CJ แตกต่างทำกำไร ไล่บี้เบอร์ 1 สะดวกซื้อไทย
ปัจจุบันร้านสะดวกซื้อได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของใครหลายคนไปแล้ว มีสินค้า และบริการหลากหลาย ตอบโจทย์ทุกความต้องการของลูกค้า แต่ละแบรนด์ต่างงัดกลยุทธ์และแคมเปญการตลาดแบบจัดเต็ม ช่วงชิงส่วนแบ่งในสมรภูมิค้าปลีกค้าส่งที่มีมูลค่าสูงถึง 4.4 ล้านล้านบาท
.
โดยเฉพาะ 2 ร้านสะดวกซื้อยักษ์ใหญ่ "CJ" กับ "7-Eleven" ทางฝั่ง CJ ผู้ท้าชิง ประกาศไล่บี้ผู้นำตลาด 7-Eleven ตั้งแต่ต้นปี 2568 ชูสินค้าคุณภาพหลากหลาย ทั้งอุปโภคบริโภค เจาะทุกความต้องการของกลุ่มลูกค้าตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ ผ่าน 3 โมเดลร้านค้า ซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต, ซีเจ มอร์ และ ซีเจ เอ็กซ์
.
ศึกชิงตลาดร้านสะดวกซื้อในไทยระหว่าง CJ กับ 7-Eleven จะดุเดือดแค่ไหนในปี 2568 ทางผู้ท้าชิงอย่าง CJ จะมีกลยุทธ์เด็ดไล่บี้เบอร์หนึ่ง 7-Eleven ที่มีสาขาครอบคลุมทุกพื้นที่กว่า 15,053 ได้อย่างไร? TF Today จะเล่าให้ฟัง
.
กลยุทธ์ “ป่าล้อมเมือง”
.
กลยุทธ์การทำธุรกิจของ CJ แจ้งเกิดด้วย “ป่าล้อมเมือง” เปิดบริการสาขาแรกเมื่อปี 2548 จากรอบนอกทางภาคตะวันตก กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม ฉะเชิงเทรา ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ชลบุรี นนทบุรี สุพรรณบุรี อยุธยา ก่อนเจาะเข้ามาในกรุงเทพฯ ปริมณฑล
.
ปัจจุบันมีกว่า 1,500 สาขา แบ่งเป็นต่างจังหวัด 1,000 สาขา กรุงเทพฯ และปริมณฑล 500 สาขา
.
กลยุทธ์ “ขยายสาขา”
.
แผนการดำเนินธุรกิจ CJ ปี 2568 เตรียมงบลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท เปิดร้านใหม่ 300 สาขา นั่นก็เท่ากับว่าสิ้นปี 2568 ร้าน CJ ทั้ง 3 โมเดลรวมกันจะมีถึง 1,800 สาขา เริ่มตั้งแต่กลางปีเจาะทำเลแหล่งท่องเที่ยวครั้งแรก เปิด ซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต สาขาถนนข้าวสาร ไม่พอยังใช้งบ 1,000 ล้านบาท สร้างคลังสินค้าแห่งที่ 5 ขนาดพื้นที่ 80,000 ตร.ม. ที่จังหวัดบุรีรัมย์
.
โดยร้าน CJ ทั้ง 3 โมเดล ใช้เงินลงทุนต่างกัน
✅ซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต ขนาดพื้นที่ 300 ตร.ม ลงทุนราว 8 ล้านบาท
✅ซีเจ มอร์ ขนาด 300 ตร.ม. มีลานจอดรถเหมือน 7-Eleven ลงทุน 12 ล้านบาท
✅ซีเจ เอ็กซ์ ร้านค้าส่งค้าปลีก ขนาด 200 ตร.ม. ลงทุนต่ำกว่า 2 ล้านบาท
✅7-Eleven (Stan Alone) มีที่จอดรถ ขนาด 300 ตร.ม. ลงทุน 12 ล้านบาท
.
ถ้าสมมติ CJ สามารถทำตามแผนการขยายสาขาได้สำเร็จ ปี 2568 จะมีรายได้แตะ 70,000 ล้านบาท เติบโต 30% ส่วนปี 2567 มีรายได้ 53,000 ล้านบาท เติบโต 30% กำไร 3,700 ล้านบาท
.
เป้าหมายของ CJ คือ ทำรายได้ให้ถึง 100,000 ล้านบาท ในปี 2575
.
กลยุทธ์ “แตกต่าง” ทำกำไร
.
นอกจากกลยุทธ์ขยายสาขาเพิ่ม CJ ยังมีธุรกิจที่ทำกำไรให้กับบริษัทฯ แตกต่างจาก 7-Eleven แต่ละแบรนด์สร้าง Margin กำไร 50%++ ให้กับ CJ เติบโตต่อเนื่อง เช่น
✅Nine Beauty ร้านขายเครื่องสำอางและความงามมัลติแบรนด์
✅บาว คาเฟ่ (Bao Café) ร้านกาแฟสด ราคารถเข็น 23-30 บาท แต่เครื่องชงนำเข้าจากอิตาลี
✅อูโนะ (UNO) ร้านสินค้าไลฟ์สไตล์ สินค้าแฟชั่น เครื่องเขียน และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
✅เอ-โฮม โซนคนรักบ้าน
✅เพ็ทฮับ (PET HUB) ร้านขายอาหารและอุปกรณ์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงครบวงจร
✅บาว วอช (Bao Wash) มุมบริการซัก-อบผ้าด้วยเครื่องอัตโนมัติ และล่าสุดเปิดร้าน
✅Tian Tian (เถียน เถียน) ขายไอศกรีมและชาผลไม้ราคาเริ่มต้น 15 บาท เหมือน MIXUE เปิดให้บริการแล้วใน CJX, CJ More และ CJ Supermarket กว่า 73 สาขา
.
กลยุทธ์ “พัฒนาคน”
.
ปี 2568 CJ เพิ่มประสิทธิภาพทางด้านบุคลากร ปรับโครงสร้างบริษัท หลังจากมีสาขาเกิน 1 พันสาขา กลายเป็น "ยักษ์ใหญ่" ในตลาดร้านสะดวกซื้อไปแล้ว เตรียมส่งพนักงานไปเรียนรู้เทคโนโลยีค้าปลีก ที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน สหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยแห่งนี้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์อันดับต้นๆ ของโลก
.
CJ ต้องการมุ่งพัฒนาคน เพิ่มทักษะด้าน AI เดือนกุมภาพันธ์ จะหารือกับมหาวิทยาลัยระดับชั้นนำของสหรัฐ (Ivy Leauge) อีกแห่ง เพื่อนำบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญสูงมาทำงานร่วมกันในไทยให้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และเข้าใจผู้บริโภคมากขึ้น
.
CJ มีพนักงานราว 20,000 คน แต่ทีมงานด้านเทคโนโลยีเกือบ 500 คน เฉพาะเชี่ยวชาญด้าน AI มี 100 คน มีต้นทุนจ้างงานส่วนนี้ ปี 2567 ตกราวๆ 200 ล้านบาท
.
กลยุทธ์ “สินค้า”
.
อีกหนึ่งกลยุทธ์ของ CJ คือ การจัดการสินค้า ไม่ว่าจะเป็นสินค้าขายดี ขายไม่ดี จัดการสินค้าให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าในแต่ละพื้นที่ บางพื้นที่ซื้อครั้งละมากๆ บางพื้นที่ซื้อต่อบิลสูง จะมีจัดสินค้าให้เหมาะสมตามกลุ่มเป้าหมาย
.
Hotelling model เปิดร้านข้างคู่แข่ง
.
มาระยะหลังๆ เราจะเห็นร้าน CJ ไปเปิดใกล้ๆ กับ 7-Eleven หลายคนมองว่าไม่มีทางสู้ 7-Eleven ได้แน่นอน แต่กลับสู้ได้อย่างสูสี บางสาขาลูกค้าเยอะกว่าด้วย เพราะ CJ มองว่าเปิดร้านค้าปลีกต้องเลือกทำเลใกล้ๆ กัน ดึงดูดลูกค้าได้ดีกว่า
.
นักการตลาด มองว่า ร้านประเภทเดียวกันเปิดอยู่ข้างๆ กัน จะช่วยสร้างฐานกลุ่มลูกค้าที่คล้ายกัน เหมือนกรณี 7-Eleven กับ CJ (Supermarket, More, CJX) ทั้ง 2 ร้านมีสินค้าและบริการเหมือนกัน มีฐานลูกค้ากลุ่มเดียวกัน ทำให้มาระยะหลังจะเห็น CJ ไปเปิดใกล้ๆ หรือติดกับร้าน 7-Eleven แบบว่าไม่กลัวเจ๊งเลยทีเดียว
.
CJ สำรวจมาว่าฐานกลุ่มลูกค้าที่อยู่ตรงนั้น เป็นฐานกลุ่มลูกค้าที่ไปซื้อสินค้า 7-Eleven หากเปิดร้านใกล้กัน แม้จะแย่งยอดขายกัน แต่ก็มีฐานลูกค้ารออยู่ตรงนั้นแล้ว ไม่ต้องไปหาลูกค้าใหม่ให้เสียเวลา ทำให้ CJ ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไปเปิดร้านในทำเลอื่น เหมือนกับว่า 7-Eleven หาลูกค้าไว้ให้แล้ว เพียงแต่ว่าใครจะทำได้ดีและครองใจลูกค้าได้มากกว่ากัน
.
วัดขุมกำลัง 7-Eleven vs CJ Supermarket, More, X
.
#7-Eleven
✅เจ้าของ บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน)
✅ตระกูล เจียรวนนท์
✅เปิดบริการ ปี 2532 (36 ปี)
✅จำนวน 15,053 สาขา
✅เวลาทำการ 24 ชั่วโมง
✅ปี 2566 รายได้ 429,495 ล้านบาท
✅กำไร 15,403 ล้านบาท
✅ร้านกาแฟ All cafe
✅บัตรสมาชิก ALL member
✅ลูกค้า 964 คน/วัน/สาขา
✅ขายแฟรนไชส์
.
#CJ Supermarket, More, X
✅เจ้าของ บริษัท ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป จำกัด
✅ตระกูล เสถียรธรรมะ
✅เปิดบริการ ปี 2548 (20 ปี)
✅จำนวน 1,500 สาขา
✅เวลาทำการ 06.00 -23.00 น.
✅ปี 2566 รายได้ 44,000 ล้านบาท
✅กำไร 2,600 ล้านบาท
✅ร้านกาแฟ Bao cafe
✅บัตรสมาชิก สบายการ์ด
✅ลูกค้า 800 คน/วัน/สาขา
✅ไม่ขายแฟรนไชส์
.
การแข่งขันในสมรภูมิค้าร้านสะดวกซื้อ ระหว่าง CJ กับ 7-Eleven เพิ่งจะเริ่มต้น หลัง CJ ขยายเปิดสาขาทะลุ 1,500 สาขา ตั้งเป้าสิ้น 2568 เปิดครบ 1,800 สาขา แต่ยังห่างไกล 7-Eleven ที่มีอยู่ 1,5053 สาขา และตั้งเป้าเปิดสาขาเพิ่มปีละ 700 สาขา
.
ถ้าถามว่า CJ จะแข่งกับ 7-Eleven ในเรื่องจำนวนสาขาได้หรือไม่ คงไม่ได้ แต่ CJ แข่งในเรื่อง “ความแตกต่าง” และ ทำให้ดีกว่า 7-Eleven ก็เพียงพอ ต่อจากนั้นให้ผู้บริโภคเป็นคนตัดสินใจเอง
.
ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าใครจะชนะในสมรภูมิร้านสะดวกซื้อ ผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุด คือ ผู้บริโภค ใครจะเป็นผู้ครองใจผู้บริโภคได้มากกว่า ระหว่าง CJ กับ 7-Eleven ต้องติดตามกันต่อไป
.
.
#CJ #ร้านสะดวกซื้อ #การตลาด #สมรภูมิค้าปลีกค้าส่ง #ขยายสาขา #ร้านสะดวกซื้อ #ร้านค้าปลีก #แฟรนไชส์ #ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็นต่อบทความนี้