‘โรงเรียนไทย’ ทยอยตาย ส่วน ‘โรงเรียนนานาชาติ’ เปิดใหม่ทุกปี ค่าเทอมครึ่งล้านก็ยอมจ่าย!

โรงเรียนอินเตอร์ยังโตต่อ! ยักษ์การศึกษา “Learn Corporation” เปิดโรงเรียนใหม่ เน้นส่งเด็กเข้าหลักสูตรอินเตอร์ฯ-เรียนต่อต่างประเทศ ชี้ สอนท่องจำไม่ตอบโจทย์อีกแล้ว พ่อแม่สมัยนี้อยากต่อยอดภาษา-อาชีพในฝัน แม้เด็กเกิดใหม่น้อยลงแต่กลุ่มตลาดบนยังทุ่มไม่อั้น

.

งานวิจัยแทบทุกแห่งรวมถึงผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการศึกษาต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ขณะนี้ธุรกิจโรงเรียนอินเตอร์ หรือ “โรงเรียนนานาชาติ” ยังมีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สวนทางโรงเรียนไทยทั้งรัฐและเอกชนที่มีจำนวนเด็กนักเรียนน้อยลงทุกปี แม้ว่า สาเหตุหลักจะมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงจนหน้าใจหาย แต่ขณะเดียวกันก็พบว่า “เด็กอินเตอร์เกิดใหม่” กลับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ “SCBEIC” เคยระบุไว้ว่า ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติมีแนวโน้มการแข่งขันที่เข้มข้นอย่างรุนแรง โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพชั้นนอกและเขตปริมณฑลพบว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2556 ถึง ปี 2566) มีโรงเรียนนานาชาติเพิ่มขึ้นราวๆ 5% ต่อปี ทั้งยังมีกลุ่มประเทศ “CLMV” รวมถึงคนจีนให้ความสนใจ-หนุนการเติบโตไปพร้อมกันด้วย

.

สอดคล้องกับทิศทางธุรกิจการศึกษา-กวดวิชาในไทยที่มีการปรับตัวไปตามความต้องการของผู้ปกครองและเด็กๆ ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการทำเกรดในโรงเรียนเหมือนเดิมอีกแล้ว

สุธี อัศววิมล” หรือ “พี่โหน่ง ออนดีมานด์” เจ้าของสถาบันกวดวิชาออนดีมานด์ (On-demand) และกรรมการบริหาร บริษัท เลิร์น คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บอกว่า ก่อนหน้านี้กลุ่มเลิร์นได้เข้ามาบริหารโรงเรียนเลิร์นสาธิตพัฒนาด้วยเป้าหมายที่ต้องการผลักดันให้เด็กไทยเรียนต่อต่างประเทศด้วยราคาที่สมเหตุสมผล จากเดิมหลักสูตรอินเตอร์สนนค่าเล่าเรียน 1 ล้านบาท/ปี ที่เลิร์นสาธิตพัฒนาจ่ายราวๆ 3-4 แสนบาท/ปี ทำให้ความฝันเรื่องการศึกษาที่ดีเข้าใกล้กลุ่มชนชั้นกลางได้ง่ายขึ้น

.

จากการบริหารโรงเรียนเลิร์นสาธิตพัฒนา มาปีนี้กลุ่มเลิร์นตั้งโจทย์ใหม่ เปิด “Mastery School” โรงเรียนไทยยุคใหม่เน้นผลักดันเด็กๆ เรียนต่อมหาวิทยาลัยระดับท็อปของไทย และ “Crest School” ใช้หลักสูตรที่ได้รับการรับรองจากประเทศออสเตรเลีย สามารถเรียนต่อมหาวิทยาลัยระดับท็อปได้ทั่วโลก

.

“สุธี” ให้ข้อมูลว่า การทำโรงเรียนเลิร์นสาธิตพัฒนามา 5-6 ปี ทำให้มั่นใจได้ว่า กลุ่มเลิร์นต้องการทำโรงเรียนแนว “Modern School” เพื่อเติมเต็มอีโคซิสเทมให้ครบถ้วน โดยทั้งสองแห่งตั้งอยู่ใจกลางเมือง สะดวกต่อการเดินทาง ง่ายต่อการทำงานพาร์ทเนอร์ร่วมกับองค์กรใหญ่ๆ ที่มีความสามารถได้อีกมาก

.

แนวคิดการทำ “Modern School” อาจเป็นเรื่องใหม่สำหรับเมืองไทย แต่สำหรับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก โรงเรียนลักษณะดังกล่าวมีมาพักใหญ่แล้ว อาทิ อังกฤษ สหรัฐ ฮ่องกง มี “Modern School” ตามตึกสูงและคอมมูนิตี้มอลล์เป็นจำนวนมาก ทั้ง 2 โรงเรียนเปิดรับเฉพาะนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มองว่า การศึกษาของเด็กโตจัดสรรได้ง่ายกว่าในเชิงพื้นที่

.

เพราะเด็กโตไม่ต้องมีสนามเด็กเล่นหรือใช้พื้นที่สันทนาการมากเท่ากับเด็กเล็ก แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น คือกลุ่มเด็กมัธยมปลายต้องการวาง “Career track” หรือเส้นทางอาชีพให้ชัดเจน จึงเป็นที่มาว่า เพราะเหตุใดระดับชั้นมัธยมตอนปลายจึงเป็นจังหวะแรก

“คอนเซปต์ของ Modern School เหมือนโรงเรียนปกติทั่วไป เด็กๆ ต้องสแกนหน้าเมื่อเข้าหรือออกจากพื้นที่โรงเรียน จากนั้นระบบจะขึ้นแจ้งเตือนที่โทรศัพท์มือถือของผู้ปกครอง เราไม่ใช่โรงเรียนเปิด ไม่ใช่โรงเรียนทางเลือก แต่ถ้าพูดถึงความเข้มข้นของเส้นทางอาชีพเด็กๆ ตัวนี้จะเป็นความชำนาญพิเศษของบริษัทในเครือเลิร์น การทำ Modern School จึงเป็นจิกซอว์ถัดมา ซึ่งเรารวมเอาจิกซอว์เก่าๆ ที่เป็นความชำนาญของเลิร์นมารวมกัน เราไม่ได้กำลังทำเรื่องใหม่ เรากำลังต่อยอดสิ่งที่เราทำสำเร็จอยู่แล้วมาอยู่ในบริบทใหม่มากกว่า”

.

ด้าน “ณัชชา พลาพิภัทร” ผู้บริหารโรงเรียนระบุว่า การดูแลนักเรียนของฝั่ง “Crest School” จะแบ่งหลักสูตรเป็น 4 แผนการเรียน ตามความสนใจของเด็กๆ ได้แก่ 1. สายแพทย์ 2. สายวิศวกรรม 3. สายบริหารธุรกิจ และ 4. สายสังคม

.

เนื่องจาก “Crest School” เน้นการส่งเด็กเรียนต่อมหาวิทยาลัยระดับท็อปของโลก จึงให้ความสำคัญที่การทำคะแนนสอบให้ถึงเกณฑ์ตามที่มหาวิทยาลัยต้องการ ช่วยเด็กๆ ปั้นพอร์ตโฟลิโอแบบตัวต่อตัว รวมถึงการเตรียมใบสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยทีมครูที่จะเข้ามาประกบมาจากทีมผู้สอนของ “Ignite by On-demand” และ “EduSmith” สถาบันกวดวิชาในเครือเลิร์นที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะ

.

ส่วน “Mastery School” จะเป็นโรงเรียนไทยยุคใหม่ที่ไม่เน้นท่องจำ สอนแบบตรงประเด็น นำไปใช้ได้จริง มีความรู้ด้านวิชาชีพที่เด็กๆ สนใจ ความพิเศษของแผนการสอนที่นี่จะดีไซน์หลักสูตรออกมาแบบ “2+1” คือเรียนจบมัธยมปลายได้ภายใน 2 ปี ส่วนอีก 1 ปีที่เหลือใช้สำหรับการเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัย เพื่อลดเวลาทำการบ้าน จัดสัดส่วนการเรียนรู้เท่าที่จำเป็น ใช้เวลา 1 ปีที่เหลือสำหรับค้นหาตัวตนและความชอบ

.

ทั้งนี้ “Mastery School” มีทั้งหมด 3 แผนการเรียน ได้แก่ 1. สายแพทย์ 2. สายวิศวกรรม และ 3. สายบริหารธุรกิจ สิ่งที่จะได้รับ คือการเตรียมตัวสอบ ทำข้อสอบ และได้ลงมือทำจริงในสายอาชีพ

.

อย่าไรก็ตาม “สาธร อุพันวัน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เลิร์น คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ขณะนี้แนวโน้มการเรียนภาคภาษาอังกฤษทั้งในไทยและประเทศรอบข้างเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่า อัตราการเกิดของเด็กไทยจะลดลง ส่งผลให้โรงเรียนไทยแบบเดิมได้รับผลกระทบในระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันก็พบว่า อัตราความต้องการการเรียนระดับชั้นมัธยมยังสูง โดยเฉพาะการเรียนในภาคภาษาอังกฤษหรือ “ภาคอินเตอร์” ที่โตแบบ “Double Digits” มาตลอดหลายปี

.

สอดคล้องความเห็นจาก “สุธี” หรือ “พี่โหน่ง” ที่ระบุว่า ปัญหาการเรียนการสอนในไทยตอนนี้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มไฮเอนด์ หรือตลาดบน และ 2. กลุ่มรากหญ้า พบว่า กลุ่มตลาดบนมีค่าใช้จ่ายต่อหัวของเด็กๆ ก่อนจบการศึกษาสูงกว่าเดิมเยอะมาก เป็นเหตุผลว่า ทำไมเราจึงเห็นโรงเรียนอินเตอร์-โรงเรียนนานาชาติเปิดเพิ่มขึ้นทุกปี ขณะที่โรงเรียนเอกชนระดับกลางๆ ทยอยล้มหายตายจาก

.

ทางแก้ของเรื่องนี้ คือต้องผลักดันให้เกิดมาตรฐานการศึกษาที่ไม่แพงจนเกินไป ค่าเทอมเฉียดปีละล้านแม้แต่กลุ่มกลางค่อนบนก็อาจจะจ่ายไม่ไหวแล้วด้วยซ้ำ ส่วนกลุ่มรากหญ้าเป็นกลุ่มที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ไม่อย่างนั้นเด็กๆ กลุ่มนี้จะลงท้ายที่หลุดออกจากระบบการศึกษาและไปต่อไม่ได้

.

“อันต่อมา คือการจัดสรรทรัพยากรของภาครัฐต้องมีการ Reallocation ในเรื่องการวางระบบ เพื่อรองรับเด็กที่น้อยลงแต่ทำอย่างไรให้ใช้ทรัพยากรกับตัวเด็กๆ มากขึ้น ถึงแม้ตอนนี้เด็กจะเกิดน้อยลงแต่มีอีกปัญหาขึ้นมา คือเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษากลางคันไม่ได้น้อยลงเลย เมื่อเทียบกับสมัยก่อนอาจจะเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ จะทำอย่างไรไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบโรงเรียนก่อนเวลาอันควร เรื่องนี้เรื่องใหญ่มาก”

.

“พี่โหน่ง” ยังเสริมต่อด้วยว่า นอกจากความรู้ด้านวิชาการ ทีมเลิร์นยังเพิ่มส่วนที่ไม่ค่อยได้เห็นในโรงเรียนส่วนใหญ่เข้ามาด้วย นั่นคือวิชา “Symphony of Life” หรือทักษะชีวิตที่จำเป็น เช่น การจัดเวลา การวางแผนทางการเงิน วิชาดีลกับคน วิชาดีลกับความเจ็บปวด ฯลฯ พวกนี้ไม่มีสอนในโรงเรียนแต่มีความจำเป็นกับการใช้ชีวิตอย่างมาก จบไปแล้วไม่ใช่แค่ติดสอบติดมหาวิทยาลัย แต่ต้องใช้ชีวิตให้มีความสุขด้วย

.

“เรามีวิชาชีวิตด้วย เรียกว่า “Symphony of Life” นัยคือองค์ประกอบของคนที่จะมีชีวิตที่ดีแล้วมีความสุขไม่ใช่การเล่นเครื่องดนตรีชิ้นเดียว ต้องเป็นเครื่องดนตรีหลายชิ้นที่เล่นพร้อมกัน ส่วนหนึ่งของวิชาที่เราทำในหลักสูตรนี้ เช่น วิชาสุขภาพและอุบัติเหตุ หรือวิชาสุขภาพและความปลอดภัย สมมติถ้าเด็กๆ ยืนเบียดกันแล้วตกรางรถไฟฟ้าต้องทำอย่างไร ถ้าเด็กไม่รู้เขายืนตาค้างแน่ สิ่งที่ต้องทำจริงๆ คือมุดใต้ชานชาลา ตรงส่วนรางจะมีด้านข้างยื่นออกมาแล้วมุดเข้าไปได้ เรื่องพวกนี้เราต้องสอนเด็ก เป็นเรื่องที่เราวิจัยแล้วต้องเจาะให้เด็กๆ เราไม่มีกรอบมาก แต่ให้เด็กได้ใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงๆ” 

ความคิดเห็น

บทความที่มีคนอ่านมากที่สุด

‘HAAB’ ขายขนมไข่เดือนละ ‘3 ล้านชิ้น’ เปิดร้านมา 1 ปี เตรียมบุก ‘มาเลเซีย’ เป็นประเทศแรก

Heineken 0.0 เบยร์ไม่มีแอลกอฮอลล์ แกกกฏโฆษณา และฉีกภาพเบียร์ในตำนาน

ครั้งแรกในไทย KFC คอนเซ็ปต์ใหม่ “Quick & Easy” ตอบโจทย์ Digital lifestyle ยุคใหม่ นำร่องแห่งแรกที่ “ท่าวังหลัง” .

วงการหนังสือโตต่อ แต่ต้นทุนก็สูงไม่หยุด! “PUBAT” ชี้ “นิยายวาย” พุ่งแรง 45% แต่ภาพใหญ่ยังต้องพึ่งรัฐอีกมาก

สงครามร้านชานมไข่มุกพลิกสู่บลูโอเชี่ยน! ‘แบร์เฮาส์’ ผุด 109 สาขา ปี 71