‘โมชิ โมชิ’ พร้อมรับมือคู่แข่งจีนรุกรีเทลไลฟ์สไตล์ในไทย - ทำแผนตั้งรับ ปรับสินค้า

โมชิ โมชิ ไม่กังวลคู่แข่งแบรนด์จากประเทศจีน โหมรุกตลาดไทย ย้ำมีทีมงานมอนิเตอร์ เตรียมตั้งรับ พร้อมเน้นสินค้าที่แตกต่างดึงกลุ่มลูกค้าและราคาคุ้มค่า รวมถึงศึกษาขยายสาขาในแบบแฟรนไชส์

.

ตลาดรีเทลไลฟ์สไตล์ของประเทศไทย กลับมาคึกคักอีกครั้ง จากการมีแบรนด์ใหม่จากประเทศจีน เข้ามาลงทุนเปิดสาขาในศูนย์การค้าต่างๆ รวมถึงมีอีกแบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่อยู่ในตลาดไทยมานาน กำลังรีแบรนด์ใหม่พร้อมมีทุนจีนที่เข้ามาลงทุนเองเช่นกัน ทำให้ โมชิ โมชิ แบรนด์รีเทลไลฟ์สไตล์ของประเทศไทย มองเป็นโอกาสเร่งขยายสาขาใหม่

.

ศุภรดา โรจน์วัฒนะ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการเงิน บริษัท โมชิ โมชิ รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากการเข้ามาของแบรนด์คู่แข่งจากต่างประเทศในตลาดรีเทลไลฟ์สไตล์ของประเทศไทย ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อบริษัทในปัจจุบัน และไม่มีผลต่อยอดขาย ทั้งนี้บริษัทได้เตรียมแผนการตั้งรับมือ ทั้งการศึกษาตลาด และสินค้าที่มีความเหมือนและความแตกต่าง ทำให้พบว่า กลุ่มเป้าหมายอยู่คนละกลุ่ม และเน้นตลาดแตกต่างกัน โดยบริษัทเน้นตลาดในกลุ่ม B และ C ส่วนคู่แข่งเน้นตลาดบนมากกว่า

.

บริษัทมีทีมงานติดตามคู่แข่งอย่างต่อเนื่อง และติดตามแผนของคู่แข่งในตลาดต่างประเทศ รวมถึงได้เตรียมแผนรับมือคู่แข่งในการทำตลาด ทั้งการปรับสินค้า การทำดิสเพลย์ต่างๆ โดยเน้นสินค้าที่มีความคุ้มค่าและคุ้มราคา สามารถเข้าถึงได้ง่าย เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน

.

ทั้งนี้แผนของบริษัทในปีนี้ 2568 ยังเดินหน้าเปิดสาขาตามแผนที่วางไว้ ให้ครบ 40 สาขาในทั่วประเทศ ทำให้ในสิ้นปีนี้จะมีสาขาเปิดให้บริการจำนวน 200 สาขา รวมถึงเดินหน้าปรับโฉมสาขาใหม่ และการตกแต่งร้านค้าร่วมดึงดูดกลุ่มลูกค้า จำนวน 50 สาขา ที่ได้ปรับเฟอร์นิเจอร์ใหม่ให้สอดรับกับความต้องการตลาด อีกทั้งเป็นการปรับให้เหมาะสมกับขนาดพื้นที่และกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมาปรับไปแล้ว 70 สาขา

.

ขณะที่การเปิดสาขาในรูปแบบใหม่ยังวางโมเดลในรูปแบบ สาขาสะแตนอะโลน ขนาด 80-120 ตร.ม. เน้นทำเลในมหาวิทยาลัย เพื่อรองรับการขยายกลุ่มเป้าหมายนักศึกษา โดยที่ผ่านมา ยอดขายยังสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายที่พอใจ

.

ส่วนแนวทางการขยายสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์ อยู่ระหว่างการศึกษาการขยายสาขาในรูปแบบนี้ แต่ทั้งนี้จะต้องอยู่ที่การเจรจากับเจ้าของที่ดินและต้องเป็นทำเลที่มีศักยภาพสูงจริงๆ ซึ่งการขยายแฟรนไชส์ยังไม่ใช่นโยบายหลักที่บริษัทจะมุ่งดำเนินการในปัจจุบัน ส่วนที่ผ่านมาการเปิดสาขาส่วนใหญ่จะถึงจุดคุ้มทุนในเวลาประมาณ 4 เดือน

.

สำหรับแนวโน้มการใช้จ่ายของกลุ่มลูกค้าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 ที่ผ่านมา เฉลี่ยอยู่ที่ 173 บาทต่อคน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 170 บาทต่อคน

.

ทั้งนี้บริษัทมีสินค้าหมุนเวียนในร้านมากกว่า 2 หมื่นเอสเคยู และมีการนำเสนอสินค้าใหม่ประมาณ 1,000 เอสเคยูต่อเดือน อีกทั้งนโยบายเน้นคัดสรรสินค้าใหม่ที่มีเอกลักษณ์ ดีไซน์แตกต่างจากร้านค้าอื่นๆ ที่มีอยู่ในตลาด รวมถึงนำเสนอสินค้าให้สอดรับตามเทรนด์ของตลาด

.

สินค้าในร้านส่วนใหญ่เป็นสินค้าในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ตื่นนอน จนถึงเข้านอน เป็นสินค้าฟังก์ชันนอล แต่เน้นการดีไซน์

ความคิดเห็น

บทความที่มีคนอ่านมากที่สุด

2025 ไทยรัฐกรุ๊ป ยกระดับประสบการณ์ผู้ชมครั้งใหญ่ ครอบคลุมทุกแพลตฟอร์ม ตอกย้ำเบอร์หนึ่งสื่อไทย

‘CHAGO’ ชานมแบรนด์ใหม่ จากอาณาจักร ‘รวยไม่หยุด’ ดึง ‘ออม-กรณ์นภัส’ นั่งหุ้นส่วนด้วย

เบื้องหลัง เสียง 'อิ้งค์-วรันธร' ประกาศชื่อ 'สถานี BTS' 'แบรนด์ดัง' ใช้โปรโมทพรีเซนเตอร์.

ไก่ทอดฮ็อทสตาร์ ผนึกเป๊ปซี่ รุก GEN Z

‘HAAB’ ขายขนมไข่เดือนละ ‘3 ล้านชิ้น’ เปิดร้านมา 1 ปี เตรียมบุก ‘มาเลเซีย’ เป็นประเทศแรก