‘The Rolling Pinn’ ขาย ‘ช็อกโกแลตดูไบ’ ได้เดือนละ 4 หมื่นชิ้น! รายได้โต 300% ฝันไปต่างประเทศด้วย

คงไม่เกินจริงนักหากจะบอกว่า “ช็อกโกแลตดูไบ” คือหนึ่งในเมนูยอดฮิตแห่งปี 2567 เพราะไม่ว่าจะเป็นร้านขนมหวานขึ้นห้างหรือแม้แต่แผงขายเบเกอรีตามท้องตลาด เมนูช็อกโกแลตสอดไส้พิสตาชิโอก็ยังได้รับการตอบรับที่ดีอย่างต่อเนื่อง ในระดับโลก “ช็อกโกแลตดูไบ” เป็นไวรัลครั้งแรกจากคอนเทนต์ในแอแพลิเคชัน TikTok ส่วนในไทยก็พบว่า ร้านแรกๆ ที่รับเอากระแสดังกล่าวมาต่อยอดจนขายดีสุดเพดานการผลิตก็คือ “The Rolling Pinn” แบรนด์ที่ถูกยกให้เป็นร้านขนมหวานสุดเซ็กซี่ที่สุดในห้วงเวลานี้
.
ไม่ใช่แค่กระแสช็อกโกแลตดูไบเท่านั้น แต่ “The Rolling Pinn” ของ “พิณ เจนวัฒนวิทย์” เคยสร้างปรากฏการณ์มาแล้วจาก “Glitter Queen Cake” เค้กกลิตเตอร์ฟุ้งกระจายที่มียอดผู้เข้าชมคอนเทนต์ดังกล่าวมากกว่า 36 ล้านวิว และเร็วๆ นี้กับเมนู “Choco Gems” ช็อกโกแลตเคลือบเบอร์รี่ที่เจ้าตัวบอกกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า กำลังการผลิตตอนนี้อยู่ที่ 12,000 ชิ้นต่อวัน ทำได้มากสุดวันละ 1,000 กล่อง และแน่นอนว่า ขายหมดเกลี้ยงแทบทุกวันด้วย
:: ฝึกทำขนมตั้งแต่ 11 ขวบจากหนังสือสามเล่ม มี “พี่เมย์ After You” เป็นไอดอล ::
จุดเริ่มต้นแรกสุดที่นำพา “พิณ” เข้าสู่วงการเบเกอรีมาจากความชอบส่วนตัวตั้งแต่เด็กๆ เธอเล่าว่า ครั้งแรกที่เริ่มฝึกทำขนมตอนนั้นอายุราวๆ 11 ปีเท่านั้น เหตุเกิดเมื่อครั้งที่เธอมีโอกาสเดินช้อปปิ้งกับครอบครัวแล้วเหลือบไปเห็นหนังสือสอนทำขนมของ “เมย์-กุลพัชร์ กนกวัฒนาวรรณ” หรือ “เมย์ After You” เจ้าของร้านขนมหวานชื่อดัง เด็กหญิงพิณขอซื้อทั้งหมด 3 เล่มในคราวเดียว โดยให้คำมั่นกับครอบครัวว่า เธอจะใช้เวลาว่างฝึกทำขนมให้ครบทุกสูตรทั้ง 3 เล่มที่ซื้อมา
.
จากวันที่มี “พี่เมย์” เป็นไอดอล “พิณ” ฝันมาตลอดว่า วันหนึ่งหากได้เปิดร้านขนมเป็นของตัวเองบ้างก็คงจะดีไม่น้อย และฝันใหญ่ที่วางไว้ตั้งแต่เด็กๆ คือการมีร้านขนมเปิดที่ต่างประเทศด้วย จนกระทั่งเมื่อ 6 ปีที่แล้ว “The Rolling Pinn” ก็ถือกำเนิดขึ้น เริ่มจากการเปิดร้านบนแพลตฟอร์มออนไลน์ก่อน โดยเมนูแรกสุดที่ทำขายคือคุกกี้และเค้ก
.
ร้านของ “พิณ” โดดเด่นในเรื่อง “เค้กด่วน” หมายถึงเค้กที่สามารถส่งด่วนได้ทันทีแบบ “Sameday” โดยทางร้านจะมีการสต๊อกวันต่อวัน แต่ละวันจะมีแบบพร้อมส่งให้ลูกค้าเลือกแตกต่างกันไป สามารถจัดส่งได้ทันทีภายใน 3 ชั่วโมง และหลังจากนั้น “The Rolling Pinn” ก็ถูกพูดถึงเป็นไวรัลไปถึงต่างแดนจากคลิปวิดีโอ “Glitter Queen Cake” เค้กกลิตเตอร์ฟุ้งกระจายที่มีชาวต่างชาติให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะฝั่งสหรัฐ รัสเซีย ดูไบ
กระแส “Glitter Queen Cake” ถูกต่อยอดความไวรัลมากขึ้นไปอีก จากเมนู “ช็อกโกแลตดูไบ” ที่ครั้งนี้พิณบอกว่า ทำให้ร้านของเธอได้รับทั้งกระแสและยอดสั่งซื้อช็อกโกแลตแบบถล่มทลาย จนสามารถพูดได้ว่า “The Rolling Pinn” คือร้านขนมหวานในไทยเจ้าแรกที่รังสรรค์เมนูนี้ออกมา โดยหลังจากนั้นช็อกโกแลตดูไบก็ได้รับการตอบรับที่ดี จนมีร้านเล็กร้านใหญ่ออกเมนูดังกล่าวเพิ่มขึ้นทั่วตลาด
.
:: ปั้น “ช็อกโกแลตดูไบ” วันละ 1,500 ชิ้น ต้องกินโชว์-มีเสียงกรุบกรอบ ลูกค้าจะอยากซื้อ ::
เค้กกลิตเตอร์สร้างชื่อเสียงให้ร้านในกลุ่มต่างชาติมากกว่าคนไทย แต่สำหรับ “ช็อกโกแลตดูไบ” เธอบอกว่า เมนูนี้แหละที่ทำให้ “The Rolling Pinn” ถูกพูดถึง และมียอดขายโตกระฉูดมากที่สุด สูตรโตที่ทำให้เมนูช็อกโกแลตได้รับความสนใจ “พิณ” มองว่า มาจากรูปแบบการนำเสนอ ต้องคิดว่า จะทำอย่างไรให้คนที่เลื่อนฟีดบนหน้าจอสัมผัสถึงความอร่อยได้
.
“Unique Selling Point” ที่เธอเห็นจากเมนูคือวิธีการกิน คอนเทนต์ช็อกโกแลตดูไบจึงนำเสนอรูปแบบการกิน หักช็อกโกแลตให้เห็นไส้พิสตาชิโอเยิ้มๆ ด้านใน ให้คนสงสัยว่า ไส้ขนมด้านในทำมาจากอะไร จากนั้นก็ต้องกินให้มีเสียงกรุบกรอบ ให้มีความน่าสนใจมากกว่าช็อกโกแลตแบบอื่นๆ
.
เธอบอกว่า ช่วงที่พีคสุดๆ เคยขายได้มากถึง 1,500 ชิ้นต่อวัน กินเวลาเช่นนั้นยาวนานถึง 3 เดือน วันแรกทำอยู่ 80 ชิ้น แต่ปรากฏว่า หมดเกลี้ยงภายใน 1 นาที จากนั้นจึงขยายกำลังการผลิตเป็น 500 ชิ้น 800 ชิ้น 1,000 ชิ้น 1,200 ชิ้น และเต็มอัตราที่ 1,500 ชิ้นต่อวัน ในช่วงนั้นความท้าทายไม่ใช่แค่การผลิตให้รองรับกับปริมาณความต้องการของลูกค้า แต่ยังเป็นเรื่องวัตถุดิบที่มีราคาสูงและหายาก โดยเฉพาะช็อกโกแลตที่อยู่ในช่วงขาดแคลน
แต่ด้วย “Economy of Scale” ที่เพิ่มขึ้น ทุกวันนี้ร้าน “The Rolling Pinn” ซื้อช็อกโกแลตเป็นหน่วยตันแทนกิโลกรัมไปแล้ว โดยซัพพลายเออร์ที่ร้านยังคงผูกปิ่นโตมาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ “Valrhona Chocolate” ช็อกโกแลตพรีเมียมจากฝรั่งเศสนั่นเอง
.
ถัดจาก “ช็อกโกแลตดูไบ” ตอนนี้ร้านสร้างปรากฏการณ์อีกครั้งจาก “Choco Gems” โดย “พิณ” บอกว่า เธอไปเจอเมนูนี้ครั้งแรกที่ดูไบ มีโอกาสซื้อกลับมากินต่อที่ไทยแล้วเกิดติดใจมาก จึงคิดว่า ต้องนำมาพัฒนาต่อที่ร้านให้ได้ ใช้เวลาหลังจากนั้นเพียง 1 เดือน กระบวนการ R&D ก็แล้วเสร็จ ทันทีที่วางขาย “Choco Gems” ก็ได้รับการตอบรับที่ดีทันที ปัจจุบันกำลังการผลิตเมนูนี้ได้สูงสุดวันละ 12,000 ชิ้น หากคิดเป็นจำนวนกล่องจะอยู่ที่ราวๆ 1,000 ต่อวัน
.
ทุกวันนี้ขนมทุกชิ้นทุกเมนูของร้าน “The Rolling Pinn” ยังเป็นการผลิตเองแบบไม่ใช้ระบบสายพาน เธอบอกว่า ความยากของ Choco Gems คือต้องนำเบอร์รี่จุ่มช็อกโกแลตสองรอบ และต้องเคาะช็อกโกแลตออกเพื่อไม่ให้มีความหนามากจนเกินไป ทำให้กำลังการผลิตค่อนข้างจำกัด แม้สินค้าจะเป็นที่ต้องการมากแค่ไหนก็ตาม
.
:: รายได้พุ่ง 300% ปีนี้อยากโตอีกสองเท่า เปิดร้านใหม่ 3 สาขา ::
ความสำเร็จของบรรดา “Hero Product” ในปีที่ผ่านมา ทำให้รายได้ของ “The Rolling Pinn” เติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้ามากกว่า 300% เกินจากที่ตั้งเป้าไว้พอสมควร โดยในปีนี้ก็อยากโตขึ้นจากเดิมสองเท่า ช่องทางการขายยังคงเน้นออนไลน์เป็นหลัก ยอมรับว่า การเปิดหน้าร้าน 4 สาขามีความท้าทายมากกว่าการขายในช่องทางออนไลน์พอสมควร โดยเฉพาะการจัดเก็บสินค้าอย่าง “Choco Gems” ที่ต้องเก็บในฟรีซเท่านั้น
.
ปัจจุบัน “The Rolling Pinn” มีหน้าร้าน 4 แห่ง ได้แก่ สยามพารากอน เอ็มควอเทียร์ เซ็นทรัลชิดลม และเซ็นทรัลบางนา ปีนี้ตั้งใจเปิดเพิ่มอีก 3 แห่ง รวมถึงแผนไปต่างประเทศก็ยังทดไว้ในใจด้วย “พิณ” บอกว่า ประเทศที่อยากไปมากที่สุด คือ “ดูไบ” เป็นความชอบส่วนตัวที่มองว่า บรรยากาศของประเทศเข้ากันกับคอนเซปต์แบรนด์ The Rolling Pinn รวมถึงไลฟ์สไตล์ที่คนดูไบชอบกินของหวานมาก อีกทั้งยังมีกำลังซื้อที่น่าสนใจด้วย
.
เจ้าของแบรนด์ขนมแห่งยุคทิ้งท้ายว่า จะทำให้เกิดการซื้อซ้ำมีลูกค้าประจำได้ต้องสร้างแบรนดิ้งให้แข็งแรง สำหรับ “The Rolling Pinn” เธอต้องการ Empower ผู้หญิงทุกคนผ่านขนม เพราะช่วงแรกที่เริ่มปั้นแบรนด์ตนเป็นคนขี้อายมาก แต่พอทำขนมไปเรื่อยๆ ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนโดยมีขนมเป็นสื่อกลางทำให้มีความมั่นใจเพิ่มขึ้น จึงอยากให้แบรนด์ The Rolling Pinn ช่วยเติมเต็มสิ่งนั้นให้กับทุกคนด้วย

ความคิดเห็น

บทความที่มีคนอ่านมากที่สุด

เปิดที่มากว่าจะมาเป็น “รีเจนซี่” บรั่นดีไทย

‘HAAB’ ขายขนมไข่เดือนละ ‘3 ล้านชิ้น’ เปิดร้านมา 1 ปี เตรียมบุก ‘มาเลเซีย’ เป็นประเทศแรก

10 ปี S2O ยกเทศกาลดนตรีสู่ราชมังคลาฯ ปลุกสงกรานต์สุดว้าว!

ดั๊บเบิ้ล เอ เผยผลประกอบการปี 67 รายได้โตต่อเนื่อง กำไรเพิ่มขึ้น 22.6%

"สเวนเซ่นส์" ขอขายเครื่องดื่มครีมไข่ แตกแบรนด์ SIP โมเดลป็อปอัพสโตร์