การจับมือระหว่าง ‘กลุ่มธุรกิจคาราบาว’ และ ‘ธนาคารกสิกรไทย’ จะทำให้ร้าน ‘ถูกดี มีมาตรฐาน’ พัฒนาขึ้นเป็นศูนย์กลางของชุมชน


‘ธุรกิจค้ปลีกสมัยใหม่’ เติบโตจากการตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกสบาย เช่น สามารถซื้อสินค้าหลายประเภทในที่แห่งเดียว อีกทั้งราคาสินค้ามักต่ำกว่าร้านค้าปลีกดั้งเดิม (Traditional Trade) ตลอดจนการลงทุนขยายสาขาต่อเนื่องเพื่อขยายฐานลูกค้า

จุดนี้เองทำให้ ‘ร้านโชห่วย’ ที่มีอยู่ราว 4 แสนร้านค้า ต้อง ‘ล้ม หาย ตาย จาก’ ไป

วิกฤตที่เกิดขึ้นกับร้านโชห่วยทำให้ ‘เสถียร เศรษฐสิทธิ์’ ซึ่งมีธุรกิจหลักอยู่ใน ‘บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)’ ตัดสินใจเข้ามาช่วยฟื้นร้านโชห่วยให้ ‘อยู่รอด’ ด้วยการพัฒนาขึ้นเป็นร้าน ‘ถูกดี มีมาตรฐาน’

“ผมทำคาราบาวแดง 10 กว่าปีที่ผ่านมา เราพบว่าร้านโชห่วยเป็นพันธมิตรที่สำคัญและไม่ควรปล่อยให้ล้มหายไปจากการรุกคืบของ Modern Trade โดยเฉพาะต่างชาติ” เสถียรกล่าว “ผมจึงได้พัฒนาร้านถูกดี มีมาตรฐาน เพื่อปิดจุดอ่อนของร้านโชห่วยโดยการให้ความรู้ด้านการจัดการและเทคโนโลยีเข้ามา”

ความฝันของเสถียรที่ต้องการพลิกฟื้นร้านโชห่วยได้เดินทางมาถึงครึ่งทางแล้ว ด้วยตัวเลขร้านค้าที่เปิดราว 5,000 แห่งใน 62 จังหวัดทั่วประเทศไทย แต่ตัวเลขยังสามารถเติบโตได้มากกว่านี้ด้วยเป้าหมาย 10,000 ร้านค้าภายในสิ้นปีนี้ ก่อนจะเพิ่มเป็น 30,000 ร้านค้าภายในปี 2567

“ทุกสัปดาห์เรามีร้านโชห่วยสมัครเข้าร่วม 500 แห่ง หรือเดือนละ 2,000 แห่ง แต่ด้วยบุคลากรที่มีจำกัดโดยเฉพาะการเข้าไปดูร้านค้าจริง ทำให้ไม่สามารถอนุมัติให้กับทุกร้านที่สมัครเข้ามาได้”

นี่ถือเป็นหนึ่งในความท้าทายของร้าน ‘ถูกดี มีมาตรฐาน’ ซึ่งกลายเป็นที่มาของการจับมือกับ ‘ธนาคารกสิกรไทย’ ในการฝ่าความท้าทายดังกล่าว

ความร่วมมือของทั้งคู่ถือเป็น ‘บิ๊กดีล’ ของวงการค้าปลีกและสถาบันทางการเงินของไทย พัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย บอกว่า เป้าหมายของธนาคารกสิกรไทยมี 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ ความตั้งใจทำให้ลูกค้ารายย่อยได้ใช้บริการการเงินได้ง่ายและสะดวก เช่น ธุรกรรมทั่วไปที่ใช้ในชีวิตประจำวัน – ฝากถอนเงิน จ่ายบิล รวมถึงการได้สินเชื่อจากธนาคาร ไม่ต้องกู้นอกระบบ โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ ไม่มีสลิปเงินเดือน แต่มีความต้องการเงินเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวันหรือค้าขาย เรื่องที่สองคือ การขยายพื้นที่ให้บริการของธนาคาร ด้วยจุดบริการ ‘เคแบงก์ เซอร์วิส’ (KBank Service) ทำให้ลูกค้าที่อยู่พื้นที่ห่างไกล ไม่มีสาขาธนาคารตั้งอยู่ สามารถใช้บริการต่างๆ เช่น ฝาก/ถอนเงิน จ่ายบิล ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น     

เพื่อตอบโจทย์สำคัญนี้ ธนาคารกสิกรไทยจึงได้ร่วมลงทุนจากธนาคารกสิกรไทยกว่า 15,000 ล้านบาท จะถูกนำไปใช้ใน 3 ส่วนหลัก ได้แก่

  • 8,000 ล้านบาท ให้วงเงินกู้สำหรับบริษัทในกลุ่มธุรกิจคาราบาวและบริษัทร่วมทุน
  • 5,000 ล้านบาท ลงทุนผ่านตราสารการลงทุนที่ให้สิทธิการลงทุนในหุ้นของบริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด
  • 2,000 ล้านบาท เตรียมทยอยร่วมลงทุนในบริษัทร่วมทุนที่ชื่อ ‘เคบาว’ (kbao)

การเข้ามาของกสิกรไทยจะช่วย ‘ติดสปีด’ ให้กับร้านถูกดี มีมาตรฐาน ให้มีการเติบโต เข้าถึง ตลอดจนยกระดับจนกลายเป็น ‘ศูนย์กลางของชุมชน’ อย่างแท้จริง 

“การทำร้านค้าให้เป็นระบบในระยะแรกเป็นเรื่องที่ยากมาก เราใช้เงินลงทุนไปแล้วหลายพันล้านบาท ซึ่งการเข้ามาของกสิกรไทยจะทำให้เราสามารถเติบโตได้เร็วมากขึ้น” เสถียรกล่าว

หนึ่งในแผนการยกระดับร้านถูกดี มีมาตรฐาน คือการสร้าง ‘ศูนย์กระจายสินค้า’ ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้เงินจำนวนมาก แต่ในอีกมุมหนึ่งนี่ถือเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว

ที่ผ่านมาเสถียรได้เช่าคลังสินค้าประมาณ 8 แห่งทั่วประเทศ แต่ตอนนี้ได้สร้างเองเสร็จไปแล้ว 1 แห่ง พื้นที่ 5 พันตารางเมตร และกำลังวางแผนจะสร้างอีก 3 แห่งที่ขอนแก่น ลำพูน และบุรีรัมย์ คาดแล้วเสร็จในปีหน้า 

แต่ละแห่งใช้เงินกว่า 3,000 ล้านบาท โดยสาเหตุที่ใช้เงินเยอะ “เป็นเพราะเราใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาจัดการ ทำให้แต่ละคลังสินค้ารองรับร้านค้าได้ 5,000 แห่ง โดยเราตั้งเป้าหมายจะสร้าง 8 แห่งกระจายทั่วประเทศ”

เมื่อมีคลังสินค้าจะเข้ามาช่วยสนับสนุนธุรกิจใหม่อย่าง ‘การสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้า’ (พรีออร์เดอร์) ผ่านระบบสมาชิกของร้าน ซึ่งเสถียรมองว่า นี่จะเป็น ‘หัวรถจักรในการทำให้ธุรกิจเติบแบบก้าวกระโดด’

ทำไมเสถียรถึงได้มองเช่นกัน? ก็เพราะระบบสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้า (พรีออร์เดอร์) จะทำให้ร้านถูกดี มีมาตรฐาน ไม่ได้มีสินค้าแค่ 2,000 รายการที่เห็นอยู่ในร้าน แต่ทำให้ร้าน 1 แห่งสามารถขายสินค้าได้มากกว่า 20,000 รายการเลยเดียว ซึ่งในอนาคตสามารถต่อยอดไปได้อีก

“การใส่ระบบนี้เข้าไปจะทำให้ร้านมีแต้มต่อ จากต้นทุนบริหารจัดการที่ถูก รอบส่งสินค้าที่ชัดเจน ตลอดจนบริการอื่นๆ ทั้งหมดถูกสร้างขึ้นเพื่อยกระดับร้านโชห่วยของไทย ที่สามารถทำให้พวกเขาลืมตาอ้าปาก และส่งต่อเป็นธุรกิจให้กับลูกหลานได้ด้วย”

แน่นอนกสิกรไทยคือสถาบันทางการเงิน ซึ่งส่งที่เชี่ยวชาญที่สุดย่อมหนีไม่พ้นเรื่องดังกล่าว โดย พัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า นอกจากส่งเสริมศักยภาพของร้านถูกดี มีมาตรฐาน การเป็นแหล่งเงินทุน ยังเป็นจุดให้บริการธุรกรรมการเงินที่ใช้ในชีวิตประจำวันกับคนในชุมชน เช่น บริการถอนเงิน จ่ายบิล รวมทั้งเพิ่มบริการดิจิทัลต่างๆ เช่น สแกนจ่ายด้วย QR Code ได้อีกด้วย

เหล่านี้จะทำให้คนในชุมชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น ข้อมูลจาก LINE BK ระบุว่า สถิติการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชากรไทย พบว่ามีเพียง 18% ที่ยังไม่มีบัญชีธนาคาร

แต่บริการทางการเงิน ไม่ใช่แค่การเปิดบัญชีธนาคารเท่านั้น ยังมีบริการอื่นอีกมากมาย เช่น สินเชื่อ การลงทุน และประกัน ซึ่งผู้บริโภคที่ยังเข้าไม่ถึงบริการดังกล่าวมีอีกกว่า 45%

เบื้องต้นการจับมือจะทำกสิกรไทยให้มีจุดบริการเคแบงก์ เซอร์วิส (KBank Service) เพิ่มขึ้นอีก 30,000 จุด จากเดิมมีจำนวนกว่า 27,000 จุด เพิ่มช่องทางการให้บริการได้ลึกถึงแหล่งชุมชนและครอบคลุมทั่วประเทศ โดยปัจจุบัน ธนาคารมีช่องทางให้บริการผ่านสาขาจำนวน 830 สาขา ตู้ ATM และตู้ฝากถอนเงินอัตโนมัติ รวม 11,000 ตู้ และ K PLUS ที่มีลูกค้าใช้งานกว่า 18 ล้านราย 

“นี่จะเป็นบริการทางการเงินที่ไม่จำเป็นต้องไปที่สาขา ซึ่งจะสร้างความสะดวกให้กับคนในชุมชม แถมยังสร้างจุดแข็งของร้านถูกดี มีมาตรฐานอีกด้วย” พัชรกล่าว 

ก้าวต่อไปคือการให้ ‘บริการสินเชื่อ’ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนในชุมชนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างแท้จริง โดยหนึ่งในสินเชื่อดังกล่าวจะอนุมัติให้กับคนที่เป็นลูกค้าของร้านอยู่แล้ว

ขยายบริการสินเชื่อให้เข้าถึงชุมชน

ในมุมของร้านถูกดี มีมาตรฐาน สิ่งที่ได้จากดีลนี้คือเงินทุนที่ทำให้ธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด แต่อีกคำถามที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ ‘ธนาคารกสิกรไทย’ ได้อะไรจากการลงทุนครั้งนี้

ขยายให้เห็นภาพมากขึ้น ที่ผ่านมาทุกร้านมักจะมีลูกค้ามา ‘เซ็นไว้ก่อน’ นั่นคือเอาสินค้าไปก่อนและนำมาจ่ายทีหลัง แต่ต่อไปลูกค้ากลุ่มนี้จะสามารถเข้าถึงสินเชื่อโดยที่มีเจ้าของร้านเป็นหนึ่งในผู้ตัดสินใจว่าจะอนุมัติหรือไม่

นั่นเพราะเจ้าของร้านจะเป็นผู้ที่รู้จักลูกค้าของตัวเองได้ดีที่สุด ดังนั้นสิ่งนี้จะเป็นการช่วยลดความเสี่ยงด้านหนี้เสีย เพราะร้านจะมีส่วนร่วมผ่านการที่รับผิดชอบนี้ดังกล่าวด้วย ซึ่งหากมีการชำระเจ้าของร้านก็จะได้เป็นส่วนแบ่งกลับไป

“ข้อมูลสามารถบอกได้ว่าจะเป็นหนี้เสียหรือไม่ ซึ่งประกอบไปด้วย 2 ปัจจัยหลัก คือ 1. เงินที่ได้ไม่ได้ถูกนำไปใช้เพื่อความหรูหรา แต่เป็นการนำไปใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค และ 2. เราต้องรู้ว่าผู้กู้อยู่ที่ไหน ซึ่งจุดนี้ร้านค้าจะช่วยได้มาก เพราะคนต่างจังหวัดส่วนใหญ่รู้จักกันอยู่แล้ว ดังนั้นจะเป็นการช่วยลดความเสี่ยงหนี้เสียไปในตัว”

ทั้งหมดคือการเข้ามาขับเคลื่อน ‘ร้านโชห่วย’ ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครึ่ง ซึ่งเราเชื่อว่าการพัฒนาดังกล่าวจะช่วยเพิ่มความสะดวกให้คนในชุมชน ทำให้การใช้ชีวิตของผู้บริโภคทั่วประเทศง่ายขึ้น

สมกับเป้าหมายที่ต้องการให้ร้านถูกดี มีมาตรฐาน เป็น ‘ศูนย์กลางของชุมชน’ อย่างแท้จริง 

ความคิดเห็น

บทความที่มีคนอ่านมากที่สุด

แก้เกมถูกบล็อค Porn Hub ทวงคืนเว็บดัง

สำนักงานสลากฯ เพิ่มช่องทางจำหน่ายสลาก ผ่านเว็บไซต์ www.glolotteryshop.comp

พ่อมดการเงิน ภัยร้ายในวงการธุรกิจไทย

เปิดโฉมทางการ ‘เดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ บางกะปิ’ พร้อม 10 ไฮไลต์เด็ด ปลุกย่านบางกะปิคึก

ทำไมกาแฟสมัยนี้ ขายแก้วละ 100 บาท?