ทางรอด ‘ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถ’ ไทย ทิ้งยานยนต์สู่อุตสาหกรรมใหม่ เล็งผลิตชิ้นส่วนหุ่นยนต์-การแพทย์


อุตสาหกรรมยานยนต์ทรุดหนัก ยอดผลิตรถ 5 เดือนแรกติดลบ 16.88% ส.อ.ท.รับปัญหาเศรษฐกิจ-หนี้ครัวเรือน ปัจจัยหลัก ชงรัฐบาลหนุน 5 อุตสาหกรรม ทางรอดกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ลุยผลิตชิ้นส่วนเครื่องมือแพทย์ หุ่นยนต์ อากาศยาน ระบบราง หันไปผลิตอะไหล่รถ ส่งออกป้อนอาฟเตอร์มาเก็ต
.
อุตสาหกรรมยานยนต์อยู่ในช่วงถดถอย โดยจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค.-พ.ค.) อยู่ที่ 644,951 คัน  เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วลดลง 16.88% มีสาเหตุจากยอดขายในประเทศที่ลดลงจากเศรษฐกิจในประเทศที่เติบโตในอัตราต่ำ และปัญหาสินเชื่อรถถูกตีกลับ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยอดขายลดลงเพราะการซื้อรถ 80% ของคนไทยเป็นการซื้อเงินผ่อน
.
การผลิตรถยนต์ที่ลดลงส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนในระดับเทียร์ 2 ลงมา ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ผลิตชิ้นส่วนกังวลต่อการเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่อาจกระทบผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เพราะจำนวนชิ้นส่วนรถ EV มีน้อยกว่ารถเครื่องยนต์สันดาปภายใน และผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในไทยส่วนใหญ่ผลิตเพื่อป้อนให้กับค่ายรถญี่ปุ่น
.
ดังนั้นสถานการณ์ปัจจุบันจึงมีปัจจัยเสี่ยงต่ออุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์เพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์ได้เสนอให้ภาครัฐเตรียมการรับมือช่วงเปลี่ยนผ่าน รวมถึงหลายหน่วยงานมีแผนดังกล่าว เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม แต่การดำเนินตามแผนยังไม่สามารถทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ส่วนใหญ่พร้อมเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี
.
นายสุพจน์ สุขพิศาล เลขาธิการ Cluster of FTI Future Mobility-ONE และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทยถือเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องได้รับการสนับสนุนในช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีในเชิงต้นทุน ทักษะและเทคโนโลยี เพื่อรักษาธุรกิจ การจ้างงาน 
.
พร้อมทั้งการยกระดับการผลิตและการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต หรือในบางธุรกิจที่ไม่สามารถไปต่อกับอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ ยังสามารถพัฒนาได้
.
ทั้งนี้ ภาครัฐควรจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่าน โดยผลักดันให้มีการกำหนดสัดส่วนการใช้ผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ หรือออกนโยบายสนับสนุนการซื้อหรือผลิตเพื่อให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนสามารถเข้าสู่ Supply chain ของอุตสาหกรรมอื่นในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐหรือเอกชนมากขึ้น
.
อย่างไรก็ตาม กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทยดำเนินธุรกิจมา 50 ปี โดยรับเทคโนโลยีจากญี่ปุ่น สิ่งที่เก่งคือทักษะทางด้านงานเครื่องกล เช่น การขึ้นรูป การเชื่อม กลึง เป็นต้น จึงมอมองว่าเมื่อเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมใหม่ จะมีอุตสาหกรรมไหนบ้างที่อาศัยทักษะที่มีและสามารถทำชิ้นงานได้ตามอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) ใน 10 เอสมีอะไรบ้าง จึงแบ่งออกเป็น

:: ดัน 5 อุตสาหกรรมอุ้มผู้ผลิตชิ้นส่วน ::
1. ผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใกล้เคียงกับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ โดยปัจจุบันมีผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เริ่มประกอบธุรกิจที่มีความหลากหลาย เช่น การเข้าสู่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์มากขึ้น โดยผลิตสินค้าที่มีความเสี่ยงทางการแพทย์ไม่สูงมากนัก 

ทั้งนี้ ภาครัฐควรจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่าน โดยผลักดันให้มีการกำหนดสัดส่วนการใช้ผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ หรือออกนโยบายสนับสนุนการซื้อหรือผลิตเพื่อให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนสามารถเข้าสู่ supply chain ของอุตสาหกรรมอื่นในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐหรือเอกชนมากขึ้น

2.กลุ่มที่เป็นหุ่นยนต์ ซึ่งหุ่นยนต์โมเดลจะคล้ายกับรถยนต์ที่ต้องมีเจ้าของแล้วมาตั้งโรงงานในประเทศไทยเพื่อให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนไปเป็นซัพพลายเชน แต่ปัญหาของหุ่นยนต์ไทยนั้นจะกลับไปในเรื่องเดิมที่ว่า ทำได้แต่ขายไม่ได้ เพราะคนไทยไม่ค่อยเชื่อถือ และไปเชื่อต่างชาติมากกว่า

3.ชิ้นส่วนอากาศยาน ในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ได้รับการตอบรับที่ดี รัฐบาลลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยยกสนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินที่ 3 พร้อมมีนิคมอุตสาหกรรมอากาศยานเพื่อรับเครื่องบินจากที่ต่าง ๆ มาจอดซ่อม 

ทั้งนี้ เนื่องจากสิงคโปร์มีเครื่องบินที่ลงจอดเยอะและขนาดใหญ่ เช่น แอร์บัส A380 ประเทศไทยได้ชวนมาเพราะเรามีพื้นที่ ขณะนั้นมีบริษัทที่ทำในเรื่องของชิ้นส่วนอากาศยานมาตั้งในประเทศไทยกว่า 20 บริษัท

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีหลายบริษัทมาตั้งในไทย แต่ปัญหาคือไม่ใช้ชิ้นส่วนในไทย อีกทั้งธุรกิจที่เป็นชิ้นส่วนอากาศยานจะเป็นระบบปิดโดยจะต้องไปอนุมัติโดยโบอิ้ง หรือ แอร์บัส ฯลฯ เป็นต้น ถือเป็นมาตรฐานที่สูง และเมื่อเกิดโควิดก็หยุดสนับไป ซึ่ง ส.อ.ท.จะพยายามหารือเพื่อให้เกิดโครงการสนับสนุนขึ้นมาใหม่ เพื่อจะเข้าไปเป็นซัพพลายเชนต่อไป

4.ชิ้นส่วนระบบราง นโยบายรัฐบาลมีรถไฟความเร็วสูง รถไฟความเร็วคู่ทั่วประเทศ ฯลฯ จึงมองว่าในส่วนของห้องโดยสารโบกี้รถไฟก็สามารถออกแบบให้สวยหรูเหมือนรถบริการเอกชนได้ ทั้งเบาะนั่ง ราวจับ ที่วางกระเป๋า ไฟ หรือแอร์ ดังนั้น หากรัฐบาลลงมาดูรายละเอียดและช่วยกันทำมาตรฐาน ผู้ประกอบการไทยได้เข้าไปทดสอบให้ได้ตามมาตรฐานผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศก็ต้องทำได้อยู่แล้ว

หันไปผลิตอะไหล่ป้อนอาฟเตอร์มาร์เก็ต
5.อาฟเตอร์มาร์เก็ต ที่เรียกว่า สแปร์พาร์ท เช่น โช๊คอัพ ผ้าเบรก ใบปัดน้ำฝน ไส้กรองต่างๆ ที่เป็นชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งชิ้นส่วนมี 2 ตลาด ทั้ง OEM และ REM โดย REM คือ ตลาดทั่วโลกที่มีรถยนต์อยู่ราว 2,000 ล้านคัน 

ทั้งนี้ การที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในไทยจะเปลี่ยนเป็นยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ทันทีคงเป็นไปไม่ได้ รัฐบาลยังไม่สนับสนุน ต่างจากไต้หวันที่ขายไปทั่วโลกเพราะรัฐบาลสนับสนุน

“เราเสนอเรื่องนี้ให้ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม มาตั้งแต่ 4 ปีที่แล้ว ซึ่งก็พยายามนำเสนออีกครั้ง เพื่อหาอุตสาหกรรมรองรับ เพราะอย่าลืมนะว่าเดือน มิ.ย.ของทุกปีจะเป็นเดือนที่ยอดผลิตรถยนต์จะพีค แต่ก็ลดลงต่อเนื่อง อย่างนี้เดือนอื่นจะเป็นอย่างไร ถือว่าน่าเป็นห่วง รวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนด้วย”  นายสุพจน์ กล่าว

#กรุงเทพธุรกิจ #กรุงเทพธุรกิจEconomic

ความคิดเห็น

บทความที่มีคนอ่านมากที่สุด

ฮาลั่น....ไม่รู้จักได๋ ไดอาน่า

ศูนย์การค้าต่างพร้อมใจตกแต่งสถานที่ เพื่อร่วมต้อนรับเดือนแห่งความหลากหลายและความเท่าเทียม ในเทศกาล Pride Month

KFC Thailand ครบรอบ 40 ปี เปิดตัว “แบมแบม กันต์พิมุกต์” Friend of KFC คนแรกของประเทศไทย พร้อมเมนูเดอะบอกซ์สุดพิเศษ “BamBam Box”

ร้านอาหารไทย 'หลังบ้าน' ผงาด! คว้ารางวัล 'ร้านที่ดีที่สุดในสหรัฐ'

เปิด 5 อันดับแบรนด์รถที่มี ‘เครื่องยนต์’ น่าเชื่อถือมากที่สุดในปี 2567