‘มาม่า’ พับแผนลงทุนเพิ่มฮังการี กังวลแรงงาน – ROI อาจใช้เวลาเกิน 7 ปี หันขยายผลิตไทย
“มาม่า” ชะลอแผนขยายลงทุนเพิ่มฮังการี กังวลเรื่องแรงงานไทยที่อยู่ได้ไม่ยาว ประเมิน ROI อาจต้องใช้เวลาเกิน 7 ปี พร้อมเตรียมแผนการผลิตสินค้ากลุ่มพรีเมียม มาม่า โอเค - ส่วนยอดการผลิตในไทยรวมเฉลี่ย 7 ล้านซอง/วัน
.
นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFMAMA เปิดเผยว่า แผนการลงทุนต่างประเทศในปี 2568 บริษัทได้ตัดสินใจชะลอการลงทุนในประเทศฮังการีออกไปก่อน จากเดิมที่มีแผนขยายการลงทุนใหม่ในปีนี้ เนื่องจากนโยบายของประเทศฮังการีหลายด้านยังไม่สอดคล้อง ทั้งเรื่องแรงงานไทยที่ให้ทำงานได้ในเวลา 2-3 ปีเท่านั้นและต้องกลับประเทศไทย รวมถึงเผชิญสถานการณ์เรื่องต้นทุนค่าก่อสร้างที่ค่อนข้างแพง และราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น
.
ทั้งนี้บริษัทได้มีการพิจารณาอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) ต้องอยู่ในระดับ 15% และต้องใช้เวลาคืนทุนที่ยาวนานกว่าแผนเดิม ที่อาจมากกว่า 7 ปี จึงชะลอยาวแผนลงทุนใหม่ รวมถึงต้องติดตามว่า นโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ของประเทศฮังการี จะมีการปรับแผนอย่างไรในเรื่องแรงงาน
.
สำหรับ โรงงานฮังการี บริษัทมีไลน์การผลิตในปัจจุบัน ด้วยอัตราการผลิตประมาณ 3 แสนซอง จากอัตราการผลิต 2 เครื่องจักร โดยสามารถผลิตได้ประมาณ 2-3 กะ เฉลี่ยกะละ 8 ชั่วโมง รวมต่อวันประมาณ 16 ชั่วโมง ซึ่งมีแผนลงทุนเพิ่มเติมเนื่องจากมีที่ดินเหลืออยู่อีกครึ่งหนึ่ง และโรงงานในฮังการีส่วนใหญ่เป็นการใช้แรงงานไทย
.
เมื่อประเมินในภาพรวม “มาม่าในฮังการี” กำลังการผลิตในปัจจุบันยังไม่ได้เต็ม 100% แต่มีปัญหาเรื่องขนส่งต่างๆ และสถานการณ์ในเรื่องสงคราม จึงต้องส่งจากไทยไปเพิ่มเติม แต่ในปัจจุบันไทยกำลังการผลิตอาจเต็มเช่นกัน ดังนั้นบริษัทสามารถปรับแผนไปเพิ่มการผลิตในประเทศต่างๆ สามารถทดแทนกันได้
.
อย่างไรก็ตาม การชะลอขยายลงทุนเพิ่มในประเทศฮังการีออกไปก่อน แต่บริษัทยังมุ่งมั่นในการขยายส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ เนื่องจาก การขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในต่างประเทศไม่ได้ถูกควบคุมราคา จึงสร้างอัตราการทำไรที่สูง รวมถึงสามารถส่งออกสินค้าไปได้จากต่างประเทศไทย ส่วนในประเทศไทยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ถูกควบคุมในเรื่องราคา
.
“ที่ผ่านมาการลงทุนทุกอย่างของบริษัททำอย่างรอบคอบ จากเดิมในปีก่อนผมบอกว่าจะไปลงทุนขยายกำลังการผลิตในฮังการี แต่ในปีนี้งดการลงทุนออกไป เนื่องจากการประเมินพบว่า ภาพจากการลงทุนอาจไม่ดีอย่างที่คิดไว้ ทั้งจากเศรษฐกิจยุโรปและสถานการณ์ในเรื่องสงคราม เดิมคิดว่า ผลตอบแทนจากการลงทุน จะใช้เวลา 7 ปี อาจกลายเป็น 11-12 ปี เลยยังไม่ทำ”
.
นอกจากนี้ ตลาดในประเทศไทย บริษัทมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตสินค้ากลุ่ม มาม่า โอเค (OK) และมาม่า บิ๊กแพ็ค เป็นกลุ่มสินค้าพรีเมียมและเป็นเทรนด์ที่กำลังมา ในโรงงานที่จังหวัดระยอง เริ่มการผลิตได้ในช่วงปี 2569 เนื่องจากกลุ่มสินค้าพรีเมียมมีอัตราการผลิตที่ไม่เพียงพอกับความต้องการของลูกค้า เห็นได้จากช่วงปี 2567 ที่ผ่านมา มาม่า โอเค สร้างการเติบโตถึง 30%
.
สำหรับสินค้ากลุ่มมาม่าแบบธรรมดา ยังไม่ได้เกิดปัญหาสถานการณ์สินค้าขาดตลาด โดยบริษัทได้รับปากกับภาครัฐและประชาชน จะไม่ให้มาม่าแบบซองที่มีราคา 7 บาทเกิดปัญหาผลิตไม่ทันและขาดตลาดอย่างเด็ดขาด เนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็นของประชาชน ซึ่งอัตราการผลิตมาม่าแบบซอง จะอยู่ที่ประมาณ 7 ล้านซอง/วัน
.
“ภาพรวมการผลิตสินค้าไม่ทัน และมีอัตราการผลิตถึงระดับ 100% จะเป็น กลุ่มใหม่ มาม่า โอเค และบิ๊กแพ็ค ที่มีความต้องการสูง จึงต้องเพิ่มเครื่องจักร 1 เครื่อง ทำให้มียอดการผลิตเพิ่มขึ้นที่ 20% แต่มาม่าแบบซอง ราคา 7 บาท ยังมีอัตราการผลิตเพียงพออยู่“
.
สำหรับผลประกอบการในปี 2568 คาดว่า ยอดขายยังเติบโตอยู่ แต่จะไม่เติบโตเท่ากับปี 2567 ส่วนเมื่อเทียบกับปี 2566 จะอยู่ในระดับสูงมากกว่า
.
ทางด้านภาพรวมผลประกอบการในปี 2567 ที่ผ่านมา บริษัทสามารถผลกำไรสุทธิ 3,565 ล้านบาท สัดส่วนมาจาก ตลาดในประเทศ 42% การส่งออก 27% มาจากการลงทุน 22% และอื่นๆ 9%
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็นต่อบทความนี้