เครือสหพัฒน์ ผนึกทุนเกาหลี ปั้น ‘BIGXSHOW’ ชิงตลาดอีคอมเมิร์ซ
ทุนเกาหลีใต้มองไทยอีคอมเมิร์ซขุมทรัพย์ เผยธุรกิจเปลี่ยนเร็ว ผนึกทุนใหญ่ “เครือสหพัฒน์” ร่วมทุนตั้ง บิ๊กซ์โชว์ ลาล่า ปั้น “BIGSHOW” ขายโจ๊ก-ข้าวต้มมาม่า-รถยนต์ฮุนได
.
ปี 2567 เครือสหพัฒน์ โดย “ช้อป โกลบอล” ซึ่งขายสินค้าโฮมชอปปิง และ “LALASTATOIN” บิ๊กอีคอมเมิร์ซจากประเทศเกาหลีใต้ ได้พัฒนาโมเดล “ไลฟ์คอมเมิร์ซ” ในประเทศไทยอย่าง Bigshow เพื่อจำหน่ายสินค้าผ่านเหล่าผู้ทรงอิทธิพลหรืออินฟลูเอนเซอร์ KOLs เรียนรู้โมเดลธุรกิจที่ใช่เพื่อต่อยอดการเติบโต
ปี 2568 ทั้ง 2 พันธมิตรเดินหน้ายกระดับความร่วมมือ โดยเครือสหพัฒน์ “ร่วมทุน” กับ LALASTATION ตั้งบริษัท บิ๊กซ์โชว์ ลาล่า จำกัด (BIGXSHOW LALA) ด้วยทุนจดทะเบียน 80 ล้านบาท การถือหุ้นเครือสหพัฒน์ถือ 70% และLALASTATION ถือ 30%
.
สรโชติ อำพันวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท บิ๊กซ์โชว์ ลาล่า จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทใช้เงินลงทุน 100 ล้านบาท ปั้นแพลตฟอร์ม “BIGXSHOW” ที่เป็นทั้ง Live Fandom Commerce เพื่อจำหน่ายสินค้า รวมถึงสร้างสรรค์โปรเจค “X THE LIVE” ดึงอินฟลูเอนเซอร์ 3 ชาติ เป็นไทย 18 คน เกาหลีใต้ 4 คน และมาเลเซีย 2 คนมาร่วมรายการแข่งขันการขายสินค้า 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 3 วัน ชิงเงินรางวัล 2.4 ล้านบาท
โปรเจคดังกล่าว ยังเป็นการผนึกพันธมิตรและทุน 4 ชาติ ได้แก่ ไทย เกาหลีใต้ ลาซาด้าจากจีน และวิว(VIU)จากฮ่องกง เพื่อนำรายการไปออกอากาศผ่าน VIU แบบเอ็กซ์คลูสีฟใน 16 ประเทศด้วย อีกไฮไลต์รายการ “X THE LIVE” ได้มือดีอย่าง “ลี ฮวาน จิน” ผู้กำกับ “Running Man” รายการยอดฮิตที่ได้รับความนิยมทั่วโลกและทีมโปรดิวเซอร์จากประเทศเกาหลีใต้รวม 60 ชีวิตมาสร้างสรรค์โปรเจค รวมถึง “แบมแบม กันต์พิมุกต์ ภูวกุล” ศิลปินระดับอินเตอร์ที่มีพลังดึงดูดแฟน ๆ ทั่วโลก มาเป็น Moderator ของรายการด้วย
.
ภารกิจดังกล่าว ยังสอดคล้องกับนโยบายของเสี่ยบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ ที่ต้องการให้ขับเคลื่อนและทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัลสำเร็จ ประกอบกับการค้าขายออนไลน์มีการเติบโตมาก แต่บริษัทยังโตไม่ทันจลาด จึงต้องการเติบโตมากกว่าที่เป็นในปัจจุบัน
“เครือสหพัฒน์กำลังทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน นโยบายต้องทำเร็วและแรง และX THE LIVE คือการสร้างปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่ทำให้ทุกอย่างเดินหน้าไปเร็ว เพราะระบบ การขายสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซเกมเปลี่ยนเร็วมาก เทคโนโลยีเอไอยังเข้ามาทรงอิทธิพลต่อไลฟ์ คอมเมิร์ซ เราต้องปรับตัวตลอด”
.
เครือสหพัฒน์ยังพัฒนาอินฟลูเอนเซอร์ เซ็นเตอร์ ใช้พื้นที่เอาท์เล็ทสวนอุตสาหกรรม 3 แห่ง ที่กบินท์บุรี แม่สอด และชลบุรี สำหรับให้อินฟลูเอนเซอร์ไปใช้ไลฟ์ขายสินค้า หลังไปศึกษาโมเดลธุรกิจที่จีนมาต่อยอด คาดหวังผลักดันยอดขายสินค้าออนไลน์เครือสหพัฒน์โตขึ้น จากปัจจุบันสัดส่วนอยู่ที่ 10-20% จากทั้งเครือยอดขายหลัก “แสนล้านบาท” ขณะที่ตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยปี 2567 มูลค่า 1.1 ล้านล้านบาท คาดการณ์อีก 3 ปีข้างหน้า มูลค่าแตะ 3 ล้านล้านบาท
.
ลี ชอลโฮ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท บิ๊กซ์โชว์ ลาล่า จำกัด กล่าวว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยยังมีโอกาสเติบโต สินค้าที่เหมือนกันหากมีวิธีการขายที่แตกต่าง เชื่อว่าจะดุงดูดกลุ่มเป้าหมายได้ อีกทั้งเทรนด์อินฟลูเอนเซอร์ KOLs ขายสินค้าเติบโตแรง อย่างในเกาหลีมีผลต่อลูกค้าในการซื้อสินค้าอย่างมาก
.
ทั้งนี้ ตลาดอีคอมเมิร์ซในเกาหลีใหญ่กว่าไทย 8 เท่า มีแพลตฟอร์มให้ชอปปิงออนไลน์มากถึง 50 แพลตฟอร์ม ตอบโจทย์ประชากรราว 50 ล้านคน ส่วนไทยมีไม่มากนัก เช่น ลาซาด้า ช้อปปี้ และติ๊กต๊อก ฯ แต่ประชากรไทยมีกว่า 70 ล้านคน
.
บริษัทมีธุรกิจอีคอมเมิร์ซในญี่ปุ่น จีน และทำงานร่วมกับพันธมิตรลาซาด้าในสิงคโปร์ มาเลเซีย และไทยผ่านโปรเจค X THE LIVE ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคทั้ง 3 ชาติอาเซียนซื้อสินค้าได้ ยังมองโอกาสไทยเป็นตัวแทนของอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคอาเซียนด้วย เพราะถือเป็นประเทศที่ธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
.
สำหรับสินค้าที่ขายผ่าน X THE LIVE ชิ้นเล็กสุดกลุ่มอาหารเช่น มาม่าโจ๊กและข้าวต้ม ส่วนแพงสุดคือรถยนต์ฮุนได ไอออนิก(Hyundai IONIQ) ขณะที่สินค้ากลุ่มสหพัฒน์ เช่น วาโก้ทุกรายการ บีเอสซี โอซีซีทุกแบรนด์ อาหารจากกลุ่มสหพัฒนพิบูล ซิสเทมม่าจากไลอ้อนฯ เป็นต้น ส่วนโปรนเจคนี้คาดหวังยอดดาวน์โหลดแอปฯ “BIGXSHOW” 1 ล้านครั้ง และผู้เข้าชมเฉลี่ย 3 แสนวิวต่อวัน
.
“ราว 1 ปีที่ทำงานร่วมกับเครือสหพัฒน์ เราเรียนรู้ธุรกิจในไทยเปลี่ยนเร็ว จึงมีการเปลี่ยนคอนเซปต์ โมเดลธุรกิจหลายรอบจนมาเจอ X THE LIVE เพราะเชื่อว่าการขายสินค้าหากมุ่งแข่งราคาอย่างเดียวไม่ยั่งยืน เราจึงหาสินค้าคุณภาพ สินค้าเอ็กซ์คลูสีฟจากต่างประเทศมาขาย และใช้อินฟลูเอนเซอร์ สร้างวิธีการขายที่แตกต่างมาดึงลูกค้าให้ช้อป”
.
ทั้งนี้ ความสำเร็จของอีคอมเมิร์ซในเกาหลีมี 3 ตัวแปรที่มีผล คือ อินเตอร์เน็ตเร็ว ระบบชำระเงินหรือPayment เร็ว และการขนส่ง เดลิเวอรี่เร็ว ส่วนไทยกลับกันคือการขนส่ง เดลิเวอรี ระบบชำระเงิน และอินเตอร์เน็ต
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็นต่อบทความนี้