โรงแรม ‘ภูเก็ต’ ปี 67 ฮอตเกินต้าน! พาเหรดอัป ‘ราคาห้อง’ สูงเป็นประวัติการณ์
.
โดย “สมาคมโรงแรมไทยภาคใต้” ประเมินว่าปี 2567 จะมีจำนวนรวมไม่น้อยกว่า 13.5 ล้านคน ใกล้เคียงกับปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด
.
ศึกษิต สุวรรณดิษฐกุล นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ภาพรวมธุรกิจโรงแรมใน “ภูเก็ต” ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ถือว่าดี ยอดจองห้องพักค่อนข้างเต็มแล้ว ยังเหลือห้องพักบางส่วนที่โรงแรมเก็บไว้ขายสำหรับการจองแบบกระชั้นชิด (Last Minute) ในราคาสูง โดยโรงแรม 4 ดาวขายกันในราคามากกว่า 10,000 บาทต่อคืน ส่วนโรงแรม 5 ดาว ราคากระโดดไปถึง 20,000 บาทต่อคืนแล้ว ขณะที่โรงแรมในตัวเมืองภูเก็ตซึ่งปกติขายประมาณ 1,000 บาทต่อคืน สามารถขยับราคาขายเป็น 2,000 บาทต่อคืน
ปกติช่วง “ไฮซีซัน” 5 เดือนของภูเก็ตตั้งแต่เดือน พ.ย.-มี.ค. ราคาห้องพักจะปรับเพิ่มขึ้น 30-40% อยู่แล้ว แต่พอเข้าสู่ช่วงพีคเทศกาลปีใหม่ มีการใช้กลยุทธ์กำหนดราคาแบบไดนามิก (Dynamic Pricing) ปรับราคาเพิ่มไปอีก 30-40% จากปกติ อย่างโรงแรม 4 ดาว ช่วงโลว์ซีซันขายราคา 2,500-3,000 บาทต่อคืน แต่พอเข้าไฮซีซัน ขายได้ราคา 5,000 บาทต่อคืน โดยในช่วงพีคเกือบ 2 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 24 ธ.ค. 2567 – 5 ม.ค. 2568 ราคาขึ้นไปถึง 8,000-14,000 บาทต่อคืน เพิ่มขึ้นมากกว่า 100% เมื่อเทียบกับช่วงโลว์ซีซัน เฉพาะวันปีใหม่ราคาไม่น้อยกว่า 10,000 บาทต่อคืน.
:: คาดอัตราเข้าพักปี 67 เฉียด 80% อัปราคาห้องสูงทุบสถิติ! ::
.
จากการสำรวจ “อัตราการเข้าพัก” (Occupancy Rate) ของโรงแรมภูเก็ตช่วง 11 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ย.) ของปี 2567 พบว่าเฉลี่ย 77% เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 70% เฉพาะเดือน พ.ย. ซึ่งเข้าสู่ไฮซีซันแล้ว เฉลี่ย 86% ถือว่าค่อนข้างสูง กระโดดจากโลว์ซีซันซึ่งได้ 60-70% และคาดว่าเดือน ธ.ค. จะใกล้เคียงระดับนี้ที่ 86-90% ทำให้ตลอดปี 2567 ภูเก็ตมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 78-79% ส่วนแนวโน้มอัตราการเข้าพักในช่วง 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ.) ของปี 2568 คาดเพิ่มเป็น 90% ขึ้นไป
.
ด้านภาพรวม “ราคาห้องพัก” (Average Daily Rate: ADR) โรงแรมภูเก็ตปี 2567 ทางผู้ประกอบการหลายรายระบุว่า สามารถทำราคาห้องพักได้ดีมากเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ทำโรงแรมกันมา! ส่งผลให้มีรายได้ดีขึ้นตามไปด้วย แม้ว่าอัตราการเข้าพักเฉลี่ยจะไม่ได้พีคเหมือนอดีตที่เคยเน้นเชิงปริมาณ (Volume) เพิ่มอัตราการเข้าพักให้สูงเข้าไว้ ทำให้ต้องแข่งขันรุนแรง ขายในเรตราคาต่ำหวังจูงใจนักท่องเที่ยว แต่ในปี 2567 ผู้ประกอบการโรงแรมภูเก็ตปรับกลยุทธ์วางเรตราคาห้องพักไว้ค่อนข้างสูง แม้อัตราการเข้าพักจะไม่สูงเท่าอดีต แต่ทำให้ “รายได้ต่อห้องพัก” (RevPAR) สูงขึ้น คุ้มค่าในการขาย ห้องไม่ช้ำ หนุนภาพรวมรายได้สูงตามไปด้วย
ยกเว้นบางโรงแรมที่ยังต้องพึ่งตลาดนักท่องเที่ยวจีนแบบกรุ๊ปทัวร์ ยังไม่เข้าไปอยู่ในเซ็กเมนต์ตลาดที่หลากหลาย อย่างโรงแรมตรงโลเกชันในตัวเมืองภูเก็ตก็ยังเจอความท้าทายด้านการขายห้องพักอยู่ ไม่เหมือน “โรงแรมตามชายหาด” ที่สามารถรับลูกค้าได้หลากหลายกว่า “เล่นยีลด์” ได้ดีกว่า!.
:: กระชับองค์กร เตรียมแผนรับมือโลกผันผวน ::
.
“มองย้อนไปตอนเผชิญความยากลำบากช่วงโควิดระบาดอยู่นานหลายปี ได้มอบบทเรียนสำคัญแก่ภาคการท่องเที่ยวภูเก็ตที่ตอนนี้คัมแบ็กได้อย่างโดดเด่น ผู้ประกอบการต่างเตรียมความพร้อมรับมือความเสี่ยงต่างๆ ในภาวะโลกผันผวน ด้วยไม่อาจรู้ล่วงหน้าว่าวิกฤติจะมาเยือนอีกเมื่อไร”
.
โดยเตรียมพร้อมรับมือทั้งทางด้านการเงิน การบริหารบุคลากร การปรับโครงสร้างการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งโรงแรมส่วนใหญ่ในตอนนี้จ้างพนักงานคิดเป็นสัดส่วน 75% เมื่อเทียบกับยุคก่อนโควิด เน้นให้พนักงานทำได้หลายหน้าที่มากขึ้น แต่ปริมาณงานไม่ได้มากขึ้นเพราะผ่านการปรับลดระบบและโครงสร้างอันซับซ้อนไปแล้ว ช่วยให้พนักงานได้ “เซอร์วิสชาร์จ” (Service Charge) มากขึ้น จากตัวหารจำนวนพนักงานลดลง นับเป็นการปรับ “รูปแบบการทำงานใหม่” มีการนำระบบออนคลาวนด์ (On Cloud) และระบบคลัสเตอร์ (Cluster) ช่วยลดคนจาก 3 คนเหลือ 1 คน และทำให้องค์กรกระชับขึ้นไปโดยปริยาย
.
:: แนวโน้มปี 67 นักท่องเที่ยวไทย-เทศเยือนภูเก็ต 13.5 ล้านคน ::
.
ศึกษิต เล่าเพิ่มเติมว่า สำหรับภาพรวม “จำนวนนักท่องเที่ยว” ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางเข้าภูเก็ตทั้งปี 2567 สมาคมฯ ประเมินว่าไม่น่าจะต่ำกว่า 13.5 ล้านคน ใกล้เคียงปี 2562 ก่อนโควิดระบาดที่มีจำนวน 14 ล้านคน หลังสถิติช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) ของปี 2567 ระบุว่ามีนักท่องเที่ยวสะสมรวม 9.55 ล้านคน แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย 2.19 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 23% ของทั้งหมด ส่วนอีก 7.36 ล้านคนหรือคิดเป็น 77% เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ
.
ส่วนแนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2568 คาดว่าจะเท่ากับหรือดีกว่าปี 2562 ก่อนโควิดระบาด ต้องดูปัจจัย “จำนวนเที่ยวบิน” เข้าภูเก็ตเป็นหลัก เพราะในช่วงไฮซีซันมีเที่ยวบินค่อนข้างหนาแน่น อัตราการขนส่งผู้โดยสาร (Load Factor) เกือบเต็มลำ ขีดความสามารถในการรองรับด้านต่างๆ เช่น สนามบิน ค่อนข้างเต็มแล้ว ถ้าจะเติมเที่ยวบินเพิ่ม ต้องเป็นช่วง “โลว์ซีซัน” เพราะเป็นช่วงที่มีอัตราการเข้าพักภูเก็ตเฉลี่ย 70% ยังมีช่องให้เติมลูกค้าเพิ่มได้อีก 30%
.
“ยิ่งในช่วงตลาดแบรนเด็ด เรสซิเดนส์ (Branded Residence) เข้ามาแจ้งเกิดในภูเก็ต ส่วนใหญ่เป็นเซ็กเมนต์เจาะกลุ่มลักชัวรี มีการก่อสร้างวิลล่าหรูจำนวนมาก ทำให้ภาพลักษณ์ของภูเก็ตดูดีมาก แต่ก็ยังติดเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่ขยายตัวไม่ทันการเติบโตของดีมานด์” นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ กล่าวปิดท้าย
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็นต่อบทความนี้