วงการหนังสือโตต่อ แต่ต้นทุนก็สูงไม่หยุด! “PUBAT” ชี้ “นิยายวาย” พุ่งแรง 45% แต่ภาพใหญ่ยังต้องพึ่งรัฐอีกมาก

ชี้ “หนังสือแพง” ล้อตามต้นทุนค่ากระดาษ-ค่าหมึก ด้านจุฬาฯ ระบุ หนังสือเล่มละ 200 บาท อาจเริ่มไม่มีให้เห็น ผู้บริโภคคิดเยอะก่อนจับจ่าย

แม้ในรอบ 8 ถึง 9 เดือนที่ผ่านมา แนวโน้มการเติบโตของวงการหนังสือจะไม่ได้หวือหวามากนัก สัดส่วนเพิ่มขึ้นเพียง 5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่ “สุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์” นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ก็มองว่า ยอดขายและยอดพิมพ์หนังสือยังไม่แผ่วปลาย ยังคงมีที่ทางให้ไปต่อได้ โดยระบุว่า บรรดาสำนักพิมพ์รายใหญ่มียอดพิมพ์ราวๆ 2,000 เล่ม เติบโตขึ้น 30% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อีกทั้งยอดขายบางส่วนยังแบ่งไปโตต่อที่อีคอมเมิร์ซทั้ง “Shopee” และ “Lazada” คู่ขนานกันไปด้วย

“สุวิท” บอกว่า หมวดหมู่หนังสือขายดีที่ไม่เคยยอดตกเลย คือ “หมวดบอยเลิฟ-เกิร์ลเลิฟ” มีสัดส่วนตลาดอยู่ที่ 45% ตามมาด้วย “หมวดมังงะ” 47% “หมวดหนังสือพัฒนาตัวเอง-ฮีลใจ” 17% และ “คู่มือเตรียมสอบ” เติบโตที่ 9% ซึ่งเป็นประเภทหนังสือจำเป็น อย่างไรก็ยังโตต่อได้เรื่อยๆ ส่วนหมวดที่เคยขายดีตามสถานการณ์อย่าง “หนังสือฮาวทู” ปัจจุบันสัดส่วนลดลงไปรวมอยู่กับ “หมวดทั่วไป” เรียบร้อยแล้ว โดยกลุ่มฮาวทูเคยขายดีมากๆ ช่วงที่คนต้องการศึกษาศาสตร์ใหม่ๆ เพื่อนำมาประกอบอาชีพเสริมในวันที่สถานการณ์การแพร่ระบาดยังวิกฤติ

ภาพรวมตลาดก็ดูจะไปได้ดี แต่เพราะอะไรราคาหนังสือยังสูงขึ้นต่อเนื่อง? นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ บอกกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า สาเหตุหลักมาจากยอดพิมพ์ต่อเล่มที่ลดลง แม้ว่าแนวโน้มตลาดจะเป็นบวก แต่ก็ไม่ได้หวือหวาจนทำให้มียอดพิมพ์ 3,000 ถึง 4,000 เล่ม หากยอดพิมพ์เยอะ ต้นทุนก็จะลดลง เป็นวิธีคิดแบบ “Economy of scale”

นอกจากนี้ ตนยังมองเรื่องของบาลานซ์ระหว่าง “ดีมานด์” และ “ซัพพลาย” ที่ไม่ได้สัดส่วนกัน เนื่องจากมีสำนักพิมพ์เกิดใหม่เยอะมาก เฉลี่ย 3 ถึง 4 แห่งต่อเดือน รวมแล้วใน 1 ปี มีสำนักพิมพ์เกิดใหม่ราวๆ 40 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมสูงอย่างหมวดบอยเลิฟ-เกิร์ลเลิฟ

ตรงกับความเห็นของ “อัจฉรา พังงา” ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายค้าปลีก ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ระบุว่า ต้นทุนการทำหนังสือ 1 เล่ม ปรับตัวสูงขึ้นจริง ทั้งค่าพิมพ์ ค่าหมึก ค่ากระดาษ ค่าลิขสิทธิ์ ฯลฯ ซึ่งปัจจัยเรื่องการปรับเพิ่มราคาไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้เขียนหนังสือ แต่ขึ้นอยู่กับต้นทุนเหล่านี้

สำหรับโครงสร้างของราคาหนังสือ 1 เล่ม จะมีคร่าวๆ คือ ค่ากองบรรณาธิการทำเล่ม หรือที่เรียกว่า “ค่าต้นฉบับ” ซึ่งในค่าต้นฉบับจะมีค่าลิขสิทธิ์รวมอยู่ด้วย ต่อมา คือค่าตีพิมพ์ ค่าจัดจำหน่าย และค่าฝากวางขายที่หน้าร้าน ด้วยต้นทุนที่สูงขึ้นทั้งหมดนี้จึงทำให้หนังสือออกใหม่ในระยะหลังมีราคาสูง ส่วนใหญ่เริ่มต้นที่ 400 ถึง 500 บาท หากเป็นราคา 100 ถึง 200 บาท ก็จะมีจำนวนหน้าน้อยลง เล่มบางลงจนเห็นได้ชัด

หากถามว่า ราคาที่สูงขึ้นมีผลต่อการตัดสินใจซื้อหรือไม่ “อัจฉรา” ระบุว่า มีความเป็นไปได้ ตอนนี้คนจะจับจ่ายกับอะไรต้องคิดเยอะขึ้น ที่สำคัญ คือเทรนด์การอ่านที่เปลี่ยนไป ยุคนี้คนไม่เน้นซื้อเก็บหรือ “กองดอง” อีกแล้ว แต่เปลี่ยนมาซื้อเท่าที่อ่าน โจทย์ใหญ่จึงกลับไปที่ฝั่งผู้พิมพ์ว่า จะทำราคาอย่างไรให้ราคาสมเหตุสมผลมากที่สุด แต่ขณะเดียวกันจะขายราคาเดิมก็ไม่ได้เพราะต้นทุนเพิ่มขึ้นทุกภาคส่วน

ด้าน “สุวิท” ระบุไปในทิศทางเดียวกันว่า แม้หนังสือจะเป็นอาหารสมอง แต่ไม่ได้เป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต สะท้อนจากงบประมาณที่ได้จากสัดส่วนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ไทยเพียง 69 ล้านบาท สำหรับการจัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 ถึง 20 ตุลาคม 2567 ก็ได้งบประมาณการจัดงานมาเพียง 5.5 ล้านบาทเท่านั้น

สถานการณ์ตอนนี้ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ทิ้งท้ายว่า อยู่ในช่วงเวลาของการพยายามไต่ขึ้น ประคองตัว และพออยู่พอกิน

ความคิดเห็น

บทความที่มีคนอ่านมากที่สุด

สงครามร้านชานมไข่มุกพลิกสู่บลูโอเชี่ยน! ‘แบร์เฮาส์’ ผุด 109 สาขา ปี 71

‘HAAB’ ขายขนมไข่เดือนละ ‘3 ล้านชิ้น’ เปิดร้านมา 1 ปี เตรียมบุก ‘มาเลเซีย’ เป็นประเทศแรก

ลอรีอัล ปารีส พา “ณิชา” บินลัดฟ้าสร้างปรากฎการณ์ Walk Your Worth โชว์บนรันเวย์สุดอลังการ ใจกลางหอไอเฟล ณ กรุงปารีส

เมื่อคนใส่กางเกงยีนส์ กลายเป็นคนมี Creative Looking

มิติใหม่แห่งการเสพสื่อ เรื่องแบบนี้คุณต้องรู้