คนไทยกินชาส้มทะลุ ‘4 แสนแก้ว’ ร้านเปิดใหม่เพิ่มขึ้น 205% ยอดสั่งซื้อโตแซงหน้ากาแฟ
จับตากระแส “ชาไทย” ยังแรงดีไม่มีตก แม้มัทฉะโตพุ่งแต่ชาไทยยังได้รับความนิยมสูง พบ ปีที่แล้วมีร้านเปิดใหม่เพิ่มขึ้น 205% ยอดสั่งซื้อทะลุ “4 แสนแก้ว” ด้านเจ้าของร้านชาไทย ชี้ ต่างชาติขานรับ-ปักหมุดต้องกินชาไทยให้ได้
.
กระแส “ชาไทย” หรือ “ชาเย็น” โตแรงเพิ่มขึ้นทุกปีไม่มีหยุด จากที่เราคุ้นชินกับภาพของชาสีส้มตามรถเข็น หลายปีมานี้ชาไทยถูกยกระดับให้มีความพิเศษเพิ่มขึ้นไปอีก จากรูปแบบเดิมสู่การเกิดขึ้นของ “ชาไทยพิเศษ” หรือชาไทยสเปเชียลตี้ ที่เคล้าไปด้วยความละเมียดละไมในการคัดสรรกลิ่น-รส คล้ายกับตลาดกาแฟพิเศษที่ผู้บริโภคสามารถเลือกเมล็ดกาแฟได้ตามความชอบ
.
ข้อมูลจาก “ไลน์แมน วงใน” (LINE MAN Wongnai) ระบุว่า ปี 2565 คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้อุตสาหกรรมชาขยายตัวในเชิงโครงสร้างมากขึ้น ทั้งคุณภาพ ความหลากหลายของแหล่งปลูกชา รวมถึงกำลังการผลิต ส่งผลให้ประเทศไทยอยู่ในฐานะตลาดค้าชาที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 7 ของโลก “ชาไทย” จึงเป็นที่ต้องการอย่างมากทั้งในไทยและต่างประเทศ
.
“แพร-มิญชยา บูรณะเศรษฐกุล” เจ้าของร้าน “KHIRI Thai Tea” ร้านชาไทยพิเศษเจ้าแรกในไทย เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า เธอรักการดื่มชาไทยตั้งแต่เด็กๆ เคยมีประสบการณ์ทำร้านกาแฟมาก่อน แต่เพราะสถานการณ์ระหว่างเกิดโรคระบาด ทำให้เธอได้อยู่ท่ามกลางอุตสาหกรรมชาในฐานะผู้ประกอบการ “มิญชยา” มองว่า เมนูชาไทยในคาเฟ่มีความหลากหลายน้อยกว่ากาแฟที่เลือกได้ทั้งเมล็ด กลิ่น รส คงจะดีเหมือนกันถ้าคนรักชาได้เลือกใบชาอย่างที่ตัวเองชอบ นั่นจึงเป็นที่มาของร้าน “KHIRI Thai Tea”
.
แรกเริ่มเดิมที “มิญชยา” คลุกคลีกับธุรกิจร้านกาแฟมาก่อน แต่จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในช่วงล็อกดาวน์ เมื่อทุกร้านค้าต้องปิดลงชั่วคราวเมล็ดกาแฟจากเกษตรกรจึงอยู่ในภาวะ “Over-supply” เพราะไม่มีคนรับซื้อ เมื่อขายไม่ได้เกษตรกรก็ต้องดั๊มป์ราคาให้ถูกลง ทำให้กลุ่มผู้ปลูกเมล็ดกาแฟมองหาพืชชนิดอื่นๆ ทดแทนรายได้จนมาเจอกับใบชา
.
เจ้าของร้าน “KHIRI Thai Tea” บอกว่า ซัพพลายเออร์เกษตรกรที่ผูกปิ่นโตกันมาเริ่มแนะนำให้เธอปลูกชาคู่ขนานกันไป ข้อดีของชา คือสามารถปลูกในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกับกาแฟได้ อีกทั้งยังสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปีไม่เกี่ยงฤดูกาล ในช่วงทดสอบรสชาติ “มิญชยา” เกิดไอเดียอยากปรับแต่งใบชาเผื่อว่าในอนาคตจะต่อยอดเป็นธุรกิจได้ บวกกับความชอบดื่มชาของของตนเป็นทุนเดิม
.
“เราปลูกในแหล่งแต่ละจังหวัดตามชื่อที่ตั้ง แหล่งชาที่ดีที่สุดอยู่ที่ภาคเหนือ จังหวัดเชียงรายเป็นพื้นที่สูงขั้นบันได มีความชื้นพอเหมาะที่จะได้ชารสชาติที่ดี ซึ่งส่วนใหญ่เขาจะปลูกพวกผลไม้ตระกูลเบอร์รี่หรือดอกไม้ที่มีกลิ่นฉุนหน่อย พวกนี้จะส่งผลให้ใบชาออกมารสชาติตามนั้น เวลาผึ้งผสมเกสรดอกไม้ก็จะผสมจากต้นไม้ใกล้เคียงที่ปลูก อาจจะมีสตรอเบอร์รี่ มัลเบอร์รี่ ลูกพรุน ฯลฯ ตัวดินและตัวเกสรจากพืชเหล่านั้นจะทำให้ใบชามีรสชาติต่างกัน”
.
สำหรับตลาดชาไทยโดยเฉพาะชาไทยพิเศษ จากฐานข้อมูลของ “ไลน์แมน วงใน” พบว่า ระหว่างปี 2565-2567 การเติบโตของชาไทยพิเศษเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ มีร้านชาไทยพิเศษเปิดใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 205% สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใส่ใจการเลือกชาไทยคุณภาพสูงมากขึ้น
.
เฉพาะปีที่แล้วมียอดสั่งซื้อชาไทยพิเศษผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรีไลน์แมนรวมกันมากถึง “4 แสนแก้ว” โตขึ้น 81% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยปี 2566 มียอดสั่งซื้อราวๆ “2 แสนแก้ว” ปี 2565 “1 แสนแก้ว” และปี 2564 อยู่ที่ “8-9 หมื่นแก้ว” ส่วนพื้นที่ที่มีร้านชาไทยพิเศษมากที่สุดยังตกเป็นของ “กรุงเทพฯ” คิดเป็นสัดส่วน 46% ของร้านชาไทยพิเศษทั้งหมดประเทศ ตามมาด้วย “นนทบุรี” และ “ชลบุรี”
.
อย่างไรก็ตาม ในภาพใหญ่ของตลาดสเปเชียลตี้หรือเครื่องดื่มพิเศษ “กาแฟ” ยังเป็นผู้นำตลาดในแง่จำนวน ส่วนชาไทยมีการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและน่าจับตามอง หากเทียงเคียงสัดส่วนในช่วง 3 ปีก่อนหน้า พบว่า ยอดสั่งซื้อชาไทยพิเศษโตขึ้นกว่า 3.3 เท่า ขณะที่กาแฟพิเศษเติบโตราวๆ 2.7 เท่า น่าสนใจว่า หลังจากนี้ตลาดชาไทยจะยืนระยะความป็อปปูลาร์ได้อีกไกลแค่ไหน เพราะนอกจากชาไทย เร็วๆ นี้ “มัทฉะ” หรือ “ชาเขียว” ก็โตแรงจนของขาดตลาด เกิดภาวะกักตุน-รีเซลผงมัทฉะพร้อมราคาขายเกรดพรีเมียมที่กระโดดแรงไปไกลถึงแก้วละ 250-300 บาท
.
#กรุงเทพธุรกิจ #InsightForOpportunities #กรุงเทพธุรกิจLifestyle #กรุงเทพธุรกิจBusiness
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็นต่อบทความนี้