เจาะเบื้องลึก! ตลาด #ดิวันรัชดา ปิดกะทันหัน ร้านค้าต้องขาดทุน - ลูกจ้างเดือดร้อนหนัก

เป็นสถานการณ์ที่ต้องติดตามอย่างใกล้กับ ตลาดดิ วัน รัชดา  (The One Ratchada)  ที่อยู่ในทำเลรัชดา ได้ประกาศปิดตัวลงอย่างเป็นทางการวันที่ 5 พ.ค.2568 หลังเปิดให้บริการประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมา
.
ได้สอบถามร้านอาหารแห่งหนึ่งที่เปิดอยู่ในตลาดมาเป็นเวลากว่า 2 ปีให้ข้อมูลว่า เจ้าของตลาดดิ วัน รัชดา ได้เรียกร้านค้าทุกแห่งไปหารือในช่วงกลางคืนของวันที่ 29 เม.ย. 2568 โดยแจ้งให้ทราบว่า ปิดให้บริการกะทันหันในวันที่ 5 พ.ค.นี้ เนื่องจากสัญญาเช่าพื้นที่กับเจ้าของที่ดินสิ้นสุดลงแล้ว ทำให้ร้านค้าที่ทราบต่างตกใจและช็อกไปตามกัน เนื่องจากเป็นการแจ้งปิดตลาดล่วงหน้าเพียงไม่กี่วัน อีกทั้งบางร้านค้ามีการลงทุนซื้อสินค้าสต็อกไว้ล่วงหน้า หรือบางร้านลงทุนไปหลายแสนบาท หรือมากกว่านี้ จึงกระทบต่อทั้งร้านค้าที่มีอยู่กว่า 130 แห่ง และพนักงานต้องถูกเลิกจ้างไป เนื่องจากบางร้านไม่มีสาขาในที่อื่นมารองรับให้พนักงานย้ายไปทำงาน
.
ทั้งนี้ เจ้าของตลาดดิ วัน รัชดา แจ้งให้ ผู้ประกอบการร้านค้าต่างๆ ทราบว่าจะหาทางเยียวให้แก่ ผู้เช่าที่เป็นร้านค้าต่างๆ ด้วยการเปิดให้ย้ายไปเช่าในทำเล ไนท์บาซาร์ ที่อยู่ติดกับ MRT สถานีลาดพร้าวแทน พร้อมชดเชยด้วยการคิดค่าเช่า 1,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ลดค่าน้ำและค่าไฟให้ พร้อมให้เริ่มขายในเดือน มิ.ย.2568
.
แต่จากการประเมินของผู้ประกอบการพบว่า พื้นที่แห่งนี้เคยเปิดเป็นตลาดกลางคืนมาแล้วแต่ไม่ประสบความสำเร็จ และลูกค้าหลักคือ นักท่องเที่ยวชาวจีน เนื่องจากอยู่ใกล้กับโรงแรม ทำให้ร้านค้าส่วนใหญ่ไม่สนใจย้ายไปอยู่ในโลเคชันแห่งใหม่
.
สำหรับผลกระทบทั้งหมด ทำให้ผู้ประกอบการในทำเลแห่งนี้ต่างๆ ต้องมีการหารือร่วมกันและหาแนวทาง ผลักดันแก้ปัญหากับเจ้าของตลาดต่อไปว่าจะมีมาตรการเยียวยาอื่นๆ เข้ามาทดแทนด้วยหรือไม่
.
อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ตลาดต้องปิดตัวลงนั้น ผู้ประกอบการระบุว่า อาจมาจากสภาวะเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีกลุ่มลูกค้าเข้ามาใช้บริการที่ลดลง แต่เจ้าของตลาดพยายามแก้ปัญหาด้วยการจัดอีเวนต์ต่างๆ มากระตุ้น ทำให้ลูกค้าเข้ามามากขึ้นแต่ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด อีกทั้งทราบมาว่า เจ้าของตลาดได้มีข้อขัดแย้งกับเจ้าของที่ดินแห่งนี้ จึงอาจเป็นอีกชนวนเหตุทำให้ตลาดต้องปิดตัวลงได้
.
ผู้ประกอบการกล่าวย้ำว่า “ที่ผ่านมา ร้านค้าก็เจอผลกระทบลูกค้าลดลง ทำให้มียอดขายไม่สูงมาก แต่ทุกคนยังอยู่ในทำเลแห่งนี้เพราะคิดว่าสถานการณ์จะดีขึ้น บางร้านค้ายอมขาดทุนสะสม เพื่อรอวันดีขึ้น แต่มาเจอแบบนี้ กระทบหนัก ที่น่าห่วงคือ พนักงานแต่ละร้าน โดยเฉพาะลูกจ้าง เดือดร้อนมากที่สุด จะไปหางานทำที่ไหน น่าเห็นใจมากๆ ซึ่งเราเองจะย้ายไปลงทุนเปิดในทำเลแห่งใหม่ ก็คิดหนัก เนื่องจากในปัจจุบันการลงทุนเปิดร้านค้า ต้องคิดอย่างรอบคอบ”
.
นอกจากนี้อีกสิ่งที่ทำให้ร้านค้ารู้สึกกังวลมากคือ ค่ามัดจำในการเข้ามาเช่าพื้นที่แห่งนี้ โดยร้านค้ารุ่นแรกๆ ที่เข้ามาเช่าต่างต้องจ่ายค่ามัดจำ แต่ร้านค้าใหม่ๆ ที่เข้ามา เจ้าของที่ดินไม่มีการเก็บค่ามัดจำแล้ว อีกทั้งล่าสุด ทางเจ้าของตลาดระบุว่า อาจไม่มีการคืนค่ามัดจำให้แก่ร้านค้ารุ่นแรกๆ และมีรายละเอียดเงื่อนไขของสัญญาที่เปลี่ยนแปลงไปอีก ทำให้ผู้เช่ารู้สึกว่า เหมือนถูกกระทบรอบสอง
.
:: หวั่นผลกระทบหนี้เสียฉุดกำลังซื้อ-การใช้จ่ายในประเทศ ::
“ธนินท์รัฐ ภักดีภิญโญ” ผู้เชี่ยวชาญธุรกิจค้าปลีก กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ สถานการณ์ ดิ วัน รัชดา ที่ต้องปิดตัววันที่ 5 พ.ค.นี้ ภายหลังโครงการนี้เปิดตัวเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2567 ซึ่งวันเปิดโครงการช่วงแรกๆ ผลตอบรับดี จากทีมผู้บริหาร และกิจกรรมตลาดเชิงรุก พร้อมมีการวางรูปแบบร้านค้า ทางเดินเลย์เอาท์ และคิดอัตราราคาค่าเช่าอยู่ในระดับเหมาะสม
.
อย่างไรก็ตาม อีกปัจจัยที่มีผลกระทบตามมาคือ สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศซึ่งเป็นปัจจัยภายนอก ที่มีผลต่อจำนวนลูกค้าที่เข้ามาในพื้นที่ลดลง 
.
ทั้งนี้เมื่อประเมินภาพรวม อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของประเทศไทย อยู่ที่ 2.5-2.8% ถือว่าอันดับค่อนข้างรั้งท้ายในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังถดถอย รวมถึง บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) ได้แจงตัวเลขหนี้ครัวเรือน 16 ล้านล้านบาท มาจากหนี้เครดิตบูโร 13.6 ล้านล้านบาท และหนี้ กยศ. 2.7 ล้านล้านบาท ส่วนหนี้เอ็นพีแอล มีจำนวน 9.5 ล้านบัญชี หนี้กำลังจะเสียอีก 5 ล้านล้านบาท หรือ 1.9 ล้านบัญชี หนี้ปรับโครงสร้าง 1.1 ล้านบาท หรือ 3.7 ล้านบัญชี รวมถึงมีหนี้เริ่มมีปัญหาค้างชำระ 90 วัน จำนวน 9.2 แสนล้านบาท หรือ 1.7 ล้านบัญชี หากรวมจำนวนหนี้เสียในระบบทั้งหมดเป็นจำนวนเงินและจำนวนราย จะพบว่า หนี้ทั้งหมด 28.2 ล้านล้านบาท จำนวนบัญชี 16.8 บัญชี ประมาณ 70% ของจีดีพี ถือว่าจำนวนมากที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน 
.
นอกจากนี้หนี้เช่าซื้อรถยนต์และบ้าน ถูกยึดขายทอดตลาดจำนวนมาก สอดคล้องกับจำนวนหนี้ที่เพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกัน แสดงให้เห็นว่า กลุ่มลูกค้าของธุรกิจตลาดนัดคือกลุ่มลูกค้าระดับกลางไปยังระดับล่าง ประสบปัญหาทางการเงิน มีรายจ่ายและหนี้สินมากกว่ารายได้ ทำให้ไม่มีกำลังซื้อจับจ่ายใช้สอย ทำให้ขาดสภาพคล่องทางการเงินส่วนบุคคล ทั้งหมดมีผลกระทบต่อการใช้จ่ายในประเทศและตลาดนัดต่างๆ ได้รับผลกระทบแตกต่างกันไป

ความคิดเห็น

บทความที่มีคนอ่านมากที่สุด

ไก่ทอดฮ็อทสตาร์ ผนึกเป๊ปซี่ รุก GEN Z

2025 ไทยรัฐกรุ๊ป ยกระดับประสบการณ์ผู้ชมครั้งใหญ่ ครอบคลุมทุกแพลตฟอร์ม ตอกย้ำเบอร์หนึ่งสื่อไทย

เบื้องหลัง เสียง 'อิ้งค์-วรันธร' ประกาศชื่อ 'สถานี BTS' 'แบรนด์ดัง' ใช้โปรโมทพรีเซนเตอร์.

‘CHAGO’ ชานมแบรนด์ใหม่ จากอาณาจักร ‘รวยไม่หยุด’ ดึง ‘ออม-กรณ์นภัส’ นั่งหุ้นส่วนด้วย

"พันธ์ พะเนียงเวทย์" ผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ เจ้าของ "มาม่า"...ซองละ 7 บาท ยอดขาย 18,000 ล้านบาท