‘ซันเวนดิ้ง’ ลุ้นโรงงานยานยนต์ญี่ปุ่นฟื้น เพิ่มตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ 1.8 พันตู้
“ซันเวนดิ้ง เทคโนโลยี” เจ้าตลาดตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ เมื่อโรงงานอุตสาหกรรมชะลอตัว ลดคนงาน ลดโอที ธุรกิจกระทบ ไตรมาส 3 ฟื้น หวังยานยนต์ญี่ปุ่นกลับมาคึกคัก
.
“ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ” หรือเวนดิ้งแมชชีนในประเทศไทย พัฒนาไปหลากหลายรูปแบบ ทั้งขายเครื่องดื่มกระป๋อง(Can) ตู้จำหน่ายสินค้าแบบบานกระจก(Glass Font) ตู้จำหน่ายสินค้าแบบถ้วยอัตโนมัติ(Cup) ตู้จำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอัตโนมัติ(Noodle) ฯ
เจ้าตลาดเวนดิ้งแมชชีน ยกให้ “ซันเวนดิ้ง” ของเครือสหพัฒน์ เพราะองค์กรยืนหยัดมากว่า 50 ปี สร้างการเติบโตทางธุรกิจต่อเนื่อง โดยเฉพาะ 7 ปีที่ผ่านมา จากมีตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ 10,277 ตู้ เพิ่มเป็น 17,935 ตู้ในปี 2567 ทำรายได้จาก 1,653 ล้านบาท มาแตะ 2,529 ล้านบาท.
:: 50 ปี เส้นทางเติบโตองค์กร ::
“ซันเวนดิ้ง มีการเติบโตต่อเนื่องตลอด 25 ปี โดย 7-8 ปีที่ผ่านมาเติบโต 8-10% เราทำกำไรตั้งแต่ปีแรกเลย” พิศณุ โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ซันเวนดิ้ง เทคโนโลยี จำกัด(มหาชน) ฉายภาพ
.
เส้นทางซันเวนดิ้ง เริ่มจากธุรกิจที่ถูกเทคโนโลยี ดิสรัปหมดแล้ว ทั้งฟิล์มถ่ายรูป เครื่องเล่นวิดีโอเทป ฯ ทว่า จุดเปลี่ยนเกิดเมื่อ บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(มหาชน) ในเครือสหพัฒน์ ผ่องถ่ายตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ 1,000 ตู้แก่บริษัทสู่การต่อยอดเติบโต
.
ยุคนั้นผู้บริโภคชาวไทยไม่รู้จักเวนดิ้งแมชชีน หากนึกถึงประสบการณ์ใช้บริการกดสินค้า ย่อมเคยถูกตู้กินเงินทั้งเหรียญและธนบัติกันบ้าง จนเกิดความไม่ไว้ใจใข้งาน บริษัทจึงมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อขายสินค้าปลีก ปรับปรุงให้ทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมและบริบทแวดล้อม
.
“เราครบรอบ 50 ปี และผ่านการล้มลุกคลุกคลานในช่วง 25 ปีแรก เราประสบกับเทคโนโลยี ดิสรัปชัน ทั้งฟิล์มถ่ายรูป เครื่องเล่นวิดีโอเทป ไม่มีอยู่แล้ว ผู้บริหารของเราผ่านความยากลำบากและเรียนรู้ธุรกิจ”
:: ตู้ JET PACK รุกตลาดไตรมาส 3 ::
ผ่านร้อนหนาวเคลื่อนธุรกิจเติบโต แต่ละย่างก้าวของซันเวนดิ้ง “พิศณุ” นิยามว่า “ไม่เน้นโตเร็ว ขอโตอย่างมั่นคง” โตไปกับจำนวนตู้เวนดิ้งแมชชีน ตามกระแสสังคมให้ทัน ซึ่งช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา “สังคมไร้เงินสด” มีบทบาทมากขึ้น จึงนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อระดมทุน
.
“เราเริ่มธุรกิจเวนดิ้งแมชชีนมา 25 ปี ตู้ที่จำหน่ายในตลาดรับเงินสดอย่างเดียว แต่มองอนาคตโลกเปลี่ยน เราต้องลงทุนเปลี่ยนเทคโนโลยี รองรับการจ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-เพย์เมนต์ หรือ สมาร์ท เวนดิ้งแมชชีน ที่สัดส่วน 59% แล้ว จาก 5 ปีก่อนสัดส่วน 4% เท่านั้น”
.
ซันเวนดิ้ง เป็นผู้ปรับแต่งตู้ใหม่ ไม่ใช่ผู้ผลิต เมื่อธุรกิจขยายตัว อนาคตอาจสร้าง “โรงงานผลิตตู้เวนดิ้งแมชชีน” เป็นของตัวเอง เล็ง “ไทย” หรือ “จีน” เป็นฐานทัพ โดยต้องดู “ต้นทุนผลิตที่ต่ำสุด” เป็นคำตอบ ส่วนการพัฒนาเทคโนโลยีของตู้ขยับสู่เวอร์ชัน 4 เพื่อไลฟ์สไตล์ความสะดวกของผู้บริโภค รวมถึงลดการขัดข้องหรือ Error ของการจ่ายเงินให้เป็นศูนย์
.
“อดีตกลไกหรือ mechanical กินเหรียญ แบงก์ 0.2% ปัจจุบัน 0.07% จากระบบอินเตอร์เน็ต เพย์เมนต์ เกตเวย์เพย์เมนต์ หรือระบบของธนาคารเออเรอร์ เรามี 7 แสนธุรกรรมต่อวัน หรือราว 4 ล้านบาท ความท้าทายคือทำให้อนาคตการกินเงิน หรือ Zero cash ให้ได้ เราคือบริษัทเทคโนโลยีต้องฝ่าฟันอีกมาก”
.
ด้านแผนธุรกิจปี 2568 บริษัทจะติดตั้งตู้เวนดิ้งแมชชีนเพิ่ม 1,800 ตู้ มีการเปิดตัว “JET PACK” เพื่อขายสินค้าชิ้นใหญ่แบบแพ็คหรือเบาท์ให้ลูกค้า เช่น บะหมี่ฯ ยกลัง น้ำดื่มยกแพ็ค ผงซักฟอกขนาดกิโลกรัม เน้นทำเล “คอนโดมิเนียม” ที่มีจำนวน 500 ยูนิตขึ้นไป ปูพรมไตรมาส 3
ส่วนตู้ชงเครื่องดื่มอัตโนมัติ “MILKIE WAY” ที่เปิดตัวงานสหกรุ๊ปแฟร์ครั้งที่ 28 ผ่านไป 1 ปี ยังไม่ทำตลาด เนื่องจากรอจังหวะและ “ความต้องการที่แท้จริง” หรือ real demand ก่อน หลังเห็นทิศทางตลาดอ่อนตัวลง เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคในการซื้อเครื่องดื่ม ไม่ใช่แค่ราคาเหมาะสม แต่ต้องการบรรยากาศ “ประสบการณ์ดื่มด่ำรสชาติเครื่องดื่มด้วย”.
“ตู้ชงเครื่องดื่มอัตโนมัติเรารอจังหวะให้มั่นใจ ไม่รีบ เพราะขณะนี้เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมชะลอตัว จึงรอทุกอย่างไว้ก่อน แต่ตลาดยังไม่อิ่มตัว แค่ MILKIE WAY เราจะทำตลาดปีหน้า แต่คงไม่มาก แง่ของการสร้างแบรนด์ให้ลูกค้ามองเห็นหรือ brand visibility ต้องติดตั้งตู้ตามห้างค้าปลีก”
.
ตู้บางประเภทแผ่ว แต่ภาพรวมเวนดิ้งแมชชีนในไทยยังเติบโตได้ต่อเนื่อง เมื่อเทียบสหรัฐ จำนวนตู้ต่อประชากรอยู่ที่ 1 ต่อ 50 คน ส่วนญี่ปุ่น 1 ต่อ 20 กว่าคน ไทยอยู่ที่ 1 ต่อหลักพันคน แต่ไทยคงโตไม่เท่าทั้ง 2 ประเทศ เนื่องจากต้นทุนแรงงานสูง และไม่มีการผลิตตู้เอง อย่างไรก็ตาม วิวัฒนาการของตู้ชงเครื่องดื่มไทยถือเป็นประเทศแรกในโลกที่ล้ำ
.
บริษัทมีการเติบโต 8-10% ต่อเนื่อง ปัจจุบันฐานรายได้ใหญ่ขึ้นจึงท้าทายจะโตในอัตราดังกล่าว ประกอบกับการติดตั้งเวนดิ้งแมชชีนส่วนใหญ่ 70% อยู่ในทำเลโรงงานอุตสาหกรรมที่ผ่านมา “หดตัว” เนื่องจากโรงงานลดโอที และเลิกจ้างค่อนข้างมาก แต่แนวโน้มไตรมาส 3 ฟื้นตัวจากอุตสาหกรรมยานยนต์โดยเฉพาะโรงงานรถยนต์แบรนด์ญี่ปุ่นที่จะกลับมาขยายตัว
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็นต่อบทความนี้