‘เครื่องฟอกอากาศ’ นิวไฮ โต 200% เร่งนำเข้าเพิ่ม ‘หวั่นสต็อกขาด’

คนเมืองกังวลฝุ่น PM 2.5 กระทบสุขภาพ หนุนตลาดเครื่องฟอกอากาศสร้างยอดขายพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ เติบโต 100-200% จากปกติ เพาเวอร์บาย เพาเวอร์มอลล์ ย้ำดูแลสินค้าไม่ให้ขาดสต็อก “แอลจี-มิตซูบิชิ”เร่งนำเข้าเครื่องฟอกอากาศ “โคเวย์” เร่งผุดราคาใหม่ 480 บาทต่อเดือน

.

เปิดฉากตั้งแต่เดือน ม.ค. 2568 ภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีปัจจัยกดดันสำคัญจากเรื่องกำลังซื้อและหนี้ครัวเรือน รวมถึงค่าครองชีพที่สูงขึ้นตามราคาสินค้าต่างๆ มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการและคนไทยต้องเตรียมแผนรองรับ

.

รวมถึงปัจจุบันที่มีความกังวลรอบใหม่จากวิกฤติฝุ่น PM 2.5 เข้ามากระทบการใช้ชีวิตของคน จนทำให้เกิดความต้องการเลือกซื้อเครื่องฟอกอากาศพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ และสร้างแรงกระเพื่อมทำให้เครื่องฟอกอากาศกลายเป็นสินค้าจำเป็นที่ต้องมีใช้ในทุกบ้านแล้ว

.

ทั้งนี้เมื่อประเมินภาพรวมตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทย จากการประเมินของแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ตลาดในประเทศมูลค่า 8.3 หมื่นล้านบาท โดยพอร์ตโฟลิโอหลักของตลาดมาจากเครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า ตู้เย็น ส่วนเครื่องฟอกอากาศมีขนาดไม่ใหญ่นักมูลค่ามากกว่า 2,000 ล้านบาท และที่ผ่านมาตลาดจะขยายตัว 10%


นางสาวพัชราภรณ์ วรยิ่งยง ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานวางแผนธุรกิจการตลาดและกลุ่มผลิตภัณฑ์การเงิน บริษัท เพาเวอร์บาย จํากัด จากเซ็นทรัลรีเทล กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญทำให้เครื่องฟอกอากาศขายดีเวลานี้มาจากสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ปี 2568 ค่อนข้างวิกฤติและสูงเกินค่ามาตรฐานหลายพื้นที่ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่

.

:: เพาเวอร์บาย คนไทยเลือกซื้อสินค้าเพิ่มเป็นชิ้น 2-3 ในบ้าน ::

ทั้งนี้ทำให้คนไทยตื่นตัวหาทางแก้ปัญหา รวมถึงสนใจดูแลสุขภาพมากขึ้นจึงซื้อเครื่องฟอกอากาศที่บรรเทาฝุ่น PM 2.5 และบางกลุ่มลูกค้าปรับมาเลือกซื้อเครื่องฟอกอากาศเพิ่มขึ้นเป็นชิ้นที่ 2-3 เพื่อให้พอกับจำนวนห้องในแต่ละบ้าน ทำให้ยอดขายเพาเวอร์บายกลุ่มเครื่องฟอกอากาศพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์

.

สำหรับตลาดเครื่องฟอกอากาศแข่งขันสูง ในแต่ละแบรนด์ออกสินค้าสู่ตลาดมากขึ้น และแข่งขันด้านราคาสูงขึ้น เพื่อกระตุ้นให้บริโภคซื้อเครื่องฟอกอากาศตามกำลังซื้อได้ง่ายขึ้น ตั้งแต่สินค้าระดับแมสถึงพรีเมียม โดยเพาเวอร์บาย ที่มีสาขาทั่วประเทศจัดการสินค้าให้มีสต็อกเพียงพอทุกสาขา ซึ่งได้ประสานงานซัพพลายเออร์เติมสินค้าในสต็อก โดยเฉพาะแบรนด์ยอดนิยม

.

“ที่ผ่านมาตลาดรวมเครื่องฟอกอากาศสร้างยอดขายสูงช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย.ทุกปี แต่ปี 2568 ได้รับการตอบรับสูงกว่าทุกปี ซึ่งตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันยอดขายเครื่องฟอกอากาศเพิ่มขึ้นอย่างมาก และเพิ่มขึ้นทุกแพลตฟอร์มทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ โดยเฉพาะหน้าร้าน มีกระแสดีมากทั่วประเทศโดยเฉพาะกรุงเทพ และจังหวัดที่ได้รับผลกระทบเรื่องฝุ่น”

.

สำหรับแบรนด์ที่ได้รับความนิยมของกลุ่มลูกค้า 5 อันดับแรก ได้แก่ ชาร์ป (Sharp), ฮาตาริ (Hatari) แบรนด์ไทย, มาซูม่า (Mazuma) แบรนด์ไทย, เสี่ยวหมี่ (Xiami) และ อีเลคโทรลักซ์ (Electrolux) ส่วนแบรนด์พรีเมียมที่ได้รับความนิยมคือ ไดสัน (Dyson)

.

:: “เพาเวอร์มอลล์” ยอดขายพุ่งนิวไฮรอบ 5-6 ปี ::

นายรัชตะ สุทธาพัฒน์ธานนท์ ผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส กลุ่มบริหารสินค้า Specialty บริษัทเดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ผู้บริหารร้าน เพาเวอร์มอลล์ กล่าวว่า ยอดขายเครื่องฟอกอากาศในเดือน ม.ค.สูงขึ้นกว่า 100% หรือกว่าเท่าตัว เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือว่าสูงสุดรอบ 5-6 ปี ปัจจัยหลักมาจากกลุ่มลูกค้ามีความกังวลในเรื่องฝุ่น PM 2.5 ทำให้สินค้าทุกรุ่นขายดีทั้งหมด ตั้งแต่รุ่นราคาต่ำจนถึงราคาแพงตามกำลังซื้อและความชื่นชอบฟังก์ชั่นของสินค้าแต่แบรนด์

.

สำหรับสินค้าขนาดเครื่องปรับอากาศที่ได้รับความสนใจสูง คือ เครื่องที่เหมาะสำหรับพื้นที่ 40 ตร.ม. เนื่องจากเหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าที่อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียม ต่อมาเครื่องที่เหมาะกับพื้นที่ขนาด 60 ตร.ม. และพื้นที่ 100 ตร.ม.ขึ้นไป

.

ทั้งนี้สินค้าเครื่องฟอกอากาศที่สร้างยอดขายสูงมาก ทำให้เพาเวอร์มอลล์ ต้องบริหารจัดการหน้าร้านเพื่อให้มีสินค้าเพียงพอกับความต้องการ โดยส่วนใหญ่สินค้าจะวางจำหน่ายในช่วงเช้าที่หน้าร้านและในช่วงเย็นสินค้าจะหมดลงแทบทุกวัน ส่วนแบรนด์ยอดนิยมของกลุ่มจะมีทั้ง ชาร์ป รองลงมา อีเลคโทรลักซ์ ต่อเนื่องด้วยแบรนด์อื่นจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

.

:: คนไทยกังวลเศรษฐกิจมุ่งช้อปสินค้าจำเป็น ::

อีกทั้งเมื่อประเมินภาพรวมกำลังซื้อของกลุ่มลูกค้าคนไทยมุ่งใช้จ่ายอย่างรอบคอบมากขึ้นเพราะมีหลายปัจจัยต้องติดตาม แต่เมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤติฝุ่น PM 2.5 ทำให้การตัดสินใจเลือกซื้อเครื่องฟอกอากาศรวดเร็วมากขึ้น และส่วนหนึ่งมาจากความสนใจดูแลสุขภาพสูงขึ้น ทำให้เครื่องฟอกอากาศกลายเป็นสินค้าจำเป็นที่ต้องมีในทุกบ้าน เหมือนกับตลาดเครื่องปรับอากาศแล้ว

.

รวมทั้งการติดตามยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าหลังการมีนโยบาย Easy E-Receipt 2.0 กับการช้อปลดหย่อนภาษีปี 2568 ยังไม่เติบโตเทียบปีก่อนหน้า เพราะปี 2568 ประกาศให้เลือกซื้อสินค้าทั่วไป 3 หมื่นบาทและสินค้าโอท็อป 2 หมื่นบาท ถือว่าวงเงินต่างจากปีก่อน

.

ส่วนใหญ่สินค้าที่ได้รับความนิยมสูงเป็นกลุ่มเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็นและพัดลม เพราะใกล้หน้าร้อน แต่ปีนี้มีฝุ่นมากระทบส่งผลให้ยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าพุ่งสูง 30-50% แต่หากไม่มีฝุ่นเข้ามาหนุนตลาด ยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าไตรมาสแรก อาจขยายตัวระดับ 10%

.

:: “แอลจี” เร่งนำเข้าเครื่องฟอกอากาศ ::

นายอำนาจ สิงห์จันทร์ หัวหน้าฝ่ายการตลาด บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบัน แอลจี เตรียมแผนรับมือความต้องการเครื่องฟอกอากาศที่สูงขึ้นจากผู้บริโภคคนไทย ด้วยการนำเข้าสินค้าเครื่องฟอกอากาศ 1,000 เครื่องต่อเดือน ช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.นี้ รวมถึงมีแผนนำเข้าสินค้ามาทางอากาศเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มความรวดเร็วของการขนส่งสินค้า จากเดิมนำเข้าสินค้าทางเรือ

.

ทั้งนี้หากสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ยังน่ากังวล ประเมินว่ายอดขายเครื่องปรับอากาศของแอลจี ในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.นี้ จะขยายตัว 40% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงได้รับแรงหนุนจากมาตรการ Easy E-Receipt ของภาครัฐมากระตุ้นตลาดอีกด้าน

.

:: “มิตซูบิชิ” ยอดขายพุ่งสินค้าขาดตลาด แบรนด์ใช้เวลานำเข้าจากญี่ปุ่น ::

ทางด้าน “มิตซูบิชิ” (Mitsubishi) ภายใต้ บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค กันยงวัฒนา จำกัด สร้างยอดขายเครื่องฟอกอากาศสูงขึ้นมากในเดือน ม.ค. เช่นกัน ทำให้ปัจจุบันสินค้ามีการขาดตลาดในบางทำเลแล้ว เพราะแบรนด์ต้องนำเข้าเครื่องฟอกอากาศจากญี่ปุ่นที่เป็นฐานการผลิตสินค้า ทำให้ต้องใช้เวลาขนส่งสินค้า

.

สำหรับเครื่องฟอกอากาศแบรนด์ มิตซูบิชิ เน้นจุดขายฟอกอากาศรวดเร็ว โดยปัจจุบันมีสินค้า 2 รุ่น จึงได้รับการตอบรับดีจากกลุ่มลูกค้าคนไทย เน้นเจาะตลาดกลุ่มพรีเมียม

.

อย่างไรก็ตาม  สำรวจตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในกลุ่มเครื่องฟอกอากาศ โดยมีแบรนด์ที่ทำตลาดหลักทั้งจากไทย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และแบรนด์จากยุโรป รวมถึงสหรัฐ ส่วนแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าจากจีนมุ่งเน้นทำตลาดเครื่องปรับอากาศ ที่มีฟังก์ชันฟอกอากาศ จึงไม่เน้นทำตลาดเครื่องฟอกอากาศมากนัก ส่วนผู้นำตลาดเครื่องฟอกอากาศของประเทศไทยจาก แบรนด์ประเทศญี่ปุ่นคือ ชาร์ป

.

อีกทั้งในตลาดมีอีกโมเดลในการเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้ากับการสมัครเป็นบริการสมาชิกแบบรายเดือน เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ลูกค้าที่สนใจการจ่ายค่าบริการเป็นรายเดือนมากกว่า ซึ่งมีแบรนด์ที่ทำตลาดหลักในปัจจุบันคือ โคเวย์ (Coway) จากเกาหลีใต้ ได้จัดทำโปรโมชั่นรายเดือน เริ่มต้นราคา 480 บาท จากราคาเดิมเริ่มต้นประมาณ 690 บาท

.

:: โคเวย์ ยอดพุ่ง 2 เท่า จัดโปรเขย่าตลาด ::

นางสาวพิมพ์อาภา วัฒนพานิช ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท โคเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากการประเมินยอดขายเครื่องฟอกอากาศของแบรนด์โคเวย์ ในเดือน ม.ค. นี้ มีการขยายตัว 200% ถือว่าคนในประเทศไทยให้ความสนใจเครื่องฟอกอากาศสูงมากจาก จากผลกระทบต่อเนื่องจากสถานการณ์ฝุ่นในไทย

.

ทั้งนี้ จากความต้องการเครื่องฟอกอากาศในปัจจุบันที่สูงมากทำให้แบรนด์โคเวย์ ที่เป็นระบบแบบ ซับสไคร์ (subscription) รายเดือน จัดโปรโมชั่นด้วยการจัดราคาโปรโมชันเริ่มต้นที่ 480 บาทต่อเดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2568 พร้อมบริการดูแลให้เป็นเวลา 7 ปี เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่คนในประเทศและร่วมดูแลสุขภาพของคนไทย

ความคิดเห็น

บทความที่มีคนอ่านมากที่สุด

‘HAAB’ ขายขนมไข่เดือนละ ‘3 ล้านชิ้น’ เปิดร้านมา 1 ปี เตรียมบุก ‘มาเลเซีย’ เป็นประเทศแรก

ครั้งแรกในไทย KFC คอนเซ็ปต์ใหม่ “Quick & Easy” ตอบโจทย์ Digital lifestyle ยุคใหม่ นำร่องแห่งแรกที่ “ท่าวังหลัง” .

การตลาดตามกระแส "วิธีฉลาดๆ ของพวกโง่ๆ"

Heineken 0.0 เบยร์ไม่มีแอลกอฮอลล์ แกกกฏโฆษณา และฉีกภาพเบียร์ในตำนาน

Personal Branding ...ต้องเรื่องจริง ไม่ใช่แค่เปลือก