เจาะลึกดีลช็อกวงการ JAS กระชากบอลพรีเมียร์ลีกจาก TRUE 6 ฤดูกาล 1.9 หมื่นล้าน
กลายเป็นข่าวใหญ่ที่สร้างความฮือฮา ให้แก่แฟนฟุตบอลในประเทศไทยที่ติดตามศึกลูกหนัง “พรีเมียร์ลีก”จากประเทศอังกฤษ เมื่อมีข่าวว่าลีกฟุตบอลอันดับหนึ่งของโลก กำลังจะเปลี่ยนมือผู้ถือลิขสิทธิ์ใหม่
โดยผู้ที่จะได้ครอบครองสิทธิแต่เพียงผู้เดียว (Exclusivity) รายใหม่ จากทางด้านบริษัทเอฟเอ พรีเมียร์ลีก คือ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ผู้ให้บริการ 3BB GIGATV นั่นเอง
แม้ว่าข่าวเรื่องนี้จะยังไม่มีการแถลงยืนยันใดๆ จากทาง JAS หรือ ทางเอฟเอ พรีเมียร์ลีก (FAPL) แต่มีหนังสือจากทาง JAS ส่งแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อแจ้งเรื่องการได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทเพื่อซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก รวมถึงรายการฟุตบอลเอฟเอ คัพ เป็นเวลา 6 ฤดูกาลด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ฤดูกาล 2025-26 หรือฤดูกาลถัดไป
เริ่มตั้งแต่เรื่องแรก ตกลงเป็นเรื่องจริงหรือไม่? และหากเป็นเรื่องจริงหมายความว่า TRUE ยกธงขาวยอมแพ้ในศึกครั้งนี้แล้วใช่ไหม?
:: ดีลพลิกฟ้าผ่าปฐพี ::
ตามหนังสือที่ JAS ได้ส่งให้แก่ตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีความยาวทั้งสิ้น 16 หน้า มีรายละเอียดที่สำคัญในเรื่องของการซื้อลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกดังนี้
1. ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทอนุมัติให้เข้าทำรายการเพื่อให้ได้รับสิทธิแต่เพียงผู้เดียว (Exclusivity right) ในการถ่ายทอดสดภาพ และเสียงรายการฟุตบอลพรีเมียร์ลีก และเอฟเอคัพบนอินเทอร์เน็ตทีวี (Internet TV) และ ดิจิทัล ทีวี (Digital TV) รวมถึงชุดวิดีโอสั้น (Clips package) ตลอดระยะเวลารายการฟุตบอลพรีเมียร์ลีก และเอฟเอคัพ 3 ฤดูกาล เริ่มตั้งแต่ต้นฤดูกาลฟุตบอลพรีเมียร์ลีกที่ 2025/26
2. หรือ 6 ฤดูกาล ในกรณีที่บริษัท ได้รับแจ้งจาก The Football Association Premier League Limited (FAPL) เป็นลายลักษณ์อักษรภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2567 ใน 3 ประเทศได้แก่ ประเทศไทย ประเทศลาว และประเทศกัมพูชา
3. มูลค่ารวมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 559,980,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 19,167,723,414 บาทอันประกอบไปด้วย
1. การถ่ายทอดสดภาพ และเสียง (Live Package) สำหรับฟุตบอลพรีเมียร์ลีก
2. การถ่ายทอดสดภาพ และเสียง รวมทั้งคลิปภาพ และเสียงดิจิทัลสำหรับเอฟเอคัพ (FA Rights)
3. คลิปภาพและเสียงดิจิทัล (Clips Package) สำหรับฟุตบอลพรีเมียร์ลีก
โดยที่ Standstill Agreement เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ของ Standstill Agreement จนถึงวันที่ 15 มกราคม 2568 หรือวันที่พ้น 45 วันนับแต่วันที่ FAPL นำส่งร่างสัญญาถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกแรกให้แก่บริษัท ซึ่งบริษัท และ FAPL จะต้องลงนามสัญญาถ่ายทอดสดฟุตบอล อันจะเป็นการเสร็จสิ้นกระบวนการทั้งหมด
สรุปแล้ว JAS คือ ผู้ชนะการประมูลลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีก และฟุตบอลเอฟเอ คัพ รวม 2 รายการ เป็นผู้ถือสิทธิแต่เพียงผู้เดียว (Exclusivity) ใน 3 ประเทศคือ ไทย ลาว และกัมพูชา ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ในฤดูกาล 2025/26 เป็นต้นไป แทนที่ TRUE ซึ่งสิทธิในลิขสิทธิ์ที่ได้มาจะหมดลงเมื่อสิ้นสุดฤดูกาล 2024/25 นี้พอดี
การที่ JAS เป็นผู้ชนะการประมูลยังหมายถึงการที่ TRUE ตัดสินใจถอนตัวจากการประมูลทั้งที่มีสิทธิในฐานะผู้ถือลิขสิทธิ์ปัจจุบันในการยื่นประมูลสู้เป็นรอบสุดท้ายด้วย
JAS ประมูลได้ลิขสิทธิ์ 3 หรือ 6 ฤดูกาล?
อย่างไรก็ดีสิ่งที่อาจทำให้หลายคนสงสัยคือ ถ้า JAS เป็นผู้ชนะการประมูลลิขสิทธิ์ครั้งนี้ ระยะเวลาที่ได้รับลิขสิทธิ์คือ 3 หรือ 6 ฤดูกาลกันแน่?
ในเรื่องนี้ตามสิ่งที่ JAS แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ ในเบื้องต้นได้ลิขสิทธิ์เป็นระยะเวลา 3 ฤดูกาล ตั้งแต่ฤดูกาล 2025-26, 2026-27 และ 2027-28 แต่หากได้รับแจ้งจาก FAPL เป็นลายลักษณ์อักษรภายในวันที่ 1 ธันวาคม ก็จะเป็นผู้ที่ครอบครองลิขสิทธิ์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกเป็นระยะเวลา 6 ฤดูกาลด้วยกัน ตั้งแต่ 2025-26, 2026-27, 2027-28, 2028-29, 2029-30, 2030-31 เลยทีเดียว
แหล่งข่าวอีกรายเปิดเผยว่าทางพรีเมียร์ลีกได้เชิญ JAS เข้าร่วมการประมูลลิขสิทธิ์รอบล่าสุดเมื่อราวเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา
เปิดขั้นตอนการประมูลลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีก
สำหรับลิขสิทธิ์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกนั้นทางด้าน FAPL ซึ่งเป็นบริษัทนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นสำหรับการดำเนินการเรื่องลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีกโดยเฉพาะ แยกออกเป็น 2 ส่วนหลักด้วยกัน
ส่วนแรกคือ ลิขสิทธิ์ภายในสหราชอาณาจักร เรียกว่า Domestic rights ที่จะครอบคลุมการถ่ายทอดสดภายในประเทศอังกฤษ, เวลส์, สกอตแลน์ และไอร์แลนด์เหนือ โดยมูลค่าการประมูลลิขสิทธิ์รวมสูงถึง 6.7 พันล้านปอนด์ หรือ 2.97 แสนล้านบาท สำหรับระยะเวลา 4 ฤดูกาล ซึ่งมีการประกาศเมื่อเดือนธันวาคม 2023 ที่ผ่านมา
โดยที่ FAPL มีการแบ่งแพ็กเกจลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดออกเป็นหลายแพ็กเกจ เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาด แต่ผู้ที่ได้ลิขสิทธิ์มากที่สุดคือ Sky Sports ที่เป็นเบอร์หนึ่งมาตลอดตั้งแต่ก่อตั้งพรีเมียร์ลีกในปี 1992 นอกจากนี้ยังมีแพ็กเกจไฮไลต์ฟุตบอลที่สถานีโทรทัศน์ BBC ได้ไปครองเพื่อฉายในรายการฟุตบอลอมตะ Match of the Day และลิขสิทธิ์สำหรับการบรรยายเกมทางวิทยุซึ่ง BBC และ talkSPORT ได้ไปครอง
อีกส่วนเรียกว่าลิขสิทธิ์สำหรับการถ่ายทอดสดในต่างประเทศ หรือ Overseas rights ซึ่งปัจจุบัน FAPL ได้ยกเลิกระบบตัวแทน มาเป็นการขอเจรจาตรงกับผู้ให้บริการรายต่างๆ ทั่วโลกเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้นระหว่างการเจรจาด้วย
โดยลิขสิทธิ์ Overseas rights นั้นข้อตกลงในแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกันออกไป แต่โดยหลักแล้วระยะเวลาของสัญญา (Cycle) ในการประมูลจะอยู่มี 2 แบบด้วยกันคือ 3 ปี หรือ 6 ปี ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นระยะเวลา 3 ปี
แต่มีบางประเทศที่มีการประมูลลิขสิทธิ์แบบรอบ 6 ปี เช่น สถานีโทรทัศน์ NBC คว้าลิขสิทธิ์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก สำหรับการฉายในประเทศสหรัฐอเมริกา รอบล่าสุดตั้งแต่ฤดูกาล 2022-23 จนถึง 2027-28 เลยทีเดียว
:: ความพ่ายแพ้ของ TRUE? ::
สำหรับ TRUE ซึ่งถูกมองว่าเป็นเจ้าพ่อฟุตบอลพรีเมียร์ลีกที่อยู่คู่กันมาแต่อ้อนแต่ออก ตั้งแต่ยุค IBC สู่ UBC จนมาถึงปัจจุบันกับทรู วิชั่นส์ การสูญเสียฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ซึ่งถือเป็นคอนเทนต์กีฬาที่ดีที่สุดในโลกไปนับเป็นความเสียหายที่ร้ายแรงอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ดีนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ TRUE เจอกับความพ่ายแพ้ในสนามนี้ เพราะก่อนหน้านี้เคยแพ้การประมูลในรอบฤดูกาล 2013-14 จนถึงฤดูกาล 2015-16 ให้แก่ซีทีเอช (CTH) ที่เชื่อว่าทุ่มเงินมหาศาลกว่า 9 พันล้านบาท สูงกว่า TRUE ที่เป็นผู้ชนะการประมูลในรอบก่อนหน้าที่จ่ายค่าลิขสิทธิ์แค่ราว 2,000 ล้านบาท แบบเทียบกันไม่ติด
TRUE เพิ่งจะกลับมาชนะการประมูลในรอบล่าสุดสำหรับฤดูกาล 2022-23 จนถึงฤดูกาล 2024-25 ที่ผ่านมา โดยเชื่อว่าตัวเลขอยู่ที่หลัก “หมื่นล้านบาท” เลยทีเดียว
และตัวเลขการประมูลที่มหาศาลขนาดนี้อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ TRUE ตัดสินใจถอยไม่สู้ในรอบการประมูลใหม่ เพราะอาจมองว่าไม่สามารถหารายได้เพียงพอแม้จะมีความพยายามในการเชื่อมโยงคอนเทนต์กับบริการต่างๆ ในเครือ เช่น True Visions, TrueID, TrueOnline, True Move H ในการส่งเสริมการขายแล้วก็ตาม
จุดที่น่าสังเกตคือ การขายแพ็กเกจรับชมฟุตบอลพรีเมียร์ลีกในฤดูกาลปัจจุบัน (2024-25) มีราคาที่เพิ่มจากฤดูกาลที่แล้วนับเท่าตัว จาก 2,900 บาทเป็น 5,900 บาท จนถูกโจมตีอย่างมากจากแฟนฟุตบอลชาวไทยที่มองว่าเป็นการไม่เห็นใจผู้บริโภคที่พร้อมสนับสนุน และยืนหยัดข้างผู้ถือลิขสิทธิ์ที่ถูกต้องมาตลอด
จนในเวลาแค่ 1 เดือนหลังฤดูกาลเริ่มต้น ราคาแพ็กเกจสำหรับการรับชมทั้งฤดูกาลลดลงมาเหลือเพียง 3,900 บาท ซึ่งอาจเป็นกระจกสะท้อนถึงปัญหายอดขาย และจำนวนผู้ใช้บริการที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ไม่นับเรื่องของความสับสนในช่องทางการรับชม เพราะมีทั้ง TrueID ที่เป็นบริการออนไลน์แบบเดิม และ True Visions Now ช่องทางรับชมออนไลน์แบบใหม่ ซึ่งแยกจากกันสิ้นเชิง
กระนั้นหาก TRUE สูญเสียลิขสิทธิ์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกจริงในครั้งนี้ ก็อาจไม่ได้แปลว่าเป็นข่าวร้ายเสมอไป เพราะสิ่งที่เสียไปกับราคาที่ต้องจ่ายมหาศาลก็อาจไม่ใช่ทางเลือกที่คุ้มค่าสำหรับผู้ให้บริการ
ปัจจุบันทรู วิชั่นส์ ยังมีฟุตบอลทั้งใน และต่างประเทศให้รับชมมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ยูเอฟา แชมเปียนส์ ลีก, ยูเอฟา ยูโรปา ลีก, ยูเอฟา ยูโรปา คอนเฟอเรนซ์ ลีก และฟุตบอลเอฟเอ คัพ สำหรับฤดูกาล 2024-25 ซึ่งฉายทางช่อง beIN SPORTS ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตัวจริง
รวมถึงฟุตบอลไทยลีก 1 และไทยลีก 2 ที่ทรู วิชั่นส์ คว้าลิขสิทธิ์ของฤดูกาล 2024-25 มาครอง
:: การบ้านสำหรับ JAS ::
ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกได้รับนิยามว่าเป็น “The Greatest Show on Earth” หรือการแสดงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งก็หมายความเช่นนั้นจริงเพราะเป็นรายการฟุตบอลที่ได้รับความนิยมสูงสุดตลอดกาลไปทั่วโลก มีแฟนฟุตบอลติดตามรับชมมากที่สุด
และที่สำคัญที่สุดคือ เป็นฟุตบอลที่ได้รับความนิยมสูงสุดตลอดกาลสำหรับแฟนฟุตบอลชาวไทยที่ติดตามมายาวนานมากกว่า 40-50 ปี จากรุ่นสู่รุ่น
การที่ JAS มีโอกาสได้ลิขสิทธิ์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก เปรียบได้กับการได้ “ราชาแห่งคอนเทนต์” มาครอบครองที่จะเป็นโอกาสครั้งใหญ่ในการต่อยอดธุรกิจในเครือ โดยเฉพาะ 3BB GIGATV บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และช่อง Monomax ผู้ให้บริการระบบบอกรับสมาชิก (Subscription Channel)
โดยแหล่งข่าวระบุว่าแฟนฟุตบอลชาวไทยจะได้รับชมฟุตบอลพรีเมียร์ลีกผ่านทางช่อง “Monomax” ซึ่งเป็นช่องทางออนไลน์ สามารถรับชมได้หลายวิธี ตั้งแต่การชมบนเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลผ่านเว็บเบราเซอร์ ไปจนถึงการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่มีทั้งบนระบบ iOS, Android ไปจนถึง HuaweiTV รวมถึงกล่อง Android ด้วย
แต่เรื่องนี้คือ โจทย์และความท้าทายสำหรับ JAS ด้วยเช่นกัน
เริ่มตั้งแต่ “คุณภาพของการถ่ายทอดสด” ที่จะต้องมีความชัดเจน ไม่ดีเลย์ มีความเสถียรสูงสุด สามารถเลือกความชัดในการรับชมได้ (ซึ่งเป็นจุดที่ TRUE ถูกตำหนิอย่างมากเพราะลดความละเอียดในการรับชมผ่านเบราเซอร์)
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของรายการวิเคราะห์ฟุตบอลที่ “เครื่องเคียง” ที่ส่งเสริมให้ “อาหารจานหลัก” อย่างพรีเมียร์ลีกโดดเด่นยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของผู้ถือลิขสิทธิ์เองด้วย
และที่สำคัญที่สุดที่แฟนฟุตบอลคาดหวังไว้คือ เรื่องของ “ค่าบริการ”
ถ้าทำราคามาได้ดีพอ แฟนฟุตบอลจำนวนมหาศาลในเวลานี้ที่พร้อมจะสนับสนุนของถูกลิขสิทธิ์อย่างแน่นอน
ฝากเป็นการบ้านไว้สำหรับ JAS ด้วยหากได้รับข่าวดีจากพรีเมียร์ลีกจริง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็นต่อบทความนี้