ลี อายุ จือปา : บุคคลต้นแบบธุรกิจเพื่อสังคม…กาแฟดอยสู่สากล

เมื่อ 30 กว่าปีมาแล้ว เด็กชายลี อายุ จือปา อาศัยอยู่ในชุมชนแม่จันใต้ จังหวัดเชียงราย ซึ่งขณะนั้นยังเป็นหมู่บ้านที่ทุรกันดารที่สุดแห่งหนึ่ง ลีพูดภาษาไทยเกือบไม่ได้ ทุกวันลีต้องเดิน 4 กิโลเมตรเพื่อไปโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในอีกหมู่บ้านหนึ่ง แล้วเดินเท้ากลับอีก 4 กิโลเมตรในวันเดียวกัน

ด้วยความมุ่งมั่นและไม่ยอมแพ้ต่อความยากลำบากในวัยเด็ก ทำให้วันนี้เด็กชายลีได้เติบโตขึ้นและกลายเป็นเจ้าของกิจการร้านกาแฟ อาข่า อ่ามา 3 แห่งกับ 1 โรงคั่วในเชียงใหม่และเริ่มไปวางรากฐานที่ญี่ปุ่น เพื่อขยายฐานกระจายผลผลิตของเกษตรกาแฟไทย 

กาแฟของลีได้ก้าวขึ้นสู่เวทีระดับโลกถึง 3 ปีติดต่อกัน ทั้งที่ลอนดอน มาสตริกท์ และเวียนนา วันนี้ลีได้กลายเป็นตำนานแห่งวงการกาแฟไทยและกาแฟโลกไปแล้ว

การที่ลีเติบโตมาในหมู่บ้านที่ยากจน ครอบครัวขายเมล็ดกาแฟที่คนปลูกไม่เคยได้กิน เพราะเมล็ดที่ขายยังไม่ได้แปรรูป คนขายไม่มีอำนาจต่อรองเพราะไม่มีความรู้ว่าสินค้าของตนเองมีคุณภาพแค่ไหน พ่อของลีเป็นผู้นำและผู้ให้บริการชุมชนในฐานะแพทย์แผนอาข่า และแม่ที่มีวิสัยทัศน์ว่าลูกจะต้องมีชีวิตที่ดีกว่าในโลกกว้าง

ทั้งหมดหล่อหลอมให้ลีเป็นเด็กหนุ่มที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาตนเอง เด็ดเดี่ยวและมีวินัย ประสบการณ์ในการทำงานกับองค์กรเอกชนอิสระของต่างประเทศเปิดโอกาสให้ลีได้รับรู้ถึงแนวคิดกิจการเพื่อสังคม

ทั้งหมดนี้เป็นแรงจูงใจที่ทำให้ลีพยายามหาวิธีการเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนของคนรอบข้างและมีจิตใจที่แน่วแน่ว่าสักวันจะกลับมาทำให้ชุมชนของตนมีฐานะทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้ได้

ทุกวันนี้กิจการของลีเป็นกิจการที่เรียกว่า ธุรกิจเพื่อสังคมหรือภาษากฎหมายเรียกว่า “วิสาหกิจเพื่อสังคม” ถึงแม้ว่ากาแฟของลีจะเป็นกาแฟที่มีเรื่องเล่า (story) แต่ลีก็ยังเห็นว่าปัจจัยแห่งความสำเร็จของธุรกิจของเขานั้นคือสินค้าดี มีคุณภาพ สินค้าต้องตอบโจทย์ของลูกค้า

ลีอธิบายว่า กิจการอาข่าอ่ามาเป็นกิจการเพื่อสังคมใน 3 ลักษณะด้วยกันคือ

1.เกษตรกรในชุมชนของเขาสามารถที่จะขายผลผลิตในราคาที่ดีกว่าตลาดและสามารถเอาเมล็ดกาแฟมาร่วมทุนเพื่อแปรรูป และได้ margin เพิ่มขึ้นจากการแปรรูป

2.กิจการของลีให้ความสำคัญกับการเพิ่มทักษะแก่บุคลากร ซึ่งในปัจจุบันร้อยละ 40 ของแรงงานในกิจการมาจากชุมชนของลี

3.ให้ความรู้แก่เกษตรกร ลีตั้งใจจะผลักดันให้ โรงงานคั่วเมล็ดกาแฟที่แม่ริมกลายเป็นศูนย์เรียนรู้ของคนทั่วไป ให้ความรู้ว่ากาแฟต้องผ่านกระบวนการผลิตอย่างไร

ลีมองว่ากิจการของเขาเป็นกิจการที่หาทางออกให้กับสังคมพร้อม ๆ กันทีเดียว ใน 3 ประเด็นคือ หนึ่ง ยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจ สอง สร้างอาชีพและทักษะแก่ชุมชน และ สาม แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะกาแฟอยู่ร่วมกับป่าได้ ธุรกิจเพื่อสังคมที่สำเร็จอย่างแท้จริงคือธุรกิจที่มีกำไรจากตัวสินค้าเอง และช่วยให้เป้าหมายทางสังคมบรรลุผล

การทำงานกับองค์กรต่างประเทศทำให้เห็นมุมมองที่ต่างออกไป ลีสามารถเปลี่ยนประสบการณ์ที่ได้พบให้เป็นโอกาส ทำให้กระบวนการทางความคิดเป็นระบบ คิดรอบด้าน และสามารถคิดตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ แล้วนำมาออกแบบเป็นโมเดลธุรกิจ

ประเมินความยั่งยืนทางการเงินโดยอาศัยข้อแนะนำจากชาวสวิส ซึ่งเป็นนายธนาคารที่เกษียณอายุแล้ว ซึ่งท่านผู้นี้ก็คือเจ้าของมูลนิธิที่ลีได้มีโอกาสทำงานด้วย ในที่สุดลีก็ได้รับเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากทุนกิจการเพื่อสังคมจากครอบครัวสวิสอีกครอบครัวหนึ่งมาจำนวน 650,000 บาทเป็นทุนประเดิม

แต่ลีก็ไม่ได้คิดพึ่งเงินให้เปล่าอย่างเดียว ถึงแม้ว่าเจ้าของทุนจะเสนอความช่วยเหลือให้อีกก็ตาม เพราะธุรกิจต้องเป็นธุรกิจและจะต้องยืนหยัดด้วยตัวเองให้ได้

ต่อมาเพราะลีจะต้องติดต่อหาเครือข่ายเกษตรกร ซึ่งจะมาเป็นผู้ส่งผลผลิตต้องมีความน่าเชื่อถือในด้านคุณภาพและในการค้าขายกับลูกค้า ซึ่งทั้งซัพพลายเออร์และลูกค้าต่างต้องมีความเชื่อมั่นในตัวผู้ประกอบการ

ลีจะพูดคุยกับลูกค้าที่มาดื่มกาแฟ บอกเล่าความฝันและเรื่องราวของกาแฟ ทำให้ผู้ที่เข้ามาดื่มกาแฟสามารถซึมซับเรื่องราวจนอยากจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างอนาคตให้กับกาแฟดอย

Andy Ricker หนึ่งในลูกค้าที่มาดื่มกาแฟเป็นเชฟชื่อดังจากสหรัฐฯ เป็นผู้สนับสนุนที่สำคัญคนหนึ่งที่ทำให้ลีมีโอกาสไปฝึกงานที่ร้าน Stumptown ณ เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นร้านของเพื่อนของ Ricker

ความที่ลีเป็นคนที่มุ่งมั่นและเสียสละ ทำให้ลีมีทุนสังคม (social capital) สูง กล่าวคือ มีทุนสังคมประเภททุนภายใน (bonding capital) ได้รับความเชื่อถือจากคนรอบข้าง ได้แก่ เครือญาติ สร้างแรงบันดาลใจให้ทีมงานคนรุ่นใหม่ในชุมชน และชนเผ่าอื่น ๆ

ลีได้รับความร่วมมือจากเพื่อนฝูง องค์กร เอกชนอิสระ พันธมิตรทางธุรกิจหรือแม้แต่ลูกค้าที่มาดื่มกาแฟ ซึ่งถือว่าเป็นทุนสังคมประเภท bridging capital กลายเป็นหุ้นส่วนหรือผู้สนับสนุนอย่างแข็งขัน หรือแม้แต่ร้านกาแฟชื่อดังในพอร์ตแลนด์ที่ลีไปฝึกงานด้วย

ลีสามารถสร้างทุนทางสังคมประเภท (linking capital) ทำให้ลีได้มีโอกาสไปฝึกงานในร้านอื่น ๆ ที่ซานฟรานซิสโกและลอสแอนเจลิส ลีจึงได้มีโอกาสเรียนรู้การทำร้านกาแฟระดับพรีเมี่ยมสำหรับลูกค้าที่พรีเมี่ยมในเมืองที่พรีเมี่ยม

กรณีศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าธุรกิจเพื่อสังคม สำหรับผู้ประกอบการที่มีโมเดลธุรกิจที่ดี แสวงหาโอกาสอยู่เสมอ และมีความมุ่งมั่นก็จะประสบความสำเร็จได้

ข้อมูลจากโครงการการออกแบบระบบบริหารแผนงานการผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE). 2567. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

ความคิดเห็น

บทความที่มีคนอ่านมากที่สุด

อย่ากลัว Distruption เพราะมันมากาคุณแน่ๆ

“พจน์ อานนท์” หนัง Content “ต่ำ” แต่คำโปรโมท “สูง”

กางเกงยีนส์ ‘แม็ค’ ปรับธุรกิจอย่างไร ให้มากกว่าเดนิม สร้างการโตนิวไฮรอบ 7 ปี

Heineken 0.0 เบยร์ไม่มีแอลกอฮอลล์ แกกกฏโฆษณา และฉีกภาพเบียร์ในตำนาน

ต่อไปนี้ ระบบการทำธุรกิจ จะโดน Distrub