‘การบินไทย’ ผนึก ‘บางกอกแอร์เวย์ส’ ลงทุน 1.1 หมื่นล้าน ประมูลศูนย์ซ่อมฯ อู่ตะเภา
"การบินไทย" ประกาศพร้อมลงทุนโปรเจกต์ใหญ่หลังพ้นฟื้นฟูกิจการ เตรียมร่วม "บางกอกแอร์" เดินหน้าประมูล MRO อู่ตะเภา เม็ดเงิน 1.1 หมื่นล้านบาท
.
17 มิ.ย.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติยกเลิกมติเดิมที่เคยอนุมัติให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ลงทุนพัฒนาโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) แต่เนื่องจากปัจจุบันการบินไทยได้พ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการตามมติเดิมได้ จึงจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบโครงการเป็นการให้เอกชนเช่าที่ดินเพื่อประกอบกิจการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานแทน
.
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ระบุว่า หลัง ครม.มีมติยกเลิกมติเดิม และมีผลปรับเปลี่ยนให้ MRO สามารถดำเนินการลงทุนในรูปแบบอื่นได้ EEC จึงเตรียมนำที่ดินในโครงการดังกล่าวออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน ซึ่งมีเป้าหมายจะเปิดให้นักลงทุนไทยมีโอกาสในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการนี้เป็นลำดับแรก
.
อย่างไรก็ดี EEC ได้หารือร่วมกับการบินไทย และบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ทราบว่าจะร่วมลงทุนในโครงการนี้ ปัจจุบันมีความพร้อมและจัดสรรเงินลงทุนไว้แล้ว ดังนั้นจึงมั่นใจว่าโครงการ MRO จะเดินหน้าได้ตามเป้าหมาย ซึ่ง EEC คาดหวังให้โครงการนี้เดินหน้าไปพร้อมกับโครงการท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ดังนั้นคาดว่าจะได้เห็นการก่อสร้างโครงการภายในปีนี้
.
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ MRO นับเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่โครงการแรกที่การบินไทยจะเข้าร่วมลงทุน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ร่วมกับ BA ในการศึกษาความเหมาะสมของการร่วมทุนในโครงการนี้ ประเมินวงเงินลงทุนไว้ที่ราว 10,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันการบินไทยศึกษาโครงการมีความชัดเจนแล้ว และมีความพร้อมเข้าร่วมลงทุนทันทีหาก EEC กำหนดเงื่อนไขประมูลแล้วเสร็จ
.
สำหรับแผนลงทุนของการบินไทยที่เคยศึกษาไว้ก่อนหน้านี้ พบว่าโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานจะดำเนินการบนพื้นที่ประมาณ 210 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ของกรมธนารักษ์ที่อยู่ในความครอบครองของกองทัพเรือ โดยประเมินวงเงินลงทุนอยู่ที่ราว 1 หมื่นล้านบาท
.
โดยศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานจะรองรับการซ่อมบำรุงอากาศยาน ประกอบด้วย
.
◾ การซ่อมใหญ่อากาศยาน (Heavy Maintenance)
.
▪ รองรับอากาศยานลำตัวกว้างได้พร้อมกัน 3 ลำ
▪ รองรับอากาศยานลำตัวกว้างได้ 110 ลำต่อปี
▪ รองรับอากาศยานลำตัวแคบ 130 ลำต่อปี
.
◾ การซ่อมบำรุงระดับลานจอด (Line Maintenance)
.
▪ รองรับอากาศยานลำตัวกว้างและแคบได้ 70 เที่ยวบินต่อวัน
.
◾ การพ่นสีอากาศยานทั้งลำตัวแคบ และลำตัวกว้าง
.
▪ รองรับอากาศยานได้ราว 22 ลำต่อปี
.
นอกจากนี้ยังมีจุดเด่นพัฒนาโรงซ่อมอากาศยานอัจฉริยะ (Smart-hanger) ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สุดของโลก สามารถรองรับการให้บริการซ่อมเครื่องบินทั้งของแอร์บัส และโบอิง โดยตามแผนเดิมที่ศึกษา คาดการณ์เป้าหมายสร้างรายได้ในปีแรกอยู่ที่ 400-500 ล้านบาท จากการซ่อมอากาศยาน 10 ลำ และประเมินว่าจะมีการเติบโตของรายได้เฉลี่ยอีกปีละ 2% และในช่วง 50 ปีตลอดอายุสัญญาจะมีรายได้รวม 2 แสนล้านบาท
.
.
#กรุงเทพธุรกิจ #InsightforOpportunities #กรุงเทพธุรกิจEconomic
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็นต่อบทความนี้