ค้าส่ง คาดเงิน 1 หมื่นบาท กระตุ้นค้าปลีกช่วงสั้น-ห่วงซื้อสินค้าไม่จำเป็น

ค้าส่ง-ค้าปลีกทั่วประเทศ คาดการแจกเงิน 1 หมื่นบาทให้แก่กลุ่มเปราะบางทั่วประเทศ ทำให้มีลูกค้าเข้ามาใช้จ่ายประมาณ 10-15% ช่วยกระตุ้นค้าปลีกไทยได้ในระยะสั้น – ห่วงนำไปซื้อสินค้าไม่จำเป็น

เม็ดเงินกำลังหมุนไปสู่คนไทยทั่วประเทศอย่างเป็นทางการ ภายหลังรัฐบาลกดปุ่มจ่ายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้แก่ กลุ่มเปราะบาง ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการรวม 14.55 ล้านคน เป็นทางการวันแรก 25 ก.ย.นี้ และจะทยอยจ่ายเงินให้ครบทุกกลุ่มจนถึงวันที่ 30 ก.ย.นี้ 

นายสมชาย พรรัตนเจริญ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย กล่าวว่า จากการประเมินบรรยากาศวันแรกของการใช้จ่ายของร้านค้าทั่วประเทศไทยยังเห็นสัญญาณที่คึกคักอย่างชัดเจน ประเมินจากร้านค้าโชห่วยในพื้นที่ ยังไม่ได้เข้ามาซื้อสินค้าที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ประเมินว่า กลุ่มเปราะบาง ในบางพื้นที่อาจมีความจำเป็นในการนำเงินไปใช้จ่ายส่วนตัวที่จำเป็น ทั้งการนำไปแก้ไขปัญหาหนี้ หรือ นำไปใช้เลือกซื้อสินค้าที่จำเป็นในครัวเรือนเป็นลำดับแรก แต่มีความกังวลว่า บางส่วนอาจจะนำไปใช้จ่ายสินค้าที่ไม่จำเป็นได้ โดยประเมินว่าค้าปลีกในไตรมาสที่สี่ของปีนี้ อาจจะยังอยู่ในภาวะทรงๆ ตัว เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้

“วันแรกที่เปิดการจ่ายเงินดิจิทัล ยังไม่เห็นบรรยากาศที่คึกคัก เพราะเพิ่งเริ่มต้นในการจ่ายเงินตามกลุ่มที่ภาครัฐกำหนดไว้ จึงต้องติดตามว่า หลังจากนี้ไป บรรยากาศการใช้จ่ายจะเป็นอย่างไร” 

นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ผู้บริหารตั้งงี่สุน จังหวัดอุดรธานี ประเมินถึงการแจกเงินดิจิทัล วงเงิน 1.40 แสนล้านบาท ให้แก่ประชาชนกลุ่มเปราะบาง วงเงิน 1 หมื่นบาท คาดว่าจะมีการนำไปใช้จ่ายในร้านค้าส่ง-ค้าปลีกทั่วประเทศ ในสัดส่วน 10-15% หรือประมาณ 1,000-1,500 บาท ในการเลือกซื้อสินค้าที่จำเป็น กลุ่มอุปโภคบริโภค 

ทั้งนี้ประเมินว่า กลุ่มเปราะบาง อาจมีความจำเป็นในการนำไปแก้หนี้มากกว่า หรือเลือกซื้อสินค้าที่จำเป็น จึงทำให้ค้าปลีกในต่างจังหวัดกลับมาคึกคักได้ในช่วงสั้นๆ อีกทั้งร้านค้าในพื้นที่ ยังไม่ได้มีการกักตุนสินค้ามากขึ้น เนื่องจากนโยบายนี้เปิดกว้างในการเลือกซื้อสินค้า

“เงินรอบแรก 1 หมื่นบาท อาจจะมีผลกระตุ้นภาคค้าปลีกได้ในระยะสั้น เนื่องจากเป็นการจ่ายเงินที่สามารถนำไปกดเงินสดได้เลย โดยไม่ได้ควบคุมว่านำไปใช้จ่ายสินค้าใดบ้าง ทำให้ประชาชนบางส่วน นำไปเลือกซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็น เช่น นำไปซื้อเครื่องดื่มแอลกฮออล์ หรือไปซื้อหวยได้”

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมปัญหาใหญ่ของประเทศโดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้น้อย ยังเผชิญปัญหาเรื่องหนี้ที่อยู่ในระดับสูง จึงอยากให้ภาครัฐเร่งเข้าแก้ไขเรื่องโครงสร้าง และในระยะยาวอยากให้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ร่วมทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมั่นคงในระยะยาว ส่วนในอีกด้านนโยบายด้านดอกเบี้ยในประเทศไทย ที่อยากให้ปรับลดลง เพื่อทำให้ประชาชนมีภาระค่าใช้จ่ายหนี้ลดลง

ความคิดเห็น

บทความที่มีคนอ่านมากที่สุด

สงครามร้านชานมไข่มุกพลิกสู่บลูโอเชี่ยน! ‘แบร์เฮาส์’ ผุด 109 สาขา ปี 71

‘HAAB’ ขายขนมไข่เดือนละ ‘3 ล้านชิ้น’ เปิดร้านมา 1 ปี เตรียมบุก ‘มาเลเซีย’ เป็นประเทศแรก

ลอรีอัล ปารีส พา “ณิชา” บินลัดฟ้าสร้างปรากฎการณ์ Walk Your Worth โชว์บนรันเวย์สุดอลังการ ใจกลางหอไอเฟล ณ กรุงปารีส

เมื่อคนใส่กางเกงยีนส์ กลายเป็นคนมี Creative Looking

มิติใหม่แห่งการเสพสื่อ เรื่องแบบนี้คุณต้องรู้