‘แอตต้า’ หนุนยกเลิก ‘กัญชาเสรี’ ดันท่องเที่ยว - สธ.คุมเข้มช่อดอก
“แอตต้า” หนุน “ยกเลิกกัญชาเสรี” ยกภาพลักษณ์คุณภาพ “ท่องเที่ยวไทย” หลังนักท่องเที่ยวแห่คอมเมนต์ตำหนิ บนโลกโซเชียล ด้าน ‘สธ.’ เดินหน้ากัญชาการแพทย์ห้ามขาย “ช่อดอกกัญชา” กรณีไม่มีใบสั่งแพทย์ “สมศักดิ์” ลั่นธุรกิจต้อง “ไม่ฟ้องร้อง” หากกลับเป็นยาเสพติด ด้าน ‘ผู้ประกอบการ’ เชื่อไม่กระทบ-ขอประคองธุรกิจต่อได้
.
ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกประกาศใหม่ พ.ศ.2568 คุมเข้มช่อดอกกัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม เน้นใช้ทางการแพทย์ ต้องมีใบสั่งแพทย์ ห้ามจำหน่ายออนไลน์หรือโฆษณา หลังนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการ สธ. ลงนามเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.68 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
.
ประกาศดังกล่าวส่งผลกระทบต่อธุรกิจร้านจำหน่ายกัญชา บ้างเลือกปิดชั่วคราวเพื่อรอดูความชัดเจนจากภาครัฐ เรียกร้องให้มีมาตรการชดเชยหรือช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้อง มีใบอนุญาตตามกฎหมาย และเสนอให้จัดโซนนิ่งจำหน่ายกัญชาเฉพาะในพื้นที่เมืองท่องเที่ยว ขณะที่ตัวแทนจากภาคเอกชนท่องเที่ยว อาทิ สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) มองอีกมุมว่าการยกเลิกกัญชาเสรีจะส่งผลดีต่อภาพรวมของภาคการท่องเที่ยวไทยอย่างมาก
.
นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกกิตติมศักดิ์และประธานที่ปรึกษาอาวุโส แอตต้า กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลประกาศยกเลิกกัญชาเสรี และอนุญาตให้ใช้เพื่อทางการแพทย์เท่านั้น มองว่าส่งผลดีอย่างมากต่อภาคการท่องเที่ยวไทย เพราะนักท่องเที่ยวตลาดหลักทั้งจีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และออสเตรเลียไม่เอากัญชาอยู่แล้ว และไม่เฉพาะนักท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัว แต่รวมถึงนักท่องเที่ยวทั่วไป โดยที่ผ่านมานักท่องเที่ยวบางประเทศถูกสุ่มตรวจปัสสาวะเมื่อเดินทางกลับ เช่น เกาหลีใต้ และจีน ส่วนนักท่องเที่ยวที่สนใจผลิตภัณฑ์จากกัญชาส่วนใหญ่เป็นตลาดยุโรป ซึ่งมีไม่มากนัก
.
“ถ้าตัดประเด็นทางการเมืองออกไป การประกาศยกเลิกกัญชาเสรีเป็นผลดีกับภาพรวมภาคการท่องเที่ยวไทยอย่างมากให้จำกัดการใช้เพื่อทางการแพทย์เท่านั้น ที่ผ่านมาเราเห็นคอมเมนต์เชิงตำหนิของนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากบนโซเชียลมีเดียว่าไม่ชอบให้มีกัญชาเสรีในประเทศไทย ทางการของบางประเทศก็แจ้งเตือนนักท่องเที่ยวให้ระวัง เพราะผิดกฎหมายบ้านเขา มีการสุ่มตรวจปัสสาวะเมื่อเดินทางกลับประเทศทำให้นักท่องเที่ยวบางส่วนกังวลว่าอาจเผลอรับประทานอาหาร และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชาเข้าไปโดยไม่รู้ล่วงหน้า”
.
:: คุม “ช่อดอกกัญชา” ขายตามใบสั่งแพทย์ ::
ด้าน นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า การจำหน่ายช่อดอกกัญชาจะต้องขออนุญาต และทุกร้านจะจำหน่ายให้ได้เฉพาะผู้ที่มีใบสั่งแพทย์เท่านั้น หากไม่ปฏิบัติตาม ต้องถูกพักใช้ใบอนุญาต ระหว่างที่สั่งพักใบอนุญาตแล้วยังไปจำหน่ายอีกก็จะผิดกฎหมายจะต้องถูกลงโทษจำคุก 1 ปีปรับไม่เกิน 20,000 บาท
.
ขณะนี้กรมฯ เตรียมอัตรากำลังออกตรวจร้านค้าทุกสัปดาห์ แบ่งสายทีมไปทีละ 10 ทีม ต่างจังหวัดเป็นหน้าที่ของนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดที่ออกตรวจ
.
“เท่ากับเมื่อประกาศบังคับใช้ร้านค้า คาเฟ่ต่างๆ จะขายให้ได้เฉพาะผู้ที่มีใบสั่งแพทย์ และวิชาชีพตามที่กำหนดเท่านั้น ไม่สามารถขายทั่วไปหรือให้นักท่องเที่ยวนำไปสูบได้” นพ.สมฤกษ์ กล่าว
.
:: ‘ธุรกิจ’ ต้องไม่ฟ้องร้อง ::
ขณะที่ วานนี้ (25 มิ.ย.68) ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นายสมศักดิ์ กล่าวในการร่วมรับฟังตัวแทนผู้ประกอบการและผู้ค้ารายย่อยธุรกิจกัญชาว่า อนาคตไม่ว่ากัญชาจะเปลี่ยนสถานะกลับมาเป็นยาเสพติด ก็จะไม่ให้กระทบผู้ประกอบการที่ดำเนินการใช้กัญชาทางการแพทย์ เพราะเข้าใจความอึดอัดของผู้ประกอบกิจการที่ลงทุนทำกิจการไปแล้ว ในเรื่องการแพทย์จะสนับสนุนเต็มที่ในการทำธุรกิจได้
.
เมื่อถามย้ำว่า แปลว่าในอนาคตจะนำกัญชากลับเข้าไปเป็นยาเสพติดใช่หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตอนนี้ยังต้องดูผลการดำเนินการตามประกาศใหม่ก่อน ถ้าดีก็ไม่เปลี่ยน แต่ถ้ายังมีความลำบาก ยังมีความไม่เรียบร้อย ก็เปลี่ยนเป็นยาเสพติดในวันข้างหน้าได้
.
:: ไม่กระทบโรงงานสกัด ::
ด้านนายทศพร นิลกำแหง นายกสมาคมสหอุตสาหกรรมพืชกัญชงและกัญชา กล่าวว่า สมาคมมีสมาชิก 43 บริษัท ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการที่ทำโรงงานสกัดกัญชง และซีบีดี (CBD) แต่ช่วงหลังหลายผู้ประกอบการเริ่มมาทำธุรกิจการปลูกกัญชา และแปรรูปออกมาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องดื่ม เป็นการดำเนินการครบวงจร ตั้งแต่ปลูก กลางน้ำที่เป็นการสกัด และปลายน้ำเป็นผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ การลงทุนในส่วนโรงงานสกัดขั้นต่ำราว 350-400 ล้านบาทต่อโรงงาน เพราะต้องทำให้ได้มาตรฐาน GMP สมุนไพร
.
“ส่วนที่จะระบุในใบอนุญาตกรณีกลับไปเป็นยาเสพติดแล้วจะไม่ฟ้องร้อง ส่วนใหญ่อาจไม่กระทบ แต่ก็ไม่สามารถควบคุมสมาชิกอื่นได้” นายทศพร กล่าว
.
:: ทำถูกต้อง ซื้อ-ขายได้ ::
ส่วนผลต่อการท่องเที่ยว มองว่า ตั้งแต่เริ่มต้นมุ่งเน้นเรื่องการแพทย์อยู่แล้ว แต่อาจมีการใช้ผิดวัตถุประสงค์ หากนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วมองว่าเขาเป็นผู้ป่วย และต้องการใช้กัญชาทางการแพทย์จริง ก็เข้าสู่กระบวนการทางการแพทย์ที่ถูกต้อง เช่น ไปพบแพทย์ และให้แพทย์สั่งจ่าย แล้วนำไปซื้อทำให้ทุกอย่างอยู่ในกรอบ
.
สำหรับผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการที่เป็นโรงงานสกัด จะสกัดออกมาเป็นซีบีดีอยู่แล้ว ไม่มีทีเอชซีหลงเหลืออยู่ ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ทั้งเครื่องสำอาง อาหารเสริม เครื่องดื่ม ต้องขออนุญาตสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) หากขออนุญาตถูกต้อง หมายความว่าแหล่งที่มาซีบีดี ช่อดอกกัญชง และการทดสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ ผ่านการคัดกรอง อย.แล้ว ก็นำมาขายอย่างถูกต้อง แต่ผู้ประกอบการที่ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการเช่นนี้คงมีปัญหา
.
:: หนุนกัญชาทางการแพทย์ ::
นายกาจกนิษฐ์ ศักดิ์สุภา อุปนายกสมาคมผู้ประกอบการร้านกัญชาและวิชาชีพ ผู้แนะนำการใช้กัญชาประเทศไทย ยอมรับว่า หนักใจที่ได้ยินในทิศทางว่า กัญชาจะกลับไปเป็นยาเสพติด แต่สนับสนุนการใช้กัญชาทางการแพทย์อยู่แล้ว และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการน้ำดีในประเทศไทย ที่เข้าใจบริบทการใช้ทางการแพทย์ สามารถประคองธุรกิจต่อไปได้ ไม่ว่าบริบทหรือคำจำกัดความของกัญชาจะออกมารูปแบบไหน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็นต่อบทความนี้