สื่อดิจิทัลเรือธงดันตลาด 1.2 แสนล. เงินเฟ้อสื่อ 7%-ชี้3เทรนด์โฆษณาแรง
.
นางปัทมวรรณ สถาพร นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย หรือ Media Agency Association of Thailand (MAAT) เปิดเผยว่า สมาคมฯ มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนและพัฒนาอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาของไทยอย่างต่อเนื่อง การผนึกกำลังและความร่วมมือของสมาชิกสมาคมฯ ในการนำเสนอข้อมูลและวิเคราะห์เชิงลึก ถือเป็นหัวใจสำคัญในการ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไปข้างหน้า เชื่อมั่นว่าข้อมูลและการวิเคราะห์ที่ซึ่งเกิดจากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของสมาชิกเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ประกอบการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการวางแผนกลยุทธ์ที่เหมาะสม รับมือกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อ และขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน
โดยในปี 2568 นี้ ทางสมาคมฯ คาดการณ์ว่าภาพรวมตลาดสื่อโฆษณาในประเทศไทย ยังคงมีแนวโน้มเติบโต หรือมีเม็ดเงินโฆษณาเพิ่มขึ้นอีก 3.9% จากปี 2567 คิดเป็นมูลค่ารวม 122,885 ล้านบาท และยังคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของมูลค่าสื่อในปีนี้ที่ 7%
.
นางปัทมวรรณ กล่าวต่อว่า สำหรับปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมสื่อและโฆษณาในปี 2568 คือ การเติบโตอย่างต่อเนื่องของสื่อดิจิทัล ที่มีส่วนแบ่งการใช้จ่าย 35% หรือกว่า 42,873 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปี 2567 ที่มีมูลค่า 37,444 ล้านบาท และมีแนวโน้มที่จะเข้าใกล้กับทีวีที่มีส่วนแบ่ง 41% หรือกว่า 50,661 ล้านบาท ลดลงจากปี 2567 ที่มีมูลค่า 53,049 ล้านบาท ถึงแม้ว่าโทรทัศน์ยังคงเป็นสื่อหลักที่ครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด แต่การเติบโตของดิจิทัลแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในภูมิทัศน์ของสื่อโฆษณา
.
ทั้งนี้ยังคาดการณ์ด้วยว่า สัดส่วนการใช้งบประมาณบนสื่อโฆษณาในปี 2568 จะประกอบด้วย
1.โทรทัศน์ ยังคงเป็นสื่อหลักที่ครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด คิดเป็น 41% ของมูลค่ารวม หรือ 50,661 ล้านบาท
2.ดิจิทัล อยู่อันดับสอง คิดเป็น 35% ของมูลค่ารวม
3.สื่อนอกบ้านและสื่อโฆษณาเคลื่อนที่รวมกัน 16%
4.โรงภาพยนตร์ 3%
5.วิทยุ 3%
6.หนังสือพิมพ์1%
อย่างไรก็ตาม ทางสมาคมฯ ยังได้นำเสนอ เทรนด์สื่อและโฆษณาที่มาแรงในปี 2568 ด้วยว่า มีอยู่ 3 เทรนด์ คือ
1.Predictive Targeting การใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีเพื่อคาดการณ์ความสนใจและความ ต้องการของผู้บริโภค เพื่อนำเสนอโฆษณาที่ตรงเป้าหมายและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
2.Branded Content Inspiration การสร้างสรรค์เนื้อหาที่น่าสนใจและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้บริโภค เพื่อสร้างความผูกพันกับแบรนด์และส่งเสริมการมีส่วนร่วม
3.User-Generated Brand การสนับสนุนให้ผู้บริโภคสร้างเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและเพิ่มการรับรู้แบรนด์ในวงกว้าง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็นต่อบทความนี้