมี่ฮาลาล, ไก่หมุนคุณพัน และ ลูกชิ้นทอดโอ้มายก๊อด พร้อมเข้าลงทุนเป็นหุ้นส่วนใหญ่ 3 แบรนด์ใหม่ ประกอบด้วย แบรนด์ขนมหวานพรีเมียม BRIX Dessert Bar, แบรนด์ “หมูสองชั้น หมูกระทะ” และ “ก๋วยเตี๋ยวเรือ เสือร้องไห้” มีต้นกำเนิดจาก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้มีการขยายสู่การเปิดสาขาแรกใน กทม. ศูนย์การค้าเซ็นทรัล อีสต์วิลล์ นำเสนอคอนเซปต์ก๋วยเตี๋ยวเรือพรีเมียมที่มี “เนื้อวัวพันธุ์ไทย” มุ่งออกแบบร้านและนำเสนอในสไตล์ใหม่ เน้นเปิดทำเลในศูนย์การค้า
.
บริษัทได้วางงบลงทุนไว้ 300 ล้านบาทในปี 2568 มุ่งเปิดใหม่ 15 สาขา เน้นขยายแบรนด์ร้านอาหารในเครือทั้งแบรนด์ก๋วยเตี๋ยวเรือ เสือร้องไห้ เปิดใหม่ 4 สาขา จากปัจจุบันมี 1 สาขา, BRIX Dessert Bar เปิดใหม่ 7 สาขา จากปัจจุบันมี 5 สาขา และ หมูสองชั้น หมูกระทะ เปิดใหม่ 4 สาขา จาก 2 สาขา
อีกแนวรุกกับการมุ่งรีแบรนดิ้งครั้งใหญ่ เพื่อขยายคนรุ่นใหม่ และสร้างฐานแฟนคลับของแต่ละแบรนด์ หรือสร้าง “กลุ่มแบรนด์เลิฟเวอร์” จากที่ผ่านมา ภาพลักษณ์ของแบรนด์ในเครือ โดยเฉพาะชายสี่บะหมี่เกี๊ยว มีฐานลูกค้าอายุ 30 ปีขึ้นไป และกลุ่มคนทำงานจำนวนมาก แต่กลุ่มคนรุ่นใหม่มีน้อย.
บริษัทมีพอร์ตรายได้หลักจาก ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว แต่อยากขยายแบรนด์ร้านอาหารที่มีอยู่ นำมาปัดฝุ่นใหม่ ทั้งรีแบรนด์ ขยายกลุ่มลูกค้า เพิ่มเมนูใหม่ให้สอดครับกับตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป จะทำให้สัดส่วนรายได้ในปีหน้า มาจากแบรนด์ใหม่ 20% ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว 80% จากปีนี้ ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว รายได้ 90% และแบรนด์ใหม่ 10%
.
พร้อมมีแผนขยายพอร์ตโฟลิโอด้วยการลงทุนเข้าไปเป็นพาร์ตเนอร์แบรนด์ใหม่ๆ ทั้งร้านอาหารญี่ปุ่น ร้านเครื่องดื่มและกาแฟ และร้านยำ โดยอยู่ระหว่างเจรจา สอดรับกับแผนมุ่งเป็น “สตรีทฟู้ดมหาชนของทุกคน”
.
อีกทั้งจะขายธุรกิจเทรดดิ้ง มาจากการนำอาหารพร้อมทานและพร้อมปรุง ไปทำตลาดผ่านช่องทางค้าปลีก เช่น ร้านซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต
ด้านแบรนด์ ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว ที่เป็นร้านแฟรนไชส์ ปัจจุบันมีสาขาให้บริการทั่วประเทศรวม 4,500 สาขา คาดภายใน 2-3 ปีข้างหน้าจะขยายสู่ 6,000 สาขา ครอบคลุมทั่วประเทศ ทำให้ไม่เน้นเปิดมากนัก แต่มุ่งโฟกัสที่ขยายแบรนด์ร้านอาหารอื่นๆ ในเครือแทน.
ภาพรวมผลประกอบการปี 2567 อยู่ที่ 1,200 ล้านบาท ขยายตัวไม่ถึง 10% โดยธุรกิจร้านอาหารในเครือมีสาขารวมกันประมาณ 5,000 สาขา
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็นต่อบทความนี้