ยักษ์น้ำเมา ไทย-แบรนด์โลก-จีน ลุยตลาด‘เหล้า-เบียร์’ ชิงนักดื่มเต็มสูบ
.
ไม่ผิดนักหากจะบอกว่าปี 2567 สงครามน้ำเมาเดือดปุด! เพราะบิ๊กคอร์ปค่ายเครื่องดื่ม ตบเท้าออกสินค้าใหม่ลงตู้แช่กันอย่างคึกคัก เพื่อชิงนักดื่มคอทอแดง สวนทางนิยามประเทศ “เมืองไทย เมืองพุทธ”
โลกธุรกิจ การแข่งขันเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ หาก “คู่แข่ง” ขยับตัว แบรนด์สินค้าก็ต้องเคลื่อนไหวตาม ที่สำคัญ เมื่อพฤติกรรม ตลอดจนความต้องการ(Need) ของกลุ่มเป้าหมายเปลี่ยน ค่ายผู้ผลิตต้องวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อตอบโจทย์เหล่านั้นให้ได้.
ตลาดเหล้า หากประเมินกลมๆจากตัวเลขผลประกอบการ รวมทั้งข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆที่ประกาศเป็นสาธารณะ คาดการณ์มีมากกว่า 3 แสนล้านบาท โดยแบ่งหมวดหมู่ใหญ่อย่าง “เบียร์” 2 แสนล้านบาท(อ้างอิง : ไทยเบฟเวอเรจ) และ “สุรา” มากกว่า 1.2 แสนล้านบาท (เฉพาะผลประกอบการเหล้าของไทยเบฟ) แต่น้ำเมายังมีหมวดอื่นๆ ทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พร้อมดื่ม(ARTD) ไวน์ ไวน์คูลเลอร์ เหล้าบ๊วย บรั่นดี ฯ
:: ปีแห่งยักษ์ชนยักษ์! ::เดิมสงครามน้ำเมา “แสนล้านบาท” มีผู้เล่นสำคัญเพียง 3 รายใหญ่ ยึดขุมทรัพย์ในเขตแดนตนเองอย่างเหนียวแน่น อย่าง “เบียร์” แน่นอนว่า “บุญรอดบริวเวอรี่” ครองความเป็นอันดับ 1 มายาวนาน โดยมีแบรนด์หัวหอก “ลีโอ” ที่ยืนหนึ่งกว่า 16 ปี นับตั้งแต่ “ชนะช้าง” เมื่อปี 2551
.
ความเคลื่อนไหวของ “บุญรอด” ปีนี้คือการมีเบียร์ใหม่อย่าง “ลีโอ สุพรีม” มาเสริมทัพ เพิ่มสินค้าในพอร์ตโฟลิโอให้เป็นทางเลือก “นักดื่ม” ที่ชูจุดเด่นวัตถุดิบ สร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง
.
ทว่า บุญรอด ไม่ได้มีแค่ “เบียร์ใหม่” แต่ปีนี้ยังมี “วิสกี้น้องใหม่” อีกตัวอย่าง “Silver Wolf” ใหม่อีก 1 ตัว เข้ามาทำตลาดด้วย
ยักษ์ใหญ่เขยื้อน อีกยักษ์ต้องขยับ “ไทยเบฟเวอเรจ” อาณาจักรน้ำเมาที่พอร์ตโฟลิโอหลากหลาย มีการออกสินค้าใหม่อย่างต่อเนื่อง หากจะนับไฮไลต์สำคัญ “เบียร์” ที่ลั่นว่า “เบียร์ช้าง” เป็น “เบอร์ 1 แล้ว มีการส่ง “ช้าง อันพาสเจอร์ไรซ์” ลงกระป๋องอะลูมินัม พร้อมเจาะร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่นในราคา 89 บาท เอาใจคอทอแดงรุ่นใหม่(อายุต้อง 20 ปีขึ้นไปตามกฏหมาย) ที่นิยมดื่มเบียร์นอก(ต่างประเทศ) เบียร์ใหม่ๆมากขึ้น.
ขณะที่เหล้ามีสินค้าวิสกี้ไทย “พระยารัม” เจาะตลาดพรีเมียม และล่าสุดคือการเปิดตัว “ปราการ”(PRAKAAN) ซิงเกิลมอลต์วิสกี้ “แบรนด์แรกของไทย” เสิร์ฟคอทองแดงไทยและ “ลุยตลาดโลก” ด้วย
:: หมดยุคผู้เล่นน้อยราย หน้าใหม่ท้าชิง! ::เดิมตลาดน้ำเมามีผู้เล่นน้อยรายหรือ Oligopoly ได้เวลาทลายกำแพงแข่งขัน เพราะเดือนธันวาคม 2567 ถือว่าครบขวบปี “เจ้าพ่อคาราบาว” อย่าง “เสถียร เสถียรธรรมะ” ที่เดิมพันใหญ่มาทำ “เบียร์” 2 แบรนด์ใหม่ “คาราบาว” และ “ตะวันแดง” จากเดิมที่ทำเหล้ามานานแล้ว
.
ศึกเบียร์ของ “เสถียร” ถือว่าหนัก เพราะเจอรับน้อง โดยเฉพาะช่องทางจำหน่ายที่ถูก “สกัด” จนที่สุด “พี่แอ๊ด คาราบาว” ต้องจนลั่นวาจาขอ “ท้ารบกับเจ้าสัว”
.
ส่วนบิ๊กมูฟรอบ 75 ปี ยกให้ “โคคา-โคล่า” ประเทศไทย ที่ขอลงสนามน้ำเมา ด้วยการอาศัยพลังแบรนด์ 200 ปีอย่าง “ชเวปส์” มาสู่สินค้า “ชเวปส์ มิกซ์” สังเวียนขนาดย่อมในหมวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พร้อมดื่มที่มีมูลค่า 1,700 ล้านบาท(เฉพาะช่องทางโมเดิร์นเทรด)
.
:: บิ๊กแบรนด์ระดับโลกเดิมเกมครองอาณาเขต ::
ค่ายน้ำเมาสัญชาติไทยปล่อยหมัดแลกกัน แต่ขึ้นชื่ออยู่ในเขตคามการค้าเดียวกัน บิ๊กแบรนด์ระดับโลก ต้องขอเดินหมากรบสู้ด้วย ปีนี้ยักษ์เหล้าระดับโลก “ดิอาจิโอ” ที่มี “ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย)” หรือ DMH จึงเคลื่อนทัพธุรกิจเต็มสูบ เพราะปี 2567 แบรนด์ “จอห์นนี่ วอล์กเกอร์” ทำตลาดในไทยครบ 100 ปี
.
นอกจากออกแพ็คเกจจิ้งใหม่ฉลอง 100 ปีในไทยเพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมายแล้ว พี่ใหญ่ตลาดลักชัวรี “จอห์นนี่ วอล์กเกอร์ บลู เลเบิ้ล” ได้จัดงาน THE BLUE BOUTIQUE ที่มาพร้อมออกแบบสินค้าคอลเล็กชันพิเศษ 10 ชิ้น โดย 9 ชิ้นจำหน่ายในราคา 1.9 หมื่นบาท ยังมีสินค้า 1 ชิ้น ที่ร่วมมือกับ “ศรัณญ อยู่คงดี” ศิลปินชั้นนำชาวไทยผู้ก่อตั้งแบรนด์ SARRAN สร้างสรรค์ “TROVE OF BLUE” ผลงานหัตถศิลป์ชิ้นพิเศษเพียงหนึ่งเดียวในโลกด้วยลวดลายของ “ผ้าลายอย่าง” พร้อมประดับด้วยอัญมณีล้ำค่า เพื่อประมูลจบด้วยราคา 1.7 แสนบาท และนำเงินมอบให้แก่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ
.
ไม่พูดถึงคงไม่ได้ ศักดิ์ศรีแบรนด์เบียร์เบอร์ 3 ของโลก “ไฮเนเก้น” แม้จะไม่ได้รุกคืบทำตลาดหวือหวา แต่เจ้าตลาดเบียร์พรีเมียม ที่มีส่วนแบ่งตลาด 95% ยังยืนหยัดแข่งขันอย่างไม่ยอมใคร ทั้งการตลาดเชิงดนตรี(Music Marketing) และยังชูเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ ไฮเนเก้น 0.0 รับเทรนด์คนรุ่นใหม่ดื่มแอลกอฮอล์ต่ำ เป็นต้น
:: เหล้าจีนเบอร์ 2 เขย่าตลาด ::โลกการค้ากำลังถูกเขย่าครั้งใหญ่ เมื่อ “จีน” ทั้งฝั่งทุน ฝ่ายแบรนด์ และสินค้า ตบเท้าถาโถมรุกตลาดนานาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อีคอมเมิร์ซ แฟชั่น แพลตฟอร์มรับชมวิดีโอออนไลน์(โอทีที) แม้กระทั่งแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย
.
ส่วนตลาดไทย อีกความเคลื่อนไหวคือ เหล้าเบอร์2 “อู่เหลียงเย่”(Wuliangye) ยักษ์ใหญ่ที่มีมาร์เก็ตแคปกว่า 1 ล้านล้านหยวน ที่ได้เข้ามาผนึก “แกแล็คซี่ กรุ๊ป” เพื่อหวนคืนรุกตลาดในประเทศไทยอีกครั้ง จากเดิมมีพาร์ทเนอร์ระดับอินเตอร์เนชั่นแนล แต่เมื่อมีหลายแบรนด์ดูแล จึงโฟกัสเฉพาะแบรนด์ตะวันตก ทอดทิ้งแบรนด์จีน
.
การมีพันธมิตรใหม่อย่าง “แกแล็คซี่ กรุ๊ป” ทำให้ “อู่เหลียงเย่” ตั้งความหวังจะสร้างวัฒนธรรมการดื่มของจีนที่ยาวนาน มาครอบครองใจนักดื่มคนไทยได้เช่นกัน
.
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจตลาดเหล้า-เบียร์ของไทย ที่ผู้เล่นต่างฮึด!ออกอาวุธสู้กันในปี 2567 จากข้อมูลที่ “ริชา ซิงห์” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายปฏิบัติการธุรกิจ โคคา-โคล่า ประจำประเทศไทย และลาว เปิดเผยถึงการรุกธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะไทยเป็นตลาดที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะ “การบริโภคน้ำเมา” สูงติด “ท็อป 20 ของโลก”
.
ทว่า ปี 2567 ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บางหมวด “หดตัว” อย่างผลประกอบการของไทยเบฟ ที่ “กำไรสุทธิ” ของกลุ่มเหล้าลดลง “ประภากร ทองเทพไพโรจน์” ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจสุรา บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และยังเป็น “ขุนคลัง” ของบริษัท ให้เหตุผลว่า เศรษฐกิจ มีผลต่อตลาดสุราสีชะลอตัว และส่งผลต่อกำไรกลุ่มสุรานั่นเอง ส่วนยอดขายเบียร์ “เชิงปริมาณ” ที่ลดลงราว 2 ล้านลิตร เป็นเพราะตลาดเวียดนามภายใต้ SABECO ขณะที่ตลาดในประเทศไทย เบียร์ช้างเติบโตอย่างดี
.
สำหรับผลประกอบการไทยเบฟฯ ปี 2567(ปีบัญชี ต.ค.66-ก.ย.67)ยอดขายของสุราทั้งปีอยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท เติบโต 0.8% และกำไรสุทธิ 2.13 หมื่นล้านบาท ลดลง 4.6% ส่วนเบียร์ยอดขาย 1.26 แสนล้านบาท เติบโต 2.4% และกำไรสุทธิ 5,221 ล้านบาท เติบโต 3.9% แต่ยอยเชิงปริมาณอยู่ที่ 2,314 ลิตร ลดลง 2 ล้านลิตร จากช่วงเดียวกันปีก่อนยอดขาย 2,316 ล้านลิตร
.
ทั้งหมดเป็นบิ๊กมูฟของยักษ์ใหญ่น้ำเมา ที่ยังคงระเบิดสงครามสู้เพื่อรักษาการเติบโต พร้อมแย่งชิงขุมทรัพย์การตลาดอย่างเมามัน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็นต่อบทความนี้