3 นิสัยแย่ๆ ของนักธุรกิจระดับโลก
และบางคนถึงขนาดมีนิสัยแย่ๆ
ที่เรียกว่า เค้าอาจเข้าสังคมไม่ได้
ถ้าพวกเขาไม่มีการปรับตัว
แต่เมื่อพวกเขารู้ตัว และปรับเปลี่ยน
ทำให้เขากลายเป็นผู้ประสบความสำเร็จ
ที่หลายคนต่างอิจฉาไปทั้งโลก
.
คนแรกคือ บิล เกตส์
สมัยเป็นนักศึกษาที่ฮาวาร์ด (ก่อนจะเลิกเรียน)
เขาเคยใช้ชีวิตแบบเรื่อยๆ มาเรียงๆ
ผัดวันประกันพรุ่งเป็นประจำ
เขายอมรับว่า เขามักจะทำงานแบบเร่งด่วน
เพื่อให้ทันส่งอยู่เสมอ
เขาเคยเล่าว่า เขาเป็นคนประเภท
ที่ไม่คิดจะทำอะไรเลย จนกว่าจะถึงนาทีสุดท้าย
แล้วถึงได้ลนลานทำเพื่อให้ทันเวลา
แต่เมื่อเขาต้องเข้ามาสู่โลกแห่งการงาน
โดยเฉพาะในการทำธุรกิจ
ชีวิตก็สอนให้รู้ความจริงว่า
ในโลกแห่งธุรกิจนั้น ทุกงาน
มันมี “เส้นตาย” มีกรอบของเวลาอยู่
และการทำอะไรได้ตรงเวลา ทันเวลา
ล้วนมีคุณค่าทั้งสิ้น
“ไม่มีใครมาสรรเสริญผม เพราะทำงานส่งในช่วงนาทีสุดท้ายอีกแล้ว”
นับจากนั้น เขาพยายามเปลี่ยนนิสัย
ผัดวันประกันพรุ่ง
มีการจัดระเบียบตัวเองอยู่เสมอ
และทำทุกสิ่งอย่างให้ตรงเวลา
.
“การผัดวันประกันพรุ่งเป็นนิสัยที่ไม่ดีเลย”
นี่คือจุดอ่อนที่สุดของเขา
และเขายังปรับปรุงตัวเองในเรื่องนี้อยู่เสมอ
มีเคล็ดไม่ลับจากผู้เชี่ยวชาญ
สำหรับผู้ที่อยากโยนทิ้งนิสัยแย่ๆแบบนี้
คือให้พยายามทำอะไรตามตาราง
หรือแผนงานที่กำหนดไว้
ให้เวลากับตัวเองวันละ 15 นาที
จัดการกับสิ่งที่อยู่ในแผนงาน
ถ้าอยากเถลไถลไปทำอย่างอื่น
ให้ถามตัวเองว่า ไอ้ที่ทำอยู่นี่
มันทำให้มีเงินไหลเข้ากระเป๋าหรือเปล่า
การแยกแยะอย่างนี้จะทำให้คุณชัดเจน
กับตัวเองว่า ควรทำอะไร?
.
คนที่ 2 คือ อีลอน มัสก์ (ที่มาเชียงราย)
เขาผู้ก่อตั้งบริษัท เทสล่า (Tesla)
แถวหน้าผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
และนวัตกรรมพลังงานหมุนเวียนระดับโลก
เขาเป็นคนที่ “บ้างาน” ระดับรุนแรง
ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยอยู่ที่ 120 ชม./สัปดาห์
ทำให้ไม่ค่อยมีเวลาพักผ่อนนอนหลับ
และเมื่อนอนน้อย เขาก็มักจะชดเชย
ด้วยเครื่องดื่มที่อุดมไปด้วยคาเฟอีน
ไม่ว่าจะเป็นน้ำอัดลมหรือกาแฟ
เขาเคยให้สัมภาษณ์สื่อว่า
เขาเคยดื่มไดเอ็ทโค้กวันละ 8 กระป๋อง
แต่ทุกวันนี้ ลดๆ ลงมาเหลือวันละ 1-2 กระป๋อง
นอกจากนั้น ยังยอมรับว่า
เขาเคยติดกาแฟงอมแงม
ถ้าไม่ดื่มในปริมาณเยอะขนาดนั้น
ก็แทบจะทำงานไม่ได้เลย
แต่มันก็ทำให้เขากลายเป็นคน
ที่บริโภคคาเฟอีนเกินขนาด
และไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ
.
การบริโภคคาเฟอีนมากเกินขนาด
อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้คนเราเกิดความเครียด
และความวิตกกังวลได้มากขึ้น
จะทำให้ร่างกายเข้าสู่วงจรของความเหนื่อยล้า
ไม่มีที่สิ้นสุด ส่งผลร้ายต่อร่างกาย
เพราะเมื่อรู้สึกเหนื่อยล้าแต่ยังต้องทำงาน
เราก็จะมีความต้องการบริโภคคาเฟอีนมากขึ้น
และเมื่อบริโภคคาเฟอีนมากขึ้น
ร่างกายก็จะล้าไปเรื่อยๆ ทำให้เราหลับไม่สนิท
คุณภาพการนอนย่ำแย่
รู้สึกเหมือนว่าร่างกายไม่พักผ่อนอย่างพอเพียง
เมื่อตื่นขึ้นในเช้าวันใหม่ จะนำไปสู่ความต้อง
เพื่อบริโภคคาเฟอีนให้กระตุ้นให้ร่างกาย
ให้รู้สึกประปรี้กระเปร่า
วนเวียนเป็นวงจรอย่างนี้ไปเรื่อยๆ
.
ทางตัดลัดออกจากวงจรนี้
คือการลดคาเฟอีนที่บริโภคในแต่ละวันลงมา
ซึ่งอาจจะค่อยๆ ลดลงช้าๆ
เพื่อให้ร่างกายคุ้นเคยและปรับตัว
และหันมาดื่มน้ำเปล่าเพิ่มมากขึ้น
.
รายที่ 3 คือ มาร์ค คิวบัน มหาเศรษฐี
เจ้าของทีมบาสฯ ดัลลาส มาเวอริคส์ ใน NBA
ประธาน AXS TV,
ผู้ร่วมก่อตั้ง 2929 Entertainment
นิสัยแย่ๆ ในวัยหนุ่มช่วง 20 กว่าๆ
คือ การขึ้นเสียงหรือตะโกนเพื่อเอาชนะ
เพื่อให้คนอื่นยอมรับความคิดเห็นของเขา
ซึ่งจริงๆแล้ว ไม่ใช่วิธีการสื่อสารที่ดีเลย
“ผมตะคอกใส่เพื่อนร่วมงานเสมอ
และมันก็มักจะจบลงด้วยการทะเลาะกัน”
.
ย้อนไปกว่า10 ปีที่แล้ว
มาร์คเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ไมโครโซลูชั่นส์
ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านระบบคอมพิวเตอร์
กับมาร์ติน วู๊ดดัล
ทั้งคู่โต้เถียงกันมาตลอด ตั้งแต่เรื่องงาน
ลามมาถึงเรื่องนิสัยแย่ๆ ของแต่ละคน
ทำให้บรรยากาศการทำงานเสียไปหมด
และต่างก็รู้สึกไม่ดี
หลังจากการใช้วิธีการสื่อสารแบบนั้น
สุดท้าย…มาร์คยอมรับว่า
การตะโกนใส่กันด้วยอารมณ์ต่างๆ นานา
เป็นวิธีการสื่อสารที่ไม่ได้ผล
ซ้ำร้ายยังเพิ่มความเครียด
ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ทุกสิ่งอย่างแย่ลง
เพราะเมื่อใดที่เกิดความเครียด
คนรอบตัวคุณก็จะรู้สึกไม่ดี
ประสิทธิภาพการทำงานก็ลดลง
ผลกำไรลดลง และความสามารถ
ในการแข่งขันลดลงตามๆกันไป
.
นี่คือบทเรียนอันล้ำค่าของนักธุรกิจ
ที่บอกว่า ผู้นำที่ดี และประสบความสำเร็จ
ต้องมีวิธีการสื่อสารความคิดเห็น
และทัศนคติให้ผู้อื่นยอมรับ
โดยไม่ต้องใช้วิธีการรุนแรง
มันต้องอาศัยทักษะอยู่เหมือนกัน
แต่เป็นทักษะที่สามารถฝึกฝนได้
.
ผมมีความเชื่อว่า ทักษะการสื่อสาร
เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้
เราต้องใส่ใจน้ำเสียง การแสดงสีหน้า ท่าทาง
และที่สำคัญที่สุด
นอกจากการฝึกฝนสิ่งเหล่านี้แล้ว
เราควรฝึกการเป็น “ผู้ฟัง” ที่ดีด้วย
.
ChatTalks…คุยธุรกิจ คิดให้เป็น
www.facebook.com/chatchaitalk
Tel.092-387-1241 , Line ID : ChatTalks
Email : kittisak2241@yahoo.com
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็นต่อบทความนี้