ยุทธศาสตร์ ‘มาม่า’ ทศวรรษที่ 6 ลุยลงทุนใหญ่ ไทย-ต่างแดน เร่งทัพสู่ตลาดโลก
มิติการตลาด บริษัทจะให้มุ่งเน้นการพัฒนาบะหมี่ฯในกลุ่มพรีเมียมมากขึ้น เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ การปรับดีไซน์และขนาดของบรรจุภัณฑ์(แพ็คเกจจิง)ให้มีความเหมาะสมมากขึ้น ที่สำคัญการเดินหน้ารักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อสอดรับกับเทรนด์ของผู้บริโภคยุคใหม่ทั้งในประเทศและตลาดต่างประเทศ
ด้านแผนลงทุน บริษัทยังเดินหน้าในการขยายธุรกิจ เล็งลงทุนเพิ่มในตลาดต่างประเทศเพื่อ “ก้าวสู่ตลาดโลก” โดยก่อนหน้านี้การลงทุนในประเทศบริษัทกำลังหาที่ดินเพื่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ ผลิตบะหมี่ฯ รองรับการเติบโตในอนาคต ซึ่งการลงทุนดังกล่าวจะเป็นการทุ่มงบก้อนโตในรอบหลายปี ส่วนต่างประเทศมีการหาโอกาสตลาดในประเทศกัมพูชา เล็งขยายการผลิตที่ประเทศฮังการีเพิ่มเติม และการลุยตลาดในอาฟริกา เป็นต้น
ปิดปี 2566 ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเติบโตถึง 11.7% จากปีก่อนหน้า ทำให้มูลค่ารวมอยู่ที่ 21,045 ล้านบาท (ที่มา : นีลเส็น พ.ย.66) โดยเชิงมูลค่าที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการ “ปรับราคาขายปลีก” ช่วงไตรมาส 3 ปี 2565 ทำให้มีผลต่อเนื่องถึงปี 2566 ทั้งนี้ “มาม่า” ยังครองความเป็นเบอร์ 1 ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาด 49.6%
มาดูผลประกอบการของเบอร์ 1 บะหมี่ฯ ภายใต้บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด(มหาชน)หรือ TFMAMA มีรายได้จากการขายรวม 27,663.98 ล้านบาท เติบโต 4.46% จากปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่า 1,182.25 ล้านบาท เหตุผลเพราะการขายในประเทศได้รับไฟเขียวให้ขยับราคาสินค้าได้ในไตรมาส 3 ปี 2565 เนื่องจาก “บะหมี่ฯ” เป็นหนึ่งในสินค้าควบคุมราคาโดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ แม้ต้นทุนวัตถุดิบขยับ จะปรับราคาขายเองไม่ได้ หากรัฐไม่อนุมัติ
เมื่อดูตลาดในประเทศของ “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและอาหารกึ่งสำเร็จรูป” บริษัทสร้างยอดขายเติบโต 11.28% โดยบะหมี่ฯเติบโต 10.53% ผลิตภัณฑ์เส้นขาว โจ๊ก และข้าวต้ม มีการเติบโต 19.39% จากการปรับราคาขายปลีกสินค้า และการออกสินค้าใหม่ในกลุ่มพรีเมียม
ด้าน “การขายต่างประเทศยังชะลอตัว” ตามทิศทางประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยปิดปี 2566 ยอดขายเติบโต 2.15% แบ่งเป็นกลุ่มบะหมี่ฯ เติบโต 6.34% จากการขยายตัวของตลาดโดยรวม ส่วนสินค้ากลุ่มเส้นขาว โจ๊ก และข้าวต้ม ยอดขายลดลง 15.66% เนื่องจากมีคู่แข่งมากขึ้น ทำให้ความต้องการสินค้าลดลง อย่างไรก็ตาม บริษัทยังเผชิญต้นทุนสูงขึ้นในส่วนของ “แป้งสาลี” ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตบะหมี่ฯ รวมถึงสินค้าอื่นๆภายใต้พอร์ตโฟลิโอของบริษัท เช่น ขนมปังกรอบ เบเกอรี่ ส่วน “น้ำมันปาล์ม” ที่เป็นอีกวัตถุดิบสำคัญของบะหมี่ฯ ราคาอ่อนตัวลงตามกลไกตลาด
บะหมี่ฯ สร้างยอดขายเติบโตเล็กน้อย ทว่า กลุ่มเบเกอรี ยอดขายแทบไม่เติบโต เพราะขยายตัวเพียง 0.15% เท่านั้น เพราะ “คู่แข่ง” เพิ่มมากขึ้น ทำให้การโตน้อย ยิ่งกว่านั้นกลุ่มขนมปังกรอบ “ยอดขายลดลงถึง 14.99%” ผลพวงจากการ “ปรับราคาขึ้น” ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566
อย่างไรก็ตาม บริษัทพยายามปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับช่องทางจำหน่าย เพื่อกระตุ้นยอดขายช่วงครึ่งปีหลัง แต่ไม่สามารถกอบกู้และรักษาระดัยยอดขายได้ ขณะที่ “น้ำผลไม้” ยอดขายลดลง 6.1% โดยยอดขายในประเทศเพิ่มแต่ยอดขายต่างประเทศลดลง
สำหรับการทำกำไรสุทธิปี 2566 อยู่ที่ 3,777.54 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.59% คิดเป็นมูลค่า 991.62 ล้านบาท โดยความสามารถในการกำไรอยู่ที่ 13.18% ของรายได้รวม
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็นต่อบทความนี้